คณะอนุกรรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ซึ่งมีนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธาน ด้วยความร่วมมือกับภาคีหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาสังคม อาทิ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส., มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน (ศสช.), กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงการต่างประเทศ, สถานเอกอัครราชทูต, องค์กรด้านภาษาและวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จัดงานสัปดาห์นิทรรศการและเวทีเสวนาทางวิชาการ “แนวทางการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดภูมิพลังวัฒนธรรมสัมพันธ์นานาชาติ” ขึ้น

นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวว่า การจัดงานสัปดาห์นิทรรศการและเวทีเสวนาทางวิชาการ “แนวทางการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดภูมิพลังวัฒนธรรมสัมพันธ์นานาชาติ” นี้เกิดขึ้นเพื่อ 1.หาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โครงสร้าง และระบบกลไกขับเคลื่อนภูมิพลังวัฒนธรรม (Soft Power) ไทยสู่สากล 2.ข้อเสนอแนะ กลยุทธ์การขับเคลื่อนภูมิพลังวัฒนธรรม (Soft Power) “รายสาขา” และ 3. ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนภูมิพลังวัฒนธรรม (Soft Power) ในบริบท “อัตลักษณ์ที่หลากหลาย” และคำนึงถึง “ความสมดุลหลากมิติ” ซึ่งคำว่า “Soft Power” ที่นำมาใช้กับงานศิลปวัฒนธรรม  อาจใช้คำว่า “ภูมิพลังวัฒนธรรม” ได้เช่นกัน  สามารถอธิบายได้ว่า คำว่า “ภูมิพลัง” ในอีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ประวัติ ส่วนคำว่า “พละ” คือ พลัง ประกอบกับพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 คือ “ภูมิพล” จึงมีความหมายในอีกทางคือ “ภูมิพลัง” นั่นเอง ส่วนคำว่า “วัฒนธรรม” หมายถึง สิ่งที่งอกเงยขึ้น สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา โดยส่วนใหญ่คำว่า วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอย่างปกติสุขร่วมกัน 

นายแพทย์สุรพงษ์  สืบวงศ์ลี  กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ในต่างประเทศมีความเห็นเกี่ยวกับคำว่าซอฟเพาเวอร์ (Soft Power) ที่แตกต่างกัน เป็นการจัดลำดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับประเทศไทย “วัฒนธรรม” กลายเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ชีวิตของคนไทยดีขึ้น จึงนำมาสู่การเกิดขึ้นของนโยบาย “Soft Power” ที่ส่งออกวัฒนธรรมและความคิดในการหนุนเสริมทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำหรับ “มุมมองรัฐบาล” ต้องหาโอกาสใหม่ให้ประเทศไทยซึ่งในอดีตมีวัฒนธรรมเป็นขุมทรัพย์และเคยมีการทำนโยบายที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว อาทิ นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก และการส่งเสริมมวยไทยในต่างประเทศ เพียงแต่ยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ จึงจำเป็นต้องมีการจัดตั้ง “Thailand Creative Content Agency (THACCA)” ที่มีบทบาทในการประสานทรัพยากรอย่างเป็นระบบ  โดยพิจารณาปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบตั้งแต่ “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” โดยระดับต้นน้ำ คือ “คน”, ระดับกลางน้ำ คือ “ภาคอุตสาหกรรม” และ ระดับปลายน้ำ คือ “ต่างประเทศ” 

​​​​​​​

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและ พิจารณาเสนอแนะแผนกลยุทธ์การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงแห่งชาติ วุฒิสภา กล่าวว่า ประเทศไทยในอดีตมีการละเล่น ประเพณี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งคำว่า “วัฒนธรรม” ในประเทศไทยมีความหลากหลาย และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่มีอยูในการสร้างศักยภาพทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ ความภูมิใจ จึงจำเป็นต้องส่งออกให้เกิดการรับรู้ ผ่านคำว่า “Soft Power” ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระดับสากล และหากต้องการทำให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ต้องมีองค์กรกลางในการบริหารจัดการภาพรวมทางนโยบาย การกำกับดูแล และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ในลักษณะ “Single Umbellar” เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายแบบมุ่งเป้า (และไม่ควรเป็นกฎหมายที่ควบคุม แต่ให้อิสระกับศิลปินได้มากที่สุด)  ซึ่งที่ผ่านมาวุฒิสภา ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสามัญชุดต่าง ๆ และคณะกรรมาธิการวิสามัญ (เพื่อเสริมงานของรัฐบาล) เช่นคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างคนดี คนเก่ง สู่สังคมเพื่อพัฒนาชาติไทยอย่างยั่งยืน และคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและพิจารณาเสนอแนะแผนกลยุทธ์ การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเสริมงานด้านสังคมและเศรษฐกิจ มีการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นในช่วงที่ผ่านมาพบว่า “ประชาชนต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม” เพราะมีการร้องเรียนว่า ทำไมชุมชนถึงไม่เข้าไปมีส่วนร่วม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ (ชนเผ่า) ศิลปินพื้นบ้าน (จังหวัดสุพรรณบุรี) เป็นต้น และมีขั้นตอนต่าง ๆ ซับซ้อนในการเข้าถึงโอกาสในการให้ข้อเสนอแนะและมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐจำเป็นต้องดำเนินการด้วยหลักธรรมาภิบาล การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งจำเป็นต้องมีการศึกษากฎกติกาต่าง ๆ ในระดับสากล และการศึกษาในแต่ละคลัสเตอร์กว่า 15 คลัสเตอร์ที่น่าสนใจ เพื่อศึกษาแนวทางสนับสนุนแหล่งเงินทุน กฎกติกา มาตรฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การตอบโจทย์ที่สมดุลทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่เน้นการมีส่วนร่วม ความคุ้มค่า และมีกฎหมายรองรับ จะทำให้ประสบความสำเร็จได้” 

ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวสรุปว่า การขับเคลื่อนมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ ภูมิพลังวัฒนธรรม (Soft Power) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งเสริมให้เป็นวัฒนธรรมสัมพันธ์นานาชาติ เปรียบเสมือน “ห่วงโซคุณค่า” ที่ผสานสัมพันธ์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งหน่วยงานทั้ง 2 เป็นต้นน้ำ ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐและกฎหมายกำหนด โดยมีประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว สำหรับกลางน้ำ คือ การเข้ามามีส่วนร่วมและบูรณการทำงานในลักษณะภาคีเครือข่ายกับกระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงอุตสาหกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ร่วมกันขับเคลื่อนหนุนเสริมไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งเสริมให้เป็นวัฒนธรรมสัมพันธ์นานาชาติอย่างยั่งยืน และประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเเท้จริง อันเป็นปลายน้ำของห่วงโซ่คุณค่านี้ สำหรับประเด็นการพัฒนาและส่งเสริมอนุรักษ์รักษามรดกทั้ง 2 ประเภท ในฐานะเจ้าของมรดก นั่นคือ ประชาชน จะต้องตระหนักรู้ถึงคุณค่า ความสำคัญ การปกป้อง รักษาคุณค่าและเผยแพร่ไปสู่สาธารณะทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวปิดท้ายว่า  มีข้อพึงพิจารณา คือ 1.การขับเคลื่อนภูมิพลังวัฒนธรรม เราจะต้องไม่มีการ “เสกสร้าง” และต้องไม่มีการ “สั่งการ” แต่ควรปล่อยให้วัฒนธรรมเจริญงอกงามของตัวเองถึงจะเป็นเสน่ห์ที่แท้จริงของวัฒนธรรมและเสน่ห์ของแผ่นดิน 2.การขับเคลื่อนภูมิพลังวัฒนธรรม เราจะต้องมี “ล่วงรู้” ภูมิพลังวัฒนธรรมซึ่งกันและกันนานาประเทศ และ “แลกเปลี่ยนกัน” เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ฟื้นฟู และอุ้มชูแผ่นดินซึ่งกันและกัน และ 3.การขับเคลื่อนภูมิพลังวัฒนธรรม เราจะต้องเรียนรู้ “องค์คุณของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” แต่ละสถาบันทำหน้าที่สร้างองค์คุณให้ดำรงอยู่ โดยองค์คุณของสถาบันชาติ คือ การก่อเกิดของ “อารยะธรรม” องค์คุณของศาสนา คือ “ศานติธรรม” และองค์คุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ “สามัคคีธรรม” ซึ่งองค์คุณทั้งสามเป็นสิ่งที่มนุษยชาติต่าง ๆ ต้องการ ในกรณีของประเทศไทยเราจึงควรทำหน้าที่เป็น “ผู้นำ” ในการแสดงออกเป็นสัญลักษณ์ในฐานะภูมิพลังวัฒนธรรม (Soft Power) ในประเด็นเหล่านี้ เพราะถือเป็น “องค์คุณสูงสุด”