"เศรษฐา" ลั่นพร้อมชี้แจงทุกประเด็นสว.ซักฟอก เปิดใจคุยกลุ่มต้าน "แลนด์บริดจ์" ยันรับฟังทุกเสียง พร้อมนำข้อเสนอเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณา  "ภูมิธรรม" ย้ำไม่มีการปรับครม. โวรัฐบาลนี้แนบแน่น ไม่เคยพูดดึง"ปชป." เข้าร่วม  แจงพท.ยื่นแก้รธน. มาตรา 256 คู่ขนานรัฐบาล ชงผลศึกษาครม.ไม่เกิน ก.พ.นี้ บอกหากศาลให้ทำ 2 ครั้ง เป็นเรื่องดี ประหยัดงบกว่า 3 พันล้าน 

    
 ที่หอประชุมคอซู้เจียง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง  เมื่อวันที่ 23 ม.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 รัฐบาลจะพิจารณาวันสะดวกในช่วงไหน ว่า ยังไม่ทราบ ต้องให้ นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างสภากับครม. เป็นผู้กำหนดวันที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อถามว่า ในส่วนของรัฐบาลพร้อมที่จะชี้แจงทุกข้อใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ในส่วนรัฐบาลพร้อมชี้แจงทุกเรื่อง เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หากมีการเข้าชื่อได้ครบแล้ว เราก็ต้องต่อที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นธรรมดา
    
 จากนั้น นายเศรษฐาได้เดินทางมายังมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษา จ.ระนอง เพื่อพบกับกลุ่มภาคประชาชนที่เดินทางมารวมตัวกัน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ประมาณ 100 กว่าคน โดยมีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มคัดค้านฯ
 โดยกลุ่มคัดค้านมีการชูป้ายข้อความต่างๆ อาทิ  มีการบิดเบือนข้อมูลและริดรอนสิทธิ์ของประชาชน  , การศึกษาผลกระทบยังไม่มี , แบบพัฒนาโครงการไม่รอบคอบ ,กระบวนการให้ข้อมูลไม่รอบด้าน เป็นต้น และมีการชูธงแสดงสัญลักษณ์ที่มีข้อความระบุว่า หยุดแลนด์บริดจ์ 
    
 แกนนำกลุ่มผู้คัดค้านฯ กล่าวว่า ทราบดีถึงการมุ่งมั่นของนายกฯในการบริหารประเทศ ภายใต้การนำของนายกฯที่มุ่งมั่น และที่สำคัญเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่านี้ในทุกมิติ และหลายนโยบายพวกเราไม่ได้คัดค้านพร้อมสนับสนุน แต่โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จึงมีข้อแนะนำและเรียกร้อง ให้รัฐบาลจะต้องมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านและได้มาตรฐาน การศึกษาจะต้องไม่ลำเอียง กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างชัดเจน โดยบูรณาการกับแผนงานอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรมในทุกด้าน รวมถึงประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมโดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างรอบด้าน และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้การดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์เป็นไปอย่างถูกต้อง  
    
 นอกจากนี้ กลุ่มผู้คัดค้านฯ ยังมีข้อเรียกร้องอีกว่า อยากให้รัฐบาลทำการพัฒนาในด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการประมงและการเกษตร และเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม ซึ่งประกอบด้วยนักการเมือง ข้าราชการ ท้องถิ่น และภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นกลไกในการทำงาน ที่จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
   
  นายกฯ กล่าวว่า ขอสรุปโดยสังเขป ท่านมีข้อสงสัยอยู่หลายข้อ หนึ่งเรื่องการศึกษาโครงการ แลนด์บริดจ์ ครอบคลุมหรือเปล่า มีอิสระหรือเปล่า ดูแลทุกมิติหรือเปล่า ไม่ใช่แค่แลนด์บริดจ์อย่างเดียว อุตสาหกรรมที่จะมาต่อเนื่องในอนาคตด้วย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในท้องถิ่นด้วย ตรงนี้รับฟังจะนำไปพิจารณาเป็นข้อประกอบการทำเอกสารศึกษา เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความกระจ่างในจุดประสงค์ของการทำแลนด์บริดจ์ และวันที่ 23 ม.ค.ได้มีการพูดคุยตามมาด้วยเกี่ยวกับเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้ นอกเหนือจากแลนด์บริดจ์ 
   
  นายกฯ กล่าวว่า ตนมั่นใจว่ารัฐบาลนี้ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการที่จะสร้างสนามบินอันดามันเนเชอรัล ที่จังหวัดพังงา ทราบดีว่าเราดำเนินการแล้วโดยรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะเรื่องการประมง เมื่อได้มีคณะกรรมการประมง 14 จังหวัดมาขอบคุณ โดยอาทิตย์หน้าจะเอาพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประมง เพื่อให้ชาวประมงกลับมาประกอบอาชีพได้อีกครั้งตามกฎของไอยูยู รัฐบาลทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องที่พูดมา เรื่องวัฒนธรรมกีฬา อาหารต่างๆเหล่านี้ได้บรรจุไว้นโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ขอยืนยันทุกสิทธิ์ทุกเสียงของพี่น้องประชาชนจะได้รับการรับฟัง ไตร่ตรองที่ดีจากรัฐบาล
    
 นายภูมิธรรม เวชยาชัยรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีกระแสการปรับคณะรัฐมนตรีทำไมถึงเกิดในช่วงนี้มีสัญญาณอะไรจากทางพรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ว่า ไม่มี เพราะพรรคร่วมรัฐบาลและทีมงานรัฐบาลก็ทำงานร่วมกันเป็นเครือ โดยวันที่ 25 ม.ค.จะมีการเชิญหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคร่วมรัฐบาล มารับประทานอาหารประจำเดือนอยู่แล้ว โดยมีพรรคภูมิใจไทยเป็นเจ้าภาพที่ร้านอาหารย่านจังหวัดปทุมธานี ส่วนข่าวลือเรื่องปรับครม. ได้ยินมาตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐบาลแล้ว และเมื่อตั้งมาแล้วก็มีข่าวมาตลอด ซึ่งตอนยืนยันว่าไม่มีแน่นอน รัฐบาลนี้เหนียวแน่น แนบแน่น และยังทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มที่
     
ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะการวัด KPI ของรัฐมนตรี จึงมีกระแสข่าวการปรับครม.ขึ้นมาใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยังไม่มีรัฐบาลพึ่งทำงานได้ 4 เดือน ต้องให้เวลาทำงานเพราะการทำงานของแต่ละกระทรวงของคณะรัฐมนตรีมีเวลาไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากันก็ต้องว่ากันไปตามเนื้อผ้า เพราะการทำงานยากลำบากก็ยังไม่เกิดผล เมื่อถามว่า กระแสข่าวที่ออกมาเป็นเพราะยังคงมีบางตำแหน่งยังว่างอยู่ใช่หรือไม่นายภูมิธรรม กล่าวว่า เก้าอี้ที่ว่างอยู่หากจะปรับก็ยังไม่กระทบกระเทือนใคร ส่วนจะมีการปรับเข้ามาเสริมหรือไม่นั้นก็จะต้องไปถามกับนายกรัฐมนตรี
     
เมื่อถามว่า ล่าสุดเห็นพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกันทำงานกับพรรคก้าวไกลแล้ว สมการที่จะดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาร่วมรัฐบาลจะไม่มีแล้วใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่เคยพูดว่าจะดึงหรือไม่ดึงพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ไปคุยกับพรรคก้าวไกลนั้นก็เพราะเขาเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน ไม่เห็นมีอะไรต้องแปลกใจ
     
นายภูมิธรรม ยังได้กล่าวถึงการที่พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ขณะที่รัฐบาลก็เตรียมแก้รัฐธรรมนูญเช่นกันสรุปจะยึดแนวทางใด ว่า การยื่นของพรรคเพื่อไทยเป็นเรื่องของพรรคการเมือง ก็ต้องไปว่าการที่พรรคการเมือง ส่วนของรัฐบาลนั้น หลังจากตนกลับจากต่างประเทศ ก็ทราบว่าเรื่องตั้งอยู่ที่โต๊ะของตนแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะนำเรื่องเสนอ ครม.ได้ ไม่เกินปลายเดือน ก.พ.นี้
   
  ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยหวังว่าการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดประเด็นขัดแย้งเพื่อให้ประธานรัฐสภา เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่าทำประชามติกี่ครั้ง ถือว่าเป็นความประสงค์ของรัฐบาลด้วยใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ได้ตั้งประเด็นให้เกิดความขัดแย้ง แต่ฝ่ายการเมืองมีความเป็นห่วง และรวมถึงรัฐบาลก็เป็นห่วงเช่นกันว่าจะทำประชามติให้ถูกต้องกี่ครั้ง เพราะมีหลายคนยืนยันว่าทำแค่ 2 ครั้งก็พอ ถ้าได้ 2 ครั้งจริงก็ประหยัดเงินไปได้กว่า 3,000 ล้าน แต่หากว่ามีหลักประกันว่า ใช้เงินเพิ่มแล้วรัฐธรรมนูญผ่าน เราก็ยินดี
   
  ด้าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยกว่า 120 คน ร่วมกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ที่ผ่านมา สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือการทำประชามติครั้งที่ 2 และ 3 ถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และคำวินิจฉัย 4/2564 ของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ข้อถูกเถียงหลักจึงอยู่ที่การทำประชามติครั้งแรกจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากมีการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน บางฝ่ายมองว่าคำวินิจฉัยกำหนดให้ทำประชามติก่อน ส.ส.ร.จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะบางฝ่าย โดยเฉพาะส.ว.มองว่า ต้องทำประชามติก่อนที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เข้าสู่สภา
    
 นายพริษฐ์ กล่าวยืนยันว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายขื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอว่าตามหลักกฎหมายการทำประชามติ 2 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว ส่วนที่หลายฝ่ายยึดว่าต้องทำประชามติครั้งแรก อาจมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะถ้าเริ่มด้วยคำถามประชามติครั้งที่ 2 เริ่มต้นด้วยการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการตั้ง ส.ส.ร.ไปเลย อาจมีส.ว.บางส่วนไม่ยกมือให้ โดยอ้างว่าต้องทำประชามติครั้งแรกก่อน พรรคก้าวไกลไม่ติดใจกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย และพร้อมให้ความร่วมมือ