"เฮียเก้า" ญาติอดีตรัฐมนตรีและนักการเมืองคนดัง  โยงขบวนการค้าตีนไก่เถื่อน เตรียมเข้ามอบตัวดีเอสไอ หลังบินกลับจากจีน 22 ม.ค.นี้  ด้านกมธ.มั่นคงฯ" เดินหน้าสอบ "หมู-ตีนไก่เถื่อน"  ส่งเทียบเชิญ ดีเอสไอ - ปปง.เข้าชี้ แจง 24 ม.ค.

     
จากกรณีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คดีหมูเถื่อน ภายใต้การกำกับของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ นำโดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ดำเนินการรับคดีพิเศษเพิ่มเติมอีก 2 คดี ได้แก่ คดีพิเศษที่ 126/2566 กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และได้นำออกไปจำหน่ายตามท้องตลาดแล้วจำนวน 2,388 ตู้ 
    
 นอกจากนี้ ยังมีคดีพิเศษที่ 127/2566 กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวนกว่า 10,000 ตู้ เพื่อสอบสวนหาผู้ร่วมขบวนการทั้งหมดสำหรับดำเนินคดีทางอาญาตามฐานความผิด ต่อมาได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาออกหมายจับ 5 บุคคล ประกอบด้วย นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือเฮียเก้า, นายหยาง ยา ซุง, นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์, น.ส.นวพร เชาว์วัย และนายสมเกียรติ กอไพศาล ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558, ความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร และข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ก่อนมีการติดต่อขอเข้ามอบตัวแล้ว 3 ราย เหลือเพียงเฮียเก้าและบุตรชายที่อยู่ต่างประเทศ ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้ว
    
 ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน เปิดเผยว่า คณะพนักงานสอบสวนได้รับการประสานจากทนายความของ นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือเฮียเก้า ว่าวันที่ 22 ม.ค.นี้ เวลา 13.00 น. จะเดินทางกลับจากต่างประเทศ ลงเครื่องที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ เพื่อเข้ามอบตัวตามที่มีหมายจับของศาลอาญากับดีเอสไอในคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีตีนไก่สวมสิทธิ ซึ่งในขั้นตอนการรับตัวเฮียเก้าที่สนามบิน จะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสะกดรอยและการข่าวของดีเอสไอ ภายใต้การกำกับ นายวิทวัส สุคันธรส ผอ.ศูนย์สืบสวนสะกดรอยฯ 
     
เมื่อรับตัวเฮียเก้าเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำตัวเฮียเก้ามาทำบันทึกจับกุมที่ชั้น 7 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อนนำส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิที่ผู้ต้องหาพึงได้รับ นอกจากนี้ ในการสอบปากคำเบื้องต้น พนักงานสอบสวนอาจสอบถามข้อมูลส่วนตัว และพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหมายจับเช่น การประกอบธุรกิจส่งขายตีนไก่ไปจำหน่ายต่างประเทศ เป็นมาอย่างไร ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ หุ้นส่วนทางการค้า บริษัทชิปปิ้งเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับจากการสอบปากคำไปใช้ในการขยายผลต่อไป
    
 พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับการทำธุรกิจขายส่งตีนไก่ไปจำหน่ายยังต่างประเทศของเฮียเก้า จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบว่าเดิมที ช่วงปี พ.ศ.2564-2565 เฮียเก้าทำร่วมกับสองสามีภรรยา นายหยาง ยา ซุง และน.ส.นวพร เชาว์วัย (2 ผู้ต้องหาที่ดีเอสไอจับกุมแล้ว) โดยมีนักธุรกิจอีก 1 ราย ที่รับหน้าที่เป็นตัวกลางคอยประสานทางการค้าระหว่างเฮียเก้าและสองสามีภรรยา แต่สุดท้ายทั้งสองฝ่ายก็กลายเป็นคู่แข่งทางการค้ากัน ไม่ได้ทำร่วมกันอีก ต่างคนต่างดำเนินธุรกิจของตัวเอง นอกจากนี้ เมื่อคณะพนักงานสอบสวนขยายผลต่อเนื่อง พบว่าในส่วนของบริษัทเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเฮียเก้า เบื้องต้นมีจำนวน 10 บริษัท โดยเป็นบริษัทที่อยู่ในนามของคนใกล้ชิดเฮียเก้า ส่วนเรื่องรายการครอบครองทรัพย์สินต่างๆ ในประเทศไทยของเฮียเก้า ดีเอสไอได้ส่งข้อมูลทั้งหมดให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการตรวจสอบคู่ขนานไปกับคดีทางอาญา
    
 ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ของนายสมเกียรติ กอไพศาล หรือเฮียเกียรติ นั้น พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า ในวันสอบปากคำเจ้าตัวไม่ได้ให้การมากเท่าที่ควร โดยใช้เวลาตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น. ทั้งยังพบว่าบางครั้งนายสมเกียรติมีอาการเครียด เนื่องจากคณะพนักงานสอบสวนได้ตั้งคำถามไว้หลายประเด็น แต่นายสมเกียรติไม่ได้ตอบคำถาม อีกทั้งยังให้การปฏิเสธในทุกข้อหาและประสงค์ขอส่งเป็นเอกสารชี้แจงแทน ส่วนในวันที่ 8 ก.พ. คณะพนักงานสอบสวนได้นัดหมายให้นายสมเกียรติเข้ารายงานตัว
    
 เมื่อถามถึงกรณีของ นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ มีแนวโน้มที่คณะพนักงานสอบสวนจะเชิญเข้าให้ข้อมูลหรือไม่ พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า จะยังไม่มีการออกหมายเรียกพยานแก่นายสมชวนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดีเอสไอได้ประสานข้อมูลในเรื่องของการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้า ณ ท่าเรือต่างๆ ผ่านตู้คอนเทเนอร์ทำความเย็น หรือตู้ติดแอร์ เพื่อตรวจสอบกิจกรรมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าในช่วงปีที่เกี่ยวข้องกับคดีของดีเอสไอว่ามีบุคคลและนิติบุคคลรายใดบ้าง อีกทั้งในช่วงสัปดาห์ถัดไป คาดว่าจากการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนอย่างเข้มข้น คำให้การของพยานปากสำคัญ และผลสอบปากคำของผู้ต้องหาทั้งหมด จะนำไปสู่การเปิดปฏิบัติการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายขนาดใหญ่ได้
    
 ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การติดต่อเข้ามอบตัวของเฮียเก้าในวันที่ 22 ม.ค.นี้ สืบเนื่องมาจากผลปฏิบัติการของคณะพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นการเข้าตรวจค้นบริษัทของเฮียเก้า ทั้งยังเป็นที่พักอาศัย ชื่อ บริษัท โกลเด้น ชาวเวอร์ เทรดดิ้ง จำกัด (Golden Shower Trading Co.,ltd.) เลขที่ 981/101-102 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ จากผลการตรวจค้น พบเพียงภรรยาของเฮียเก้าอยู่ภายในอาคาร และพบพยานเอกสารสำคัญบางส่วน รวมถึงพยานวัตถุ โดยในวันดังกล่าว ซึ่งภรรยาเฮียเก้าได้แจ้งพนักงานสอบสวนว่าเฮียเก้าได้เดินทางไปทำธุรกิจที่ประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.66 และยืนยันว่าจะประสานให้เฮียเก้าเดินทางกลับไทยเพื่อเข้ามอบตัวกับดีเอสไอ
   
  ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานกมธ. ได้นัดประชุม เพื่อพิจารณาต่อเนื่องเป็น ครั้งที่สอง ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณา กรณีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนและตีนไก่สวมสิทธิเข้ามาในประเทศและส่งออกไปยังประเทศจีนโดยสำแดงเอกสารอันเป็นเท็จ ที่กระทบต่อความมั่นคงและประเทศ โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
    
 นอกจากนี้ ทาง กมธ. ยังได้นัดประชุมในประเด็นเรื่องการฟ้องร้องคดีความมั่นคงเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 25 ม.ค. นี้ ซึ่งได้เชิญเลขาธิกรสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9
    
 โดยกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ รวม 9 คน ถูกตำรวจอ.สายบุรี จ.ปัตตานี ฟ้องดำเนินคดีว่าด้วยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือหรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เป็นอั้งยี่ เป็นช่องโจร จากกรณีการจัดกิจกรรมมลายูรายา เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565 ที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรีจ.ปัตตานี