โรคมะเร็งจากสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรม เป็นภัยที่นำไปสู่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับต้นๆ จะดีแค่ไหน...หากคนไทยมีอุปกรณ์อัจฉริยะตรวจวัดสารตกค้างในผักผลไม้ เตือนภัยก่อนที่เราจะรับประทานเข้าไป
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบันความปลอดภัยด้านอาหารจากสารเคมีเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ทีมวิจัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ (CMIT) ประกอบด้วย รศ. ดร.เบญจพล ตันฮู้, รศ. ดร.ดารินี พรหมโยธิน และ ผศ.ดร. ทุติยาภรณ์ ทิวาวงศ์ ได้คิดค้นนวัตกรรมอัจฉริยะ ‘เครื่องตรวจจับสารพิษตกค้างในผักผลไม้แบบพกพา’ ชื่อ ‘เค-เวจจี้ สกรีน’ (K-Veggie Screen) ช่วยคัดกรองสารพิษตกค้างในผักผลไม้และสารก่อภูมิแพ้ในอาหารด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก่อนบริโภค วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจและตอบโจทย์ผู้บริโภคในความปลอดภัยของอาหาร ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ลดปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ สนองตอบแนวทางเศรษฐกิจยุคใหม่ BCG ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและอาหารซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงของโลก ส่งเสริมตลาดเกษตรอินทรีย์และผักผลไม้ไร้สารเคมี นวัตกรรมฝีมือคนไทยนี้ได้จดสิทธิบัตรแล้ว
รศ.ดร.เบญจพล ตันฮู้ ทีมนักวิจัย วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สจล. กล่าวว่า แนวคิดที่มาของ ‘เค-เวจจี้ สกรีน (K-Veggie Screen) เครื่องตรวจจับสารพิษตกค้างในผักผลไม้แบบพกพา เป็นการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องอ่านค่าทางเคมีด้วยขั้วไฟฟ้า ที่สามารถช่วยคัดกรองปริมาณสารพิษในผักผลไม้และอาหาร สจล.ออกแบบเพื่อใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยในการดูแลสุขภาพของผู้ใช้งานตามบ้าน เป็นอุปกรณ์เสมือนผู้ช่วยในบ้าน สามารถเข้าถึงได้ง่าย หลักการคือนำผักที่ซื้อมาจากตลาดสดมาล้างก่อน แล้วนำเอาน้ำที่ได้จากการล้างมาตรวจวัดเพื่อดูปริมาณสารตกค้าง ถ้ามีปริมาณสารตกค้างยังอยู่ในปริมาณมาก ผู้ใช้งานก็สามารถนำผักไปล้างซ้ำจนกระทั่งได้น้ำที่สะอาด
‘เค-เวจจี้ สกรีน’ (K-Veggie Screen) เครื่องตรวจจับสารพิษตกค้างในผักผลไม้แบบพกพา ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ 1. ส่วนควบคุม ที่ประกอบจากไมโครคอนโทรลเลอร์ขนาดเล็กและประมวลผลก้าวล้ำด้วยระบบเอไอ (AI) เพื่อการทำงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 2. ส่วนตรวจวัด (Sensor) ซึ่งได้พัฒนาผิวหน้า ‘ขั้วไฟฟ้า’ ให้มีความจำเพาะกับสารกำจัดศัตรูพืชและแมลงได้อย่างแม่นยำ ผลตรวจวิเคราะห์ผ่านการทดสอบด้วยเครื่องวัดมาตรฐาน High Performance Liquid Chromatography (HPLC) สามารถเปลี่ยนเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร อาทิ เคซีน (Casein), สารเร่งเนื้อแดง, กลูเตน, เมลามีน และสารโลหะหนัก, ซิงค์ และสารปรอท ได้อีกด้วย
‘เค-เวจจี้ สกรีน’ (K-Veggie Screen) ในช่วงแรกนั้นใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ AAA จำนวน 2 ก้อน วิธีใช้งาน จุ่มปลายเซ็นเซอร์ลงในน้ำล้างผักผลไม้ที่ต้องการตรวจสอบ ตัวเครื่องมีหน้าจอแสดงผลซึ่งจะแสดงค่า 2 แบบ คือ ‘ปลอดภัย’ และ ‘ไม่ปลอดภัย’ โดยเซ็นเซอร์จะตรวจวัดสารเคมีในกลุ่มยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืชเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเป็น เฟสที่ 2 สจล.ได้พัฒนาความก้าวหน้า โดยออกแบบตัวเครื่องให้มีขนาดเล็กลง ใช้พลังงานจากอุปกรณ์ที่จะนำมาเชื่อมต่อ และสามารถ เปลี่ยนหัวเซ็นเซอร์ เพื่อสะดวกต่อการตรวจวัดสารเคมีชนิดอื่นๆ ได้ด้วย วิธีใช้งาน สะดวกง่ายดาย เพียงหยด’น้ำล้างผักผลไม้’ ลงใน ‘ช่องตรวจวัดค่าสารเคมี’ ใช้เวลาประมวลผลด้วย เอ.ไอ.อย่างรวดเร็วเพียง 10 วินาที และแสดงผลผ่านทางแอปพลิเคชัน ชื่อ ‘Smartzen’ ผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน แบบเข้าใจง่าย มี 3 ระดับ (สี) ได้แก่ สีเขียว หมายถึง ปลอดภัย, สีเหลือง สารเคมีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และสีแดง มีค่าสารเคมีเกินมาตรฐาน ทั้งนี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถทำการล้างผักและผลไม้ให้อยู่ในเกณฑ์สีเขียวเพื่อความปลอดภัยของตนและครอบครัว นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อ Wifi, บลูทูธ และอุปกรณ์ IoT เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน
ในปัจจุบันผักผลไม้แต่ละชนิดมีปริมาณสารเคมีตกค้างและแหล่งที่มาแตกต่างกัน ‘เค-เวจจี้ สกรีน’ (K Veggie Screen) จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจไม่ต้องกังวลในการล้างผักผลไม้ให้สะอาดปลอดภัย ไร้สารตกค้างที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค มีผลทำให้ ‘ระบบภูมิคุ้มกัน’ ของร่างกายอ่อนแอหากได้รับสารเคมีเหล่านี้ในปริมาณมาก และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น ‘โรคมะเร็ง’
จุดเด่นของนวัตกรรม ‘เค-เวจจี้ สกรีน’ นี้คือ ตัวเครื่องมีขนาดเล็กกะทัดรัด พกพาได้สะดวก น้ำหนักเบา ราคาถูก เซ็นเซอร์ใช้งานง่าย ไม่ต้องเตรียมตัวอย่างการทดสอบให้ยุ่งยาก เพียงเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนหรือ IoT ก็อ่านผลได้รวดเร็ว แม่นยำ มีความจำเพาะในการวัดสูง เนื่องจากการออกแบบขั้วไฟฟ้าใช้วิธีการฝังตัวโมเลกุลของสารจำเพาะที่ต้องการวัดลงไปในสารโพลิเมอร์ในการตรวจวัด จึงสามารถตรวจวัดในผักผลไม้ได้หลากหลายชนิด เพราะเซ็นเซอร์เน้นไปที่การจำเพาะของสารที่ทำการตรวจวัด จึงเหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพและผู้บริโภคทั่วไป อุปกรณ์‘เค-เวจจี้ สกรีน’ ยังสามารถเปลี่ยนหัวเซ็นเซอร์ชนิดอื่นเพื่อตรวจวัดค่าความจำเพาะสารเคมีอื่นๆ ได้อีกด้วย