วันที่ 23 ม.ค. 2567 เวลา 10.50 น. ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ สส. ของพรรคเพื่อไทยกว่า 120 คน ร่วมกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ที่ผ่านมา สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือ การทำประชามติครั้งที่ 2 และ 3 ถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และคำวินิจฉัย 4/2564 ของศาลรัฐธรรมนูญ อยู่แล้ว ข้อถูกเถียงหลัก จึงอยู่ที่การทำประชามติครั้งแรกจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากมีการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน บางฝ่ายมองว่า คำวินิจฉัยกำหนดให้ทำประชามติก่อน ส.ส.ร.จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะบางฝ่าย โดยเฉพาะ สว. มองว่า ต้องทำประชามติก่อนที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เข้าสู่สภา
นายพริษฐ์ กล่าวยืนยันว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายขื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอว่า ตามหลักกฏหมายการทำประชามติ 2 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว ส่วนที่หลายฝ่ายยึดว่า ต้องทำประชามติครั้งแรก อาจมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะถ้าเริ่มด้วยคำถามประชามติครั้งที่ 2 เริ่มต้นด้วยการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการตั้ง ส.ส.ร. ไปเลย อาจมี สว. บางส่วนไม่ยกมือให้ โดยอ้างว่าต้องทำประชามติครั้งแรกก่อน
นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่ติดใจกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย และพร้อมให้ความร่วมมือ ต่อไปนี้จะมีโจทย์สำคัญคือ ทั้งสองพรรคต้องร่วมมือกันหาแนวทางโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภาทุกส่วน โดยเฉพาะ สว. เห็นชอบ กับการทำประชามติ 2 ครั้ง อีกโจทย์คือในเชิงรายละเอียด ทั้งรูปแบบและที่มาของอำนาจ ส.ส.ร. โดยพรรคก้าวไกลได้เตรียมร่างแก้ไขที่จะยื่นประกบกับร่างของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนที่เราเห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยคือ ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% และกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่ลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ร. อยู่ที่ 18 ปี แต่จุดที่เห็นต่างกับพรรคเพื่อไทย คือระบบเลือกตั้ง ความเชื่อมโยงระหว่าง ส.ส.ร. กับรัฐสภา และอำนาจของ ส.ส.ร. ในการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งจะใช้กลไกของรัฐสภา ในการหาข้อยุติความเห็นต่างเหล่านี้
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า มีความเสี่ยงที่ศาลรัฐธรรมนูญ อาจวินิจฉัยจำนวนครั้งที่จะต้องทำประชามติมา จึงมั่นใจว่า ทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ยังยืนยันในหลักการ ว่าการทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอแล้ว และหวังให้รัฐสภาหาทางออกกันเอง แต่ยังมีช่องให้คนที่เห็นแย้งยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อยู่
เมื่อถามว่าความเสี่ยงเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น ต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ยังมีอยู่ แต่ในแนวทางการทำประชามติ 2 ครั้ง อาจจะมีแนวทางที่แตกต่างออกไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่า คือแนวทางคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ตั้งคำถามการทำประชามติครั้งแรก ที่สอดไส้เงื่อนไขหมวด 1 และหมวด 2 อาจส่งผลให้การลงคะแนนของประชาชนไม่เป็นเอกภาพ และโอกาสที่การทำประชามติครั้งแรกผ่านลดน้อยลง
เมื่อถามว่า การเสนอร่างแก้ไขมาตรา 256 ไปพร้อมกับการเสนอตั้ง ส.ส.ร. นั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ทางพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลยืนยันตรงกัน ว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามให้ทำเช่นนี้ แต่เรื่องนี้ก็เป็นข้อถกเถียงที่เคยทำให้กระบวนการนี้สะดุดไปในปี 2564
“พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ต้องจับมือกันให้แน่น เพื่อพยายามช่วยโน้มน้าวให้ สว. รวมถึง สส. จากบางพรรคที่ร่วมรัฐบาลอยู่ หันมาเห็นชอบ และพร้อมยกมือสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 256 และ ส.ส.ร. โดยไม่ต้องทำประชามติก่อน” นายพริษฐ์ กล่าว