“กมธ.อุตฯ” เล็งแก้ไขพ.ร.บ.โรงงาน ดึงผู้ผลิต-ชาวบ้านเข้าสู่ระบบป้องเกิดเหตุซ้ำสุพรรณบุรี

วันที่ 24 ม.ค.2567 ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม (กมธ.) สภาฯ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พลุระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี คือ กรมการปกครอง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และเจ้ากรมการอุตสาหกรรมทหาร มาชี้แจง เพื่อหามาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นอีก โดยเบื้องต้นได้ข้อสรุป 2 ประเด็นคือ1.ต้องมีการปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ให้โรงงานผลิตพลุเข้ามาอยู่การควบคุมดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้โรงงานต่าง ๆ เหล่านี้มีกระบวนการเก็บกากวัตถุดิบ มีกระบวนการผลิต อย่างมีมาตรฐาน 2.จากการชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบว่ากฎระเบียบของกรมอุตสาหกรรมทหาร ซึ่งมี พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน มีพ.ร.บ.ความปลอดภัยในการทำงาน ในส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรี ฝ่ายปกครองมีการออกไปตรวจสอบและออกใบอนุญาต มีการออกกฎระเบียบที่ค่อนข้างรัดกุม หากสามารถดำเนินการได้ตามนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์ระเบิดได้

“กมธ.ฯตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของการระเบิดในครั้งนี้ คาดว่า อาจเกิดจากการไปตรวจโรงงานในช่วงที่โรงงานปิดไม่ได้ประกอบกิจการ ตรงนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เพราะในระหว่างที่มีการผลิตหากเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบ และเห็นว่ากระบวนการผลิตมีความสุ่มเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความเสียหายทางเจ้าหน้าที่สามารถให้หยุดประกอบกิจการได้ แต่เมื่อไปตรวจตอนที่ไม่มีการผลิตมีแต่ตัวโรงงาน อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้น กมธ.จะนำข้อสังเกตมาสอบหาข้อเท็จจริงต่อไปว่า การที่เจ้าหน้าที่ไปตรวจโรงงานผลิตพลุในช่วงหยุดการผลิตเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหรือไม่ และเมื่อได้ผลการตรวจสอบแล้วจะเชิญเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาสอบถามข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แน่นอนว่า การเจ้าหน้าที่ไปตรวจในช่วงที่โรงงานไม่มีการผลิตอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในครั้งนี้” นายอัครเดชกล่าว

ประธาน กมธ.อุตสาหกรรม กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นพ้องร่วมกันว่า ควรจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไม่ให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนที่ทำพลุครัวเรือนให้น้อยที่สุด และต้องให้ผู้ประกอบกิจการพลุในลักษณะชุมชน เข้ามาอยู่ในกฎระเบียบ เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปร่างแก้ไขพ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม  ขณะเดียวกันกมธ.ฯจะตั้งคณะทำงานแก้ไขร่าง พ.ร.บ. โรงงานอุตสาหกรรมเช่นกัน