กมธ.อากาศสะอาด ผนึกตัวแทน  7 ฉบับ หลอมรวมให้กม.ยั่งยืน “จักรพล” พร้อมสงวนจุดต่าง สร้างจุดร่วม มุ่งหาสาเหตุฝุ่นพิษ-หมอกควัน คาดแล้วเสร็จภายใน 1 ปี

วันที่ 25 ม.ค.2567 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับที่.. พ.ศ..โดย นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ แถลงว่า การประชุมวันนี้ได้มีตัวแทนจากผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 7 ฉบับ เพื่อหลอมรวมออกมาเป็น พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับภาคประชาชน ให้ผ่านวาระที่ 2-3 ภายในกรอบเวลา 1 ปี โดยวันนี้มีการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ รวมถึงแต่งตั้งที่ปรึกษา และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาเติมความสมบูรณ์ให้กับคณะกรรมาธิการดังกล่าว เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 7 ฉบับมีทั้งความคล้าย และส่วนต่าง จึงอยากให้เกิดความสบายใจว่าทุกภาคส่วนในการศึกษาพิจารณาครั้งนี้ เป็นไปเพื่อส่วนรวมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งมาตราที่มีความแตกต่างและความสอดคล้อง จะมีการมาสรุปสารัตถะ และถอดองค์ความรู้ของทุกท่านมาพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพ และให้กำลังใจกับทุกหน่วยงานที่จะบูรณาการอย่างเข้มข้น เนื่องจากช่วงนี้ฝุ่น PM 2.5 เริ่มกลับมา เพราะกระบวนการของร่าง พ.ร.บ. อาจไม่ทันท่วงทีจะทำให้ค่าฝุ่นลดลงในปีนี้ แต่การทำงานของคณะกรรมาธิการนี้ร่วมกับคณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติ จะทำงานควบคู่กันในเชิงปฏิบัติ

“ขอบเขตในการศึกษาคือสาเหตุของการเกิดฝุ่นควันพิษข้ามประเทศ และหมอกควันข้ามพรมแดน กรรมาธิการฯ จะคิดวิเคราะห์เพื่อพิจารณาวิธีแก้ไขปัญหา รวมถึงมาตรการเช่นเพิ่มบทลงโทษ หรือผู้ก่อมลพิษต้องรับโทษหนักผ่านกลไกภาษีบาป เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นระยะกลางและระยะยาว ทั้งนี้ จะมีการประชุมกรรมาธิการฯ ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.30 น. เป็นต้นไป”นายจักรพล กล่าว

ด้าน น.ส.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ร่วมกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 22,251 คน กล่าวว่า การเดินทางที่ยาวนานถึง 7 ปีของภาคประชาชน ที่มาด้วยแรงศรัทธา ปรากฏการณ์นี้ถือว่าไม่ธรรมดาที่ สส. ทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ช่วยกันยกมือโหวดอย่างเป็นสมานฉันท์ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ของภาคประชาชน มีความแตกต่างจากร่างฉบับอื่น เนื่องจากทำการศึกษามาอย่างนานมาก จึงขอฝากกมธ.ว่าขอให้คำนึงถึงประชาชนนอกสภาที่กำลังเดือดร้อน

“ส่วนเนื้อหาไม่ต้องกังวล เมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้ว ก็จะมีการสงวนจุดต่าง ปลดล็อคหาทางออกแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 และหมอกควันข้ามแดน ที่มีมิติสลับซับซ้อน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และมหกรรมที่ต้องร่วมกันทุกฝ่าย โดยไม่เลือกข้าง เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่สมบูรณ์แข็งแรง ยั่งยืน และแก้ไขปัญหาได้จริง”นายจักรพล กล่าว