เด็กเพื่อไทย ตอกย้ำระเบียบพักโทษผู้ต้องขัง "ทักษิณ" เข้าเงื่อนไขเหมือนทุกคน ด้านนิด้าโพลเผยผลสำรวจกรณีทักษิณนอนรักษาตัวรพ.ตำรวจ ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อไม่กระทบความอยู่รอดรัฐบาล และไม่ส่งผลม็อบชุมนุมลุกลามสู่วิกฤติการเมืองรอบใหม่
เมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 นายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีจะมีการพักโทษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นการเลือกปฏิบัติและสิทธิพิเศษ ว่า ขอเรียกร้องให้เอาข้อเท็จจริงและระเบียบมาดู เนื่องจากประชาชนทั่วไปมีสิทธิรู้ว่าเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร การประกาศเรื่องการพักการลงโทษของกรมราชทัณฑ์นั้นออกสมัยรัฐบาลก่อนตั้งแต่ปี 2563 หลายปีก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะมาเป็นรัฐบาล ไม่ได้ออกโดยรัฐบาลนี้
ดังนั้นระเบียบคงไม่ออกเพื่อช่วยอดีตนายกฯทักษิณ ดังนั้นการประกาศนี้ใช้เป็นการทั่วไป ใช้กับทุกคนที่ต้องโทษมาแล้ว 1 ใน 3 และเข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง คือ1.เจ็บป่วยร้ายแรง 2.พิการ หรือ 3.อายุ 70 ปีขึ้นไป เจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติไม่ได้ และมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง และฝ่ายการเมืองไปแทรกแซงสั่งไม่ได้การพักการลงโทษเป็นเรื่องสากล ไม่ใช่นวัตกรรมของไทย ประเทศพัฒนาแล้วก็มีการพักโทษ (parole)
นายนพดล กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ขอให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ถ้านายทักษิณเข้าเงื่อนไขก็มีสิทธิเฉกเช่นคนอื่น อย่าไปสร้างความสับสนและใส่ร้ายเลยว่าใช้อภิสิทธิ์ในการพักโทษ การวิจารณ์ก็เป็นสิทธิ์แต่ต้องทำบนข้อเท็จจริงหรือ fact ไม่ใช่ fake หรือข้อมูลเท็จ ประชาธิปไตยไม่งอกงามด้วยอคติและความเท็จ บ้านเมืองต้องเดินหน้าเราควรมีความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน นายทักษิณเคยถูกรัฐประหารมา ถ้าเวลาจะพักโทษจะไม่ได้รับสิทธิ์เช่นคนอื่นอีก เมื่อถามว่าเป็นเรื่องธรรมแล้วหรือไม่ ตนเชื่อในความรู้และประสบการณ์ของท่านว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง กรณีทักษิณ ชินวัตร กับความอยู่รอดของรัฐบาล ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-17 ม.ค.67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับกรณีทักษิณ ชินวัตรกับความอยู่รอดของรัฐบาล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ นิด้าโพล สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความอยู่รอดของรัฐบาล จากกรณีนายทักษิณยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.62 ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาลเลย รองลงมา ร้อยละ 21.98 ระบุว่า ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาล ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาล ร้อยละ 15.42 ระบุว่า ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาลอย่างมาก และร้อยละ 4.28 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ส่งตัวนายทักษิณกลับเข้าเรือนจำ จะลุกลามจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่เหมือนการชุมนุมของเสื้อเหลือง เสื้อแดง และกปปส. ในอดีต พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.60 ระบุว่า จะไม่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่แน่นอน รองลงมา ร้อยละ 41.30 ระบุว่า จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ แต่ไม่ใหญ่โต เหมือนในอดีต ร้อยละ 11.15 ระบุว่า จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่เหมือนในอดีตแน่นอน และร้อยละ 5.95 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.93 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.74 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.80 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.36 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.84 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 34.81 สถานภาพโสด ร้อยละ 62.59 สมรส และร้อยละ 2.60 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 25.65 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 35.95 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.71 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27.02 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.67 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 8.86 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.48 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.46 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.21 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.95 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.54 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 4.50 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 21.68 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.75 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 28.70 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.99 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 3.89 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.05 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.94 ไม่ระบุรายได้