วันที่ 20 มกราคม 2567 นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์  ได้ให้ความเห็นต่อกรณี ที่มีการแจกโฉนดสปก. ว่า แม้นโยบายการเปลี่ยนแปลง ส.ป.ก. 4-01 เป็นชื่อ “โฉนดเพื่อการเกษตร” จะเป็นการยกระดับของ ส.ป.ก. 4-01 แต่ในภาพรวมเห็นว่าจะเป็นนโยบายที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะ เกษตรกรที่ทำกินในเขตปฏิรูปที่ดิน ในประเด็นของสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการถือครองหนังสืออนุญาต ส.ป.ก. 4-01  

 นายสรรเพชญ กล่าวว่า ตามกฎหมายประมวลที่ดิน คำว่า โฉนดคือ หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ในที่ดินที่รัฐมอบไว้ให้เอกชนหรือบุคคลทั่วไป ดังนั้น ในทางกฎหมาย และความเข้าใจทั่วไปของสังคมไทย ใครมี โฉนดที่ดินย่อมหมายความว่า ผู้นั้นเป็นเจ้าของที่ดินโดยชอบธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถซื้อขาย โอน จำนอง ค้ำประกัน ฯลฯ ได้ตามความประสงค์ 

ขณะเดียวกัน “โฉนดเพื่อการเกษตร” หรือ “ส.ป.ก. 4-01” เดิมนั้น เป็นเพียงการยกระดับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมให้เกษตรกร แต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของรัฐ เกษตรกรมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น หาใช่เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ประเด็นของ “กรรมสิทธิ์” หรือความเป็นเจ้าของนั่นเอง  รัฐบาลจะใช้ชื่อเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่  แต่ต้องไม่ลืมว่า การรับรู้ทั่วไปของสังคม และตามกฎหมายประมวลที่ดิน คำว่า “โฉนด” มันบ่งบอกถึงสถานะความเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ของผู้นั้น เรามีโฉนดเท่ากับว่าเราสามารถขาย โอน จำนอง ค้ำประกัน ได้ตามความต้องการตราบเท่าที่เรายังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ๆ

 แต่นโยบายรัฐบาลที่เปลี่ยนหรือยกระดับ ส.ป.ก. 4-01 ไปสู่ “โฉนดเพื่อการเกษตร” ซึ่งเกษตรกรที่ถือครองไม่ได้มีความเป็นเจ้าของ หรือมีกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ อาจนำไปสู่การสร้างความสับสน ความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชน ดังนั้น ผมเสนอว่าให้รัฐบาลเร่งทำความเข้าใจนโยบายดังกล่าวเสียใหม่เพื่อป้องกันความสับสน และไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าถูกหลอกให้หลงเข้าใจผิด ” นายสรรเพชญ กล่าว

นายสรรเพชญ ยังได้กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับสิทธิในการใช้ประโยชน์จากโฉนดเพื่อการเกษตรว่า เมื่อมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มีการโอน เช่า ได้แล้ว ก็เกรงว่าสุดท้ายโฉนดเพื่อการเกษตรจะอยู่ในกลุ่มของนายทุน โดยการสวมสิทธิให้เกษตรกรตัวจริงถือครอง แต่ผู้ได้รับประโยชน์จากที่ดินนั้นกลับไม่ใช่เกษตรกรซึ่งหมายถึงวัตถุประสงค์ของโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตรได้เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นเรื่องทางธุรกิจของกลุ่มทุนเสีย ดังนั้น กระบวนการต่างๆ หลังจากนี้ ของรัฐบาลจะต้องเข้มงวด และรัดกุม

"เกรงว่าการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มีการโอน เช่า โฉนดที่ดินเพื่อการเกษตรได้จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากที่ดินที่นอกเหนือไปจากด้านการเกษตร อันเนื่องจากการสวมสิทธิที่อาจจะเกิดขึ้น หมายความว่า เกษตรกรเป็นผู้มีสิทธิครอบครองจริง แต่ผู้ใช้ประโยชน์กลับไม่ใช่เกษตรกร หากแต่อาจเป็นกลุ่มทุน ซึ่งสุดท้ายมันจะกลายเป็นเรื่องทางธุรกิจ เรื่องของกลุ่มทุน

ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร ดังนั้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการพิสูจน์สิทธิ และการใช้ประโยชน์จากที่ดินจริงอย่างเข้มงวด และดำเนินการอย่างตรงไป ตรงมา เพื่อให้ผลประโยชน์ตกถึงเกษตรกรอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นเท่ากับเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่ดินทำกินให้ทวีคูณยิ่งขึ้น”  นายสรรเพชญ กล่าว