Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิด 35.75 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.65-35.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม หลังรายงานคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ครั้งแรกนั้น ออกมาดีกว่าที่ตลาดประเมินไว้มาก (+3.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่นักวิเคราะห์ในตลาดประเมินให้สูงสุด +2.5%) ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) หลังถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มความคาดหวังว่า ECB จะสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และอาจลดดอกเบี้ยราว 5-6 ครั้ง ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลง หลังราคาทองคำยังคงสามารถรีบาวด์ขึ้นและทรงตัวแถวระดับ 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ได้สะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ 

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจชะลอลงแบบ Soft Landing ส่วนเฟดก็มีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้จริง ตามแนวโน้มการชะลอตัวต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันอยู่บ้าง จากการปรับตัวลงแรงของหุ้น Tesla -12% หลังรายงานผลประกอบการออกมาน่าผิดหวัง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.53%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.30% ตอบรับความคาดหวังต่อแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ทยอยออกมาสดใส โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯ อย่าง ASML +4.6% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ECB อาจทยอยปรับลดดอกเบี้ยลงราว 5-6 ครั้งในปีนี้ได้ 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า รายงานข้อมูลอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 จะออกมาดีกว่าคาดไปมาก ทว่าผู้เล่นในตลาดกลับประเมินว่า รายละเอียดของรายงานดังกล่าวได้สะท้อนถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานก็ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 4.11% ขณะเดียวกัน มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของ ECB จนส่งผลให้บอนด์ยีลด์ฝั่งยุโรปปรับตัวลดลง ก็มีส่วนช่วยกดดันบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ เช่นกัน ทั้งนี้ เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  (บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตั้งแต่ 4.20% ขึ้นไป ถือว่า มี Risk-Reward ที่น่าสนใจ)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งออกมาดีกว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) หลังผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มโอกาสที่ ECB จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงราว 5-6 ครั้งได้ในปีนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.1-103.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยปรับตัวสูงขึ้น และกดดันราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ทว่า การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นและทรงตัวแถวโซน 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ โดยเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในคืนนี้ เพื่อรอปรับสถานะถือครองทองคำที่ชัดเจนต่อไป 
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้อย่างมีนัยสำคัญ  และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยังคงเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควร

โดยแนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทอาจเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ทว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทก็อาจมีลักษณะแกว่งตัว sideways ในโซน 35.65-35.85 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดมีการเคลื่อนไหวผันผวนที่มากขึ้นได้ โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool  ผู้เล่นในตลาดยังให้โอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนมีนาคมราว 49% ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังสามารถทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยดังกล่าวของเฟดได้พอสมควร หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หรือ เร่งตัวสูงขึ้น สวนทางกับที่ตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ชะลอตัวลงกว่าคาด และต่ำกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% (หากประเมินจากอัตราเงินเฟ้อราย 1 เดือน, 3 เดือน และ 6 เดือน) ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟดอีกครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้ไม่ยาก 

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน ก่อนทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ เรามองว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ขายหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาติ และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ เราคงมองว่า เงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา (เช่น ตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยเร็วและลึก) หรือ นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง ทำให้โซนแนวรับของเงินบาทในระยะสั้นจะยังเป็นโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ 

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.65-35.85 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ  และประเมินกรอบเงินบาท 35.55-35.95 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ

 

#ค่าเงินบาท #เงินเฟ้อ #บอนด์ยีลด์