“ไชยา” แฉโครงการโคบาลชายแดนใต้ พบสั่งแม่พันธุ์จากนครสวรรค์ มีเอกชนเพียงรายเดียวดำเนินการ ไม่มีการแข่งขันด้านราคา ระบุเพชรบุรี ประจวบฯ มีฟาร์มาตรฐานเป็นที่ยอมรับเดินทางใกล้ปัตตานีทำไมไม่ดำเนินการ 

วันที่ 27 ม.ค.67 นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงกรณี โครงการโคบาลชายแดนใต้ พบแม่พันธุ์โคไม่ตรงกับสัญญาและคุณลักษณะเฉพาะไม่ตรงตามที่กำหนด ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ ในโครงการนำร่อง เริ่มกังวลใจ เนื่องจากจำเป็นต้องขายวัวสภาพที่ไม่สมบูรณ์ จึงได้ราคาที่ต่ำกว่าเกณฑ์หลายเท่า ว่า เบื้องต้นได้ตรวจสอบสัญญาทั้งหมดแล้ว โดยโครงการนี้กลุ่มเกษตรกรได้ทำสัญญาโดยตรงกับเอกชนที่ต้องจัดหาแม่พันธุ์โค รวมทั้งการสร้างคอก ทำโรงเรือน ทำแปลงอาหารสัตว์ ทั้งหมดเป็นการดูแลของเกษตรกรเองที่ตกลงกับผู้ประกอบการ ส่วนกรมปศุสัตว์ มีหน้าที่ตรวจรับโค ตรวจโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย ตรวจน้ำหนักโค รวมทั้งดูว่าโคที่ได้รับมาตรงตามสัญญาหรือไม่ เมื่อผ่านขบวนการดังกล่าวทุกขั้นตอนจึงจะมีการ ขอเบิกเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร แม้เงินดังกล่าวจะเป็นเงินนอกงบประมาณ แต่จุดเริ่มต้นก็คือเงินงบประมาณ ดังนั้นจะต้องดูแลเป็นอย่างดี 

“ทำไมโครงการนี้จึงใช้ผู้ประกอบการรายเดียว และได้รับเลือกโดยไม่มีการแข่งขันราคา ที่สำคัญเอกชนรายนี้มีฟาร์มอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งระยะทางไกลกับพื้นที่โครงการมาก เท่าที่มีข้อมูล ในจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร มีเกษตรกรเลี้ยงโค เป็นจำนวนมาก พอที่จะรองรับโครงการดังกล่าว รวมทั้ง มีฟาร์มมาตรฐาน มีผู้ประกอบการพร้อมส่งออก มีใบส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งมีด่านกักกันสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเกิดคำถามว่าทำไมถึงไม่ให้ฟาร์มในพื้นที่นี้ดำเนินการ ต้องไปใช้ฟาร์มที่นครสวรรค์“

นายไชยา กล่าวอีกว่า ตามขั้นตอน โคทุกตัวจะต้องมีบัตรประจำตัวสัตว์ เพื่อตรวจสอบ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายต้องมีใบอนุญาต รวมทั้งการเฝ้าระวังโรค เพราะโคตัวเดียวติดโรค ยังต้องประกาศเพื่อไม่ให้เกิดโรคระบาดสัตว์ ฉะนั้นต้องตรวจว่าโคที่นำไปส่งมอบ มาจากที่ไหน มีการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศหรือไม่ โครงการนี้เริ่มที่จังหวัดปัตตานี นำร่อง 3,000 ตัว เมื่อมีปัญหาต้องเร่งแก้ไข เพราะยังเหลืออีก 50,000 ตัว ที่จะส่งมอบเกษตรกร