เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 22 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยัทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่าจะตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องเรือดำน้ำ โดยจะทาบทามนายรังสิมันต์ ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยว่า ยังไม่มีใครติดต่อมา ถ้าทาบทามอย่างเป็นทางการ อย่างน้อยควรจะมีการโทรมาบอกก่อน เพื่อที่จะปรึกษารายละเอียดกัน ทั้งนี้ตนยังไม่ทราบล่วงหน้า ก็ค่อนข้างแปลกใจ
"หรือว่าพี่สุทินอยากให้มีประเด็นหน้าสื่อ มันจะได้ไปพิจารณาประเด็นอื่นหรือเปล่า อันนี้ผมเองก็ไม่ได้ ก็ไม่ทราบ" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตอนที่ตนเดินทางไปกระทรวงกลาโหมก็ ได้บอกไปว่าทางคณะ กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ยินดีที่จะไป ส่วนหนึ่งในเรื่อง การตรวจสอบแน่นอน ยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง แต่วันนี้ นายสุทิน ได้ให้สัมภาษณ์ โดยที่ไม่ได้มีการบอกกล่าวกันเลย ตนไม่ทราบรายละเอียดอะไรเลย ดังนั้นตนต้องตั้งคำถามกลับไปว่า อยากจะให้เป็นกรรมการตรวจสอบจริงๆ ใช่หรือไม่ อยากจะให้ไปทำอะไร หรือแค่ต้องการให้มีภาพข่าวออกมาเท่านั้น
เมื่อถามว่า หากมีการทักทายมาจริงๆ จะตอบรับหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องฟังรายละเอียด ตนไม่รู้ว่าจะตัดสินใจจากอะไร ทั้งนี้ตนเป็นประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ต้องไปดูข้อกฎหมายว่า จะสามารถไปนั่งในคณะกรรมการได้หรือไม่ และแม้จะ ไม่ได้ไปนั่ง แต่ถ้าเชิญเราไปรับฟังข้อมูลในคณะกรรมการ ทาง กมธ.ก็ยินดี เพราะเราก็อยากได้ข้อมูลทั้งหมดจากกระทรวงกลาโหม และทางกองทัพเรือว่า ข้อมูลเรื่องเรือดำน้ำ ที่เป็นปัญหาทั้งหลายเป็นอย่างไร เราก็อยากได้ข้อมูลตรงนี้ให้ได้มากที่สุด
"ยืนยันว่าไม่ได้ปฏิเสธ แต่ไม่รู้จะตอบรับยังไง คงจะรอโทรศัพท์ของท่านรัฐมนตรี เบอร์ผมยังมีอยู่มั้ง เป็นรัฐมนตรีแล้ว ก็คงไม่ลบเบอร์ฝ่ายค้านที่เคยสู้มาด้วยกัน" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า นายสุทิน พูดเสมอว่า เรากับประเทศจีนมีผลประโยชน์กันเยอะมาก การนำเรื่องนี้จะทำให้เป็นเงื่อนไขในการเสียผลประโยชน์ ตนก็ขอถามกลับว่า หากผลประโยชน์ระหว่างเรากับจีนมีมากขนาดนั้นจริง จีนจะยอมให้เป็นอย่างนั้นหรอ อย่าไปคิดว่าไทยต้องเอาใจจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทั้ง 2 ประเทศจะต้องยืนอยู่ด้วยกันอย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ไม่คิดว่านายสุทินจะมองข้ามในเรื่องนี้
เมื่อถามว่า มองเจตนาในการเชิญเข้าร่วมคณะกรรมการนี้อย่างไร นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ไม่อยากจะเดามาก แต่คิดว่าหากเราต้องซื้ออาวุธจริงๆ ต้องดูว่าซื้อด้วยภัยคุกความมั่นคงแบบไหน เราก็ยังไม่ได้รับข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมว่า ตกลงเราจะซื้อเรือดำน้ำด้วยภัยความมั่นคงแบบไหน และเมื่อซื้อมาแล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ การเชื่อมโยงอาวุธต่างๆมีหรือไม่ ถ้าทำได้ถึงจะซื้อ แต่เรากลับไม่ได้ข้อมูลอะไรเลย นายสุทินก็กลายเป็นคนละคน เข้าใจว่าเมื่อมาเป็นรัฐมนตรี ก็ต้องรักษาท่าที แต่สุดท้ายต้องเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนก่อน
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบต่างๆ ทางเราก็ยินดี หากทางกระทรวงกลาโหมให้ความร่วมมือกับเรา ก็สามารถตรวจสอบได้ แม้ไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการ ไม่มีความจำเป็นด้วยซ้ำไปที่จะต้องไปเป็นคณะกรรมการ ทั้งนี้ ที่เราอยากเข้าไป ไม่ได้อยากจะเข้าไปใกล้ชิด แต่เรามีข้อจำกัดมากๆในการแสวงหาข้อมูล เราเจอปัญหานี้มาโดยตลอด แต่ถ้าหากเราได้รับความร่วมมือในฐานะ กมธ.ทุกอย่างก็จบ ไม่ต้องไปเป็นคณะกรรมการให้เปลืองเบี้ยประชุมและภาษีของประชาชน แต่วันนี้ เหมือนเป็นไฟท์บังคับว่าถ้าเราไม่ไปเข้าร่วมกับเขาเลย การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนก็ทำไม่ได้
เมื่อถามว่า กรณีนี้เป็นการมองข้ามกลไกของคณะกรรมาธิการของสภาหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนคิดว่า คณะกรรมการเป็นบทบาทของฝ่ายบริหารมากกว่า ซึ่งตามหลักกฎหมาย ภายในฝ่ายปกครอง ก็สามารถตรวจสอบกันเองได้ และอาจตั้งขึ้นมาเพื่อความสะดวกบางอย่าง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เราต้องมาดูว่าจะเอาฝ่ายนิติบัญญัติมานั่งในคณะกรรมการได้หรือไม่ และจะมีปัญหาว่า จะแยกบทบาทยังไง
เมื่อถามว่า หากเข้าไปเป็นคณะกรรมการ จะสามาถเรียกขอเอกสารง่ายขึ้นหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า หวังว่าจะง่ายขึ้น แต่เราก็ไม่ควรเข้าไปเป็นกรรมการ อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า สิ่งที่นายสุทินทำแล้วจะได้รับคำเยินยอจากทั่วสารทิศ ไม่ใช่ได้รับการต่อว่าจากประชาชน คือควรจะทำให้การปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้นจริงๆ ควรจะเปลี่ยนวิธีคิดการจัดซื้ออาวุธ ในเรื่องเรือดำน้ำ ถูกตั้งคำถามเรื่องความจำเป็นก็ต้องเลิกเพราะมีปัญหาในเรื่องของเครื่องยนต์ด้วย ดังนั้น อย่าปกป้องเรื่องนี้เลย มันสายไปแล้ว เราไม่ได้มีปัญหากับการซื้ออาวุธทุกอย่าง เข้าใจว่า บางทีกองทัพมีความจำเป็น แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือต้องทําให้โปร่งใส ให้เกิดจากความจำเป็นจริงๆ ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น