เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2024 (พ.ศ.2567) กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เมื่อทั้งสองพรรคการเมืองสำคัญ อย่าง พรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน เริ่มกระบวนการสรรหาผู้สมัครตัวแทนพรรคไปสู้ศึกเลือกตั้งเวทีใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายนปลายปีนี้กันต่อไป

โดยกระบวนการสรรหาผู้สมัครตัวแทนพรรค เรียกว่า ไการเลือกตั้งขั้นต้น” ก็จะมีทั้งในรูปแบบ “คอคัส” สำหรับรัฐเล็กๆ ประชากรไม่มาก และอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ “ไพรมารี” สำหรับรัฐที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรมากๆ กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการก็ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องเลือกตั้งขั้นต้นกันถึง 50 รัฐ อันเป็นจำนวนรัฐทั้งหมดของประเทศสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ พรรครีพับลิกัน ก็เปิดประเดิมกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้นไปก่อนที่ “รัฐไอโอวา” เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งที่รัฐแห่งนี้ เป็นการเลือกตั้งขั้นต้นแบบ “คอคัส” ผลปรากฏว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี ชนะเลือกตั้งไปอย่างถล่มทลายเหนือคู่แข่งคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “นางนิกกี เฮลีย์” อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติและอดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา “นายรอน ดีซานติส” ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา

ผลจากการที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ชนะอย่างถล่มทลายในรัฐแรกแบบเปิดประเดิมเป็นปฐมฤกษ์นั้น ก็ถึงกับทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคน อย่าง “นายรอน ดีซานติส” ต้องประกาศถอนตัวพ้นจากสังเวียนชิงชัยไป

ตามมาด้วยรัฐที่สอง คือ “นิวแฮมป์เชียร์” เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยที่รัฐแห่งนี้เป็นการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารี ผลปรากฏว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ได้รับชัยชนะเหนือนางเฮลีย์ คู่แข่งคนสำคัญไปอย่างท่วมท้นอีกเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามกระแสความนิยมของพลพรรครีพบลิกันที่มีต่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เหนือผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ ภายในพรรค

ทั้งนี้ จากชัยชนะที่มาแรงแซงโค้งในศึกเลือกตั้งขั้นต้น ตลอดจนกระแสความนิยมดังกล่าว ก็ทำให้เป็นที่ค่อนข้างจะแน่ว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ น่าจะได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ไปสู้ศึกในสังเวียนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้กับตัวแทนพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นที่ค่อนข้างจะแน่อีกเช่นกันว่า น่าจะเป็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน นั่นเอง ที่กระแสคะแนนนิยมของเขาภายในพรรคเดโมแครต เหนือกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ

โดยพิสูจน์ให้เห็นในการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ซึ่งเปิดเป็นประเดิมเลือกตั้งขั้นต้นในวันเดียวกันกับที่ทางพรรครีพับลิกัน จัดเลือกตั้งขั้นต้นที่รัฐแห่งนี้ด้วยเหมือนกัน ผลปรากฏว่า ประธานาธิบดีไบเดน มีชัยเหนือคู่แข่งผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ ไปอย่างถล่มทลาย ไม่ว่าจะเป็นนายดีน ฟิลลิปส์ สส.จากรัฐมินนิโซตา และนางแมรี แอนน์ วิลเลียมสัน นักเขียนชื่อดังจากรัฐแคลิฟอร์เนีย

แถมมิหนำซ้ำประธานาธิบดีไบเดน ก็ยังชนะเลือกตั้งแบบไม่มีชื่อในบัตรเลือกตั้ง โดยให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เขียนชื่อนายไบเดนลงในบัตรเลือกตั้งเองได้ หรือที่เรียกว่า “ไรท์ อิน โหวต (Write-in vote)

ตามกำหนดการระบุว่า กว่าจะเสร็จสิ้นการเลือกตั้งขั้นต้นทั้ง 50 รัฐ ก็ต้องเป็นเดือนมิถุนายนกลางปีนี้ แต่บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ไม่ต้องรอครบทั้ง 50 รัฐ ก็สามารถรู้ผลกันแล้วว่าใครจะได้เป็นตัวแทนพรรคสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 อย่างเป็นทางการ ซึ่งค่อนข้างจะแน่ว่า จะเป็นการชิงชัยระหว่างอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ของพรรครีพับลิกัน กับประธานาธิบดีไบเดนของพรรคเดโมแครต

อย่างไรก็ดี ก็มีกระแสเสียงเพรียกเตือนในแวดวงการเมืองของสหรัฐฯ โดยเป็นการเตือนต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นสองพรรคการเมืองใหญ่ต้นสังกัด และรัฐสภาสหรัฐฯ หรือสภาคองเกรสว่า เตรียมการอย่างไรไว้บ้าง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และเกิดแบบปัจจุบันทันด่วนกับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ของพรรครีพับลิกัน และประธานาธิบดีไบเดนของพรรคเดโมแครต

โดยทางฟากของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ก็มีปัญหาโจทย์ใหญ่ให้ทางพรรครีพับลิกันคิดหนักทั้งในเรื่องอายุอานามของเขา ที่มากถึง 77 ปีแล้ว ซึ่งคนในวัยนี้ ก็ย่อมมีปัญหาสุขภาพตามสังขาร

แต่ที่นับว่า น่าเป็นกว่าวัยที่เกือบ 80 ปีของอดีตประธานาธิบดีรายนี้ก็คือ เรื่องคดีความต่างๆ ที่ยาวเป็นหางว่าว รวมแล้ว 91 ข้อหาด้วยกัน จนรกศาล ณ ชั่วโมงนี้ ไม่ว่าจะเป็นคดีอื้อฉาวระหว่างเขากับอดีตนางเอกสาวภาพยนตร์ผู้ใหญ่ หรือหนังโป๊ คดีความเกี่ยวกับจัดเก็บเอกสารลับอย่างไม่เหมาะสมถึงขนาดถูกเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ บุกเข้าไปในคฤหาสน์ส่วนตัวเขาที่รัฐฟลอริดาเพื่อตรวจค้น ซึ่งทำให้เสียรังวัดของความเป็นอดีตผู้นำประเทศไปพอสมควร คดีความเกี่ยวกับการรู้เห็นเป็นใจ หรือมีเอี่ยวเกี่ยวข้องกับ “เหตุจลาจล 6 มกราคม 2021 (พ.ศ. 2564)” ที่ม็อบฝ่ายสนับสนุนเขาบุกเข้าไปป่วนถึงในอาคารรัฐสภา หรือสภาคองเกรส เพื่อล้มผลเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020 (พ.ศ. 2563) ที่เขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับนายไบเดน ซึ่งคดีความนี้ได้มีศาลฎีกา หรือศาลสูงสุดของรัฐบางแห่ง มีคำพิพากษาตัดสิทธิทางการเมืองของเขา เช่น ศาลฎีการัฐโคโลราโด

โดยบรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า คดีความต่างๆ เหล่านี้ ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นายทรัมป์ ต้องมีอันเป็นไป ไม่สามารถลงชิงชัยบนสังเวียนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปีนี้ก็เป็นได้

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เดินทางมาขึ้นศาลที่รัฐนิวยอร์ก (Photo : AFP)

ขณะที่ ทางฝั่งประธานาธิบดีไบเดนของพรรคเดโมแครต ก็น่าเป็นห่วงไม่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องความชราภาพของผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็อายุ 81 ปีเศษแล้ว และในวันที่ 20 พฤศจิกายนปลายปีนี้ ก็จะมีครบ 82 ปี

เหล่านักวิเคราะห์ ตลอดจนกองเชียร์ของไบเดน ล้วนเป็นห่วงต่อสุขภาพของผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ หลังแสดงออกมาให้เห็นถึงความชราภาพ และปัญหาสุขภาพของเขา เช่น การพูดจาวกวนในบางครั้ง รวมถึงการเดินสะดุดหกล้มในช่วงที่ผ่านมาเป็นต้น

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เดินสะดุดหกล้มขณะขึ้นเวทีมอบวุฒิบัตรให้แก่นักเรียนนายเรืออากาศที่สำเร็จการศึกษาที่รัฐโคโลราโด (Photo : AFP)

บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า หากจำเป็นจริงๆ ที่ผู้สมัครฯ ทั้งสองมีปัญหาจนไม่สามารถลงชิงชัยได้ ก็เป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง อาจจะต้องเพิ่มและรับรองรายชื่อนักการเมืองมาลงแข่งขันเพิ่มเติม แต่กรณีนี้ทางพรรคการเมืองจะต้องเห็นสัญญาณเค้าลางที่แน่ชัดแล้ว ก่อนการประชุมใหญ่ของพรรค ซึ่งพรรครีพับลิกัน การประชุมใหญ่จะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ส่วนพรรคเดโมแครต จะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคม

นอกจากนี้ ยังอาจใช้วิธีให้ผู้สมัครเป็นรองประธานาธิบดีขยับขึ้นมาแทน รวมถึงให้คณะผู้เลือก หรืออิเล็กเตอร์ส (Electors) เลือกตัวแทนประธานาธิบดีคนใหม่ และหากคณะผู้เลือก ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกัน ก็ต้องพึ่งสภาคองเกรส โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกประธานาธิบดี และให้วุฒิสภาเลือกรองประธานาธิบดี ซึ่งวิธีนี้มีเขียนไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในบทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 12 สำหรับ ผ่าทางตันทางการเมืองหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันขึ้นจริง