กรมวิทย์ฯ ร่วมกับ ไจก้า นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการควบคุมและรักษาวัณโรคในประเทศไทย สู่เป้าหมายลดป่วย ตาย และยุติวัณโรค ภายในปี 2578

นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่ยังปัญหาสาธารณสุขสำคัญทั่วโลกและประเทศไทย พบว่าประชากรโลกประมาณ 1 ใน 3 มีการติดเชื้อวัณโรค โดยองค์การอนามัยโลกให้ประเทศไทยติดอันดับใน 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูงของโลก โดยมีอุบัติการณ์วัณโรครายใหม่ที่เกิดขึ้นประมาณ 103,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 12,000 รายต่อปี ทั้งนี้ สหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วัณโรคเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) จึงมีการประกาศยุทธศาสตร์ยุติวัณโรคภายในปี 2578 (End TB Strategy 2035) เพื่อลดอัตราการป่วยวัณโรครายใหม่ โดยมี 3 เสาหลัก ได้แก่ 1.การดูแล รักษา ป้องกันวัณโรค แบบองค์รวม โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง 2.เสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงนโยบายและระบบสนับสนุน และ 3.เพิ่มความแข็งแกร่งด้านงานวิจัยและนวัตกรรม

ปัจจุบันสถานการณ์วัณโรคในประเทศไทยยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของ SDGs ได้ทำให้ประเทศต้องมีนโยบาย เพื่อเร่งรัดการยุติวัณโรคโดยปรับแนวทางการควบคุมวัณโรค จากเดิมที่เน้น การตั้งรับ มุ่งรักษาผู้ที่มีอาการของวัณโรคที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล เปลี่ยนเป็น การค้นหาผู้ป่วยวัณโรค ในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สัมผัสโรค โดยเฉพาะเด็กเล็กที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อวัณโรค เนื่องจากมักพบการติดเชื้อได้บ่อยในครอบครัวของผู้ป่วยวัณโรค เพื่อค้นหา และรักษาวัณโรคให้เร็วที่สุด ปรับแนวทางในการวินิจฉัยโรค โดยให้ใช้วิธีการวินิจฉัยที่มีความไวสูงเป็นวิธีคัดกรอง คือ การถ่ายภาพรังสีทรวงอก ร่วมกับวิธีการตรวจหาเชื้อวัณโรค ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ รวมถึงการค้นหาและรักษาผู้ป่วยวัณโรคแฝง เพื่อป้องกันการเกิดวัณโรค

ที่ผ่านมา ในปี 2558-2562 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JICA ดำเนินโครงการ Science and Technology Research Partnership for Sustainable Development (SATREPS) จนเกิดผลสำเร็จ ได้ผลผลิตเป็นเทคโนโลยี และนวัตกรรม องค์ความรู้ใหม่ ที่จะนำไปใช้สนับสนุนยุทธศาสตร์ยุติวัณโรคของชาติ  เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในระบบการวินิจฉัย การพยากรณ์ความเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค และการควบคุมวัณโรค จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (whole genome sequencing, WGS) ของเชื้อวัณโรค ด้วยเทคนิค Next-generation sequencing (NGS) 2.การวัดระดับยาและการตรวจยีน NAT2 (NAT2 diplotyping) ในผู้ป่วยวัณโรค เพื่อเป็นแนวทาง                     ในการปรับยาต้านวัณโรค Isoniazid 3.การตรวจวัดระดับ การแสดงออกของยีนในเลือด (gene expression) เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค ด้วยเทคนิคดิจิตอลพีซีอาร์ และ 4.การตรวจหาการติดเชื้อวัณโรค ด้วยเทคนิค IGRA

นายแพทย์พิเชฐ กล่าวอีกว่า JICA ขยายผลจากความร่วมมือดังกล่าวจัดทำความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใต้โครงการ Technical Cooperation Project for Accelerating Social Implementation of Science and Technology (TCP/ASIST) ในหัวข้อเรื่อง Social Implementation of Infectious Disease Control Utilizing Genomic Information and Innovative Technology ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การนำนวัตกรรมและองค์ความรู้จากโครงการ SATREPS โดยเฉพาะด้านจีโนมิกส์และภูมิคุ้มกันวิทยา มาประยุกต์ใช้ร่วมกับวิธีการค้นหา รักษา ควบคุม และป้องกันวัณโรค โดยให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ งบประมาณในการฝึกอบรมด้านต่างๆ ระหว่างบุคลากรทั้ง 2 ประเทศ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี และมีหน่วยงานร่วมดำเนินการได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค สถาบันโรคทรวงอก มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานในเขตสุขภาพที่ 1, 2, 4, 5, 7 และ 8 เป็นพื้นที่ดำเนินการ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติในการยุติวัณโรค โดยใช้งานวิจัยเป็นพื้นฐานปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และประโยชน์ของประชาชน นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการลดป่วย ลดตายจากวัณโรคในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเห็นแนวโน้มลดลงได้ และบรรลุเป้าหมาย SDGs และยุติวัณโรคได้ในปี 2578