ปลัด มท. เผยยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบครบ 52 วัน มูลหนี้ 8,710 ล้าน ประชาชนลงทะเบียนแล้วกว่า 1.32 แสนราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 5.9 พันราย มูลหนี้ลดลงกว่า 540 ล้าน ย้ำทุกจังหวัดเร่งบูรณาการแก้หนี้นอกระบบทั่วประเทศ พร้อมส่งเสริมประชาชนจัดทำบัญชีครัวเรือน สร้างวินัยการออม มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนยั่งยื

วันที่ 21 ม.ค.67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวันที่ 52 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.00 น. มีมูลหนี้รวม 8,710.603 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 132,461 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 113,123 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 19,338 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 97,665 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 11,029 ราย เจ้าหนี้ 6,992 ราย มูลหนี้ 778.400 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,401 ราย เจ้าหนี้ 4,768 ราย มูลหนี้ 359.972 ล้านบาท 3. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,897 ราย เจ้าหนี้ 3,273 ราย มูลหนี้ 373.893 ล้านบาท 4. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 4,885 ราย เจ้าหนี้ 3,685 ราย มูลหนี้ 319.906 ล้านบาท 5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 3,469 ราย เจ้าหนี้ 2,844 ราย มูลหนี้ 285.284 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 207 ราย เจ้าหนี้ 207 ราย มูลหนี้ 11.783 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 288 ราย เจ้าหนี้ 198 ราย มูลหนี้ 19.331 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 349 ราย เจ้าหนี้ 264 ราย มูลหนี้ 11.122 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 422 ราย เจ้าหนี้ 320 ราย มูลหนี้ 17.950 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 456 ราย เจ้าหนี้ 325 ราย มูลหนี้ 22.741 ล้านบาท

“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 11,789 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 5,925 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 1,182.042 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 641.924 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 540.118 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 2,979 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 125 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 230.936 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 9.825 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 221.111 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ มีการดำเนินคดีไปแล้ว 73 คดี ใน 26 จังหวัด” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้ใช้กลไกระดับพื้นที่ทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องการลงทะเบียนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้เข้ามาลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งให้ทุกพื้นที่ดำเนินกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินทันทีที่ได้รับการลงทะเบียน เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนไว้ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้รวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำทุกอำเภอได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง หนุนเสริมเพิ่มเติมจากตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัดที่มีการจัดเดือนละ 1 ครั้ง โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน เพื่อนำเข้าสู่หนี้ในระบบควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

“ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้น้อมนำแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต ลดความฟุ่มเฟือย ใช้อยู่อย่าง "พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น" ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผักสวนครัวในครัวเรือนไว้รับประทาน การบริหารจัดการขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เปลี่ยนขยะให้เป็นมูลค่า และที่สำคัญอีกประการคือ การสร้างแนวทางให้ลูกหนี้ทุกคนมีวินัยทางการเงิน ได้รู้จักประหยัดอดออม วางแผนทางการเงิน จัดทำบัญชีครัวเรือน จดข้อมูลรายรับรายจ่าย และเพิ่มพูนฝึกฝนทักษะการประกอบอาชีพและทักษะอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง