ส่งออกเดือน ธ.ค.ขยายตัว 4.7% ปี 66 ติดลบ 1% ตั้งเป้าปี 67 โต 1-2% 

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน ธ.ค.66 การส่งออกมีมูลค่า 22,791.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7% แต่ต่ำกว่าตลาดคาดว่าจะเติบโตราว 6% ส่งผลให้ทั้งปี66 การส่งออกมีมูลค่า 284,561.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตัวเลขเฉลี่ยหดตัวลดลงเหลือ 1% ขณะที่การนำเข้าในเดือนธ.ค.66 มีมูลค่า 21,818.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 3.1% โดยทั้งปี 66 มีมูลค่า 289,754.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯติดลบ 3.8% ในเดือน ธ.ค.66 ไทยพลิกมาเกินดุลการค้า 972.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ทั้งปี 66 ยังขาดดุลการค้า 5,192.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้หากพิจารณาการส่งออกในรายกลุ่มสินค้า จะพบว่า กลุ่มสินค้าเกษตร ในเดือน ธ.ค.66 หดตัว-8.3% ที่มูลค่า 1,872 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดีได้แก่ กุ้งต้มสุกแช่เย็น, ข้าว, ผักสด แช่เย็น-แช่แข็ง และแห้ง, ยางพารา, ไก่แปรรูป ขณะที่ทั้งปี 66 การส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.2% คิดเป็นมูลค่า 26,801 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ขณะที่ด้านกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ในเดือนธ.ค.66 ขยายตัวได้ 3.6% ที่มูลค่า 1,613 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย, สิ่งปรุงรสอาหาร, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, อาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องดื่ม ขณะที่ทั้งปี 66 การส่งออกในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว -1.7% คิดเป็นมูลค่า 22,401 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ในส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ในเดือนธ.ค.66 ขยายตัว 5% ที่มูลค่า 18,205 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี ได้แก่ เหล็ก-เหล็กกล้า, ไม้-ผลิตภัณฑ์ไม้, อัญมณีและเครื่องประดับ, รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ทั้งปี 66 การส่งออกในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว -1.% คิดเป็นมูลค่า 223,691 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“การส่งออกทั้งปี 66 ถือว่าผิดคาดไปจากที่หลายสำนักประเมินกันไว้ที่ -2% ซึ่งจากการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ของกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนผู้ส่งออก จึงทำให้ในปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยติดลบน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยหดตัวแค่ -1%”

ทั้งนี้ สำหรับสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 10 อันดับแรก ในปี 66 ได้แก่ 1. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 31,024 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 9% 2. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบมูลค่า 17,825 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 13.9% 3. อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า 14,787 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 2.2% 4. ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 13,248 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 4.4% 5. น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่า 10,213 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 0.8% 6. แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 9,685 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.1% อันดับ 7 เม็ดพลาสติก มูลค่า 8,877 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 16.9% อันดับ 8 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 8,784 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว0.3% 9. เคมีภัณฑ์ มูลค่า 8,055 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 16% และ10. เหล็ก-เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ มูลค่า 6,955 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 0.7%

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญของไทย ใน 5 อันดับแรกของปี 66 ได้แก่ อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา 48,864 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 2.8% อันดับ 2 จีน 34,164 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 0.8% อันดับ 3 ญี่ปุ่น 24,669 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 0.1% อันดับ 4 ออสเตรเลีย 12,106 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 8.2% อันดับ 5 มาเลเซีย11,874 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 6.3%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 67 กระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้ง Working Target ปีนี้ว่าการส่งออกจะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 1-2% มูลค่า 2.8-2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกมากกว่า 400 กิจกรรมในประเทศต่างๆ ทั้งการบุกตลาดเมืองรอง และการขับเคลื่อนการเจรจา FTA ภายใต้”นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ของรัฐบาล

“ขณะนี้ทางภาครัฐได้มีการหารือกับเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลักดันการส่งออกภายใต้ปัจจัยท้าทายต่างๆ เช่น การผลักดันสินค้าของผู้ประกอบการ SME ให้สามารถออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น, การส่งเสริมสินค้าไทยไปจำหน่ายยังตลาดใหม่ เพื่อกระจายตลาดให้กว้างขึ้น เช่น ตลาดประเทศในกลุ่ม CIS ตลาดแอฟริกา เป็นต้น รวมถึงการหารือกับระดับผู้บริหารของต่างประเทศ เพื่อผลักดันการเปิดตามเพิ่มเติมให้แก่สินค้าไทย เป็นต้น”

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกปีนี้ ได้แก่ 1. การเริ่มฟื้นตัวตามวัฎจักรของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงการเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในช่วงท้ายปี 66 ถึงต้นปี 67 ส่งผลบวกต่อสินค้าเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่การผลิต 2. การจำกัดปริมาณการส่งออกข้าวของอินเดีย ทำให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ท่ามกลางการเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ และ 3.การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอลง นอกจากนี้ ในส่วนของปัจจัยท้าทายที่สำคัญที่ไม่สามารถควบคุมได้ ยังมีในส่วนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์, อัตราดอกเบี้ยยังสูง กดดันการลงทุนใหม่ของภาคเอกชน เป็นต้น

นายกีรติกล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ยังมีอีก 2 ปัจจัยเพิ่มเติมที่ให้ความสำคัญ เพราะจะมีผลกระทบ คือ 1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อันเป็นผลมาจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและการส่งออกของไทย ซึ่งนโยบายของรมว.พาณิชย์ จะเจรจาเจาะตลาดสินค้าไทยเป็นรายมณฑล รวมถึงการทำ E-commerce รูปแบบทันสมัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตามจากที่จีนประสบปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์มองว่าจะสามารถทำคู่ขนานกันไปได้คือ การส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดอินเดีย มองว่าเป็นตลาดใหญ่ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และชาวอินเดียก็มีความสนใจสินค้าไทยหลายประเภท หากสามารถเข้าไปขยายตลาดได้มากขึ้นก็จะช่วยชดเชยการส่งออกไปตลาดจีนได้ระดับหนึ่ง 2. ปัญหาความขัดแย้งในทะเลแดง กระทบต่อระบบโลจิสติกส์ ทำให้ระยะเวลาการขนส่งสินค้า ตลอดจนต้นทุนค่าขนส่ง ค่าระวางเรือปรับสูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับสายเดินเรือมาอย่างต่อเนื่องหลังจากได้รับผลกระทบ โดยได้ขอความร่วมมือให้การปรับขึ้นค่าระวางอย่างสมเหตุสมผล และส่งรายงานข้อมูลมาให้อย่างสม่ำเสมอเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ส่งออกได้รับทราบ เพื่อสามารถคำนวณต้นทุนราคาสินค้าได้

“ตอนนี้กระทรวงฯ ยังมีแนวคิดเ้วยว่า ตอนนี้การเดินเรือต้องอ้อมเส้นทางไปผ่านแอฟริกาอยู่แล้ว จะเอาสินค้าไทยไปขายด้วยดีหรือไม่ โดยตอนนี้มีแผนที่จะขยายสินค้าไทยไปแอฟริกาใต้เพิ่มเติม ซึ่งทาง รมว.พาณิชย์เห็นด้วย และมองว่าน่าจะใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสที่ดี ต่อการส่งออกสินค้าของไทย”

 

#พาณิชย์ #ส่งออก #ทะเลแดง