"ประเสริฐ" เผยระงับซิมโทรเกิน 100 สายต่อวันแล้ว 13,237 เบอร์ "ก.พ." นี้เตรียมระงับการใช้งาน กลุ่มถือครองเกิน 100 เลขหมาย หากไม่ยืนยันตัวตน 

วันที่ 26 ม.ค.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาซิมม้าและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ภายหลังจากการประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือว่า รัฐบาล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับความมั่นคงและปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ของประชาชน กระทรวงดีอีได้มีการเร่งรัดและให้ความสำคัญกับการป้องกันปราบปรามและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนปลอดภัยจากมิจฉาชีพออนไลน์ที่มาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อปราบปรามและตัดวงจรมิจฉาชีพอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกันก็เร่งรัดในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 เพื่อให้บริการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง 

นายประเสริฐ กล่าวว่า จากมาตรการของ กสทช. กำหนดให้ผู้ถือครองซิม จำนวนมากตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไป ต้องยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ม.ค.67 ที่ผ่านมาพบว่า 1.ได้มีการระงับซิมที่โทรเกิน 100 สายต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 แบ่งเป็นเครือข่าย AIS - ดำเนินการระงับไปแล้ว 4,196 เบอร์ มายืนยันตัวแล้ว 233 คน , เครือข่าย DTAC - ดำเนินการระงับไปแล้ว 7,344 เบอร์ มายืนยันตัวแล้ว 0 คน , เครือข่าย TRUE - ดำเนินการระงับไปแล้ว 1,688 เบอร์ มายืนยันตัวแล้ว 1688 คน แล้วเครือข่าย NT - ดำเนินการระงับไปแล้ว 9 เบอร์ ได้มายืนยันตัวแล้ว 4 คน รวมเบอร์ที่ระงับทั้งสิ้น 13,237 เบอร์ มายืนยันตัว 1,925 คน ขณะที่ยังมีเบอร์ที่ยังถูกระงับการใช้อีก 11,312 คน 

2.ประกาศการยืนยันตัวผู้ถือครองซิมเกิน 100 เบอร์ ได้ประกาศใช้ในราชกิจจาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 อยู่ระหว่างการให้มายืนยันตัว และเตรียมระงับใช้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ในส่วนของผู้ถือซิมระหว่าง 6-100 เบอร์ เตรียมระงับในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไป คือการบริหารจัดการ SCAM SMS ที่ผูกกับลิงค์ต่อไป

“ซิมการ์ดโทรศัพท์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่กลุ่มมิจฉาชีพ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ในการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการโทร , การส่งข้อความ หรือ sms แนบลิงก์ , โอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งร่วมกับสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต การมุ่งเน้นจัดระเบียบซิมการ์ดจึงเป็นวิธีการที่สำคัญในการตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ ดังนั้นหากผู้ถือครองซิมการ์ดรายใดไม่มายืนยันตัวตนในเวลากำหนด หมายเลขอาจถูกระงับการใช้งาน และถูกเพิกถอนไปในที่สุด เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์” รมว.ดีอี กล่าว 

 

#ยืนยันตัวตน #แก๊งคอลเซ็นเตอร์ #ดีแทค #เอไอเอส