การได้ “อำนาจ” นั้นยังไม่ยากเย็นเท่ากับการ “รักษา” เอาไว้ !

การกุมเสียงข้างมาก 314 เสียงในฐานะรัฐบาลใหม่ ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาจไม่ได้ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” พรรคแกนนำปีกรัฐบาล รู้สึกได้ถึงความมั่นคง ปลอดภัยบนเส้นทางของอำนาจในฐานะ “ฝ่ายบริหาร”

เพราะต่างฝ่าย ต่างรู้ดีว่าการข้ามขั้วมาจับมือกันตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่มาจาก “ดีลลับภาคพิเศษ” ดังนั้นการดำรงอยู่ของ “พรรคร่วมรัฐบาล” จึงดำเนินไปในลักษณะที่เรียกว่าต่างคนต่างอยู่ และต่าง “สร้างผลงาน” เพื่อเป็นเกราะกำบังให้แก่ตนเอง

การเดินหน้าผลักดัน “นโยบายเรือธง” ของพรรคเพื่อไทย อย่างนโยบายแจกเงินหมื่น ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต คือเป้าหมายใหญ่ที่พรรคเพื่อไทย ประกาศเอาไว้ตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.2566 ด้วยมั่นใจว่านี่คือ เครื่องมือสำคัญที่จะกระตุกเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว  มากไปกว่าการกระตุ้นเหมือนที่ผ่านมา

ตลอดระยะเวลา4 เดือนที่นายกฯเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศ ในฐานะรัฐบาลใหม่ ได้ชูธงพร้อมประกาศเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่านโยบายเรือธงเรื่องนี้ต้องเจอกับอาการสะดุด รอบแล้วรอบเล่า

ลำพังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก “ฝ่ายการเมือง” จากปีกฝ่ายค้าน ย่อมไม่อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนได้มากพอจนถึงขั้น ทำเอาพรรคเพื่อไทยและนายกฯเศรษฐา ถึงขั้นกุมขมับ  หากแต่ “ข้อเสนอแนะ” และข้อท้วงติงที่ดังออกมาจากฟาก “นักเศรษฐศาสตร์” นักการเมือง ตลอดจนหน่วยงานด้านเศรษฐกิจระดับประเทศ ทั้งสภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เตือนรัฐบาลมาแล้ว 

โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจะออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในโครงการ นั้นจะขัดหรือแย้งหรือพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือไม่

เส้นทางนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ไม่เพียงแต่ไม่ราบรื่น เท่านั้นแต่ยังปรากฎชัดเจนว่า อุปสรรคใหญ่ที่อาจทำให้ไปต่อไม่สำเร็จ ความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่แม้ไม่ได้ให้ “เบรค” แต่ก็เตือนรัฐบาลว่าให้รับความเห็นจากหลายๆฝ่ายเพื่อการพิจารณาอย่างรอบคอบ

และหากจะออกเป็นพ.ร.บ.หรือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น กฤษฎีการะบุว่าสามารถทำได้ เพราะถือเป็นกฎหมายเหมือนกัน แต่ทั้งนี้  ต้องเป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ตาม ม. 53 และ ม.57

ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ถูกตีความตามมาว่า ไม่ได้ฟันธงว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่เสนอแนะว่า รัฐบาลต้องรับฟังความเห็นจากหลายๆฝ่าย ว่ามีความจำเป็นตามกฎหมายวินัยการคลังหรือไม่

อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวที่ทำเอากระตุก ผู้คนในสังคมที่รอคอยเงินหมื่นกันทั่วหน้า เมื่อ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ออกมาเปิดเผยว่า การประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ต้องเลื่อนออกไปก่อน คาดว่าจะรอหลังการประชุมครม.สัญจร ที่ระนองเสร็จสิ้นเสียก่อน และถัดมาอีกเพียงวันเดียว “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ออกมายอมรับว่าดิจิทัลวอลเล็ต น่าจะไม่ทันในเดือนพ.ค.นี้ตามไทม์ไลน์ที่เคยประกาศกันเอาไว้ แต่ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลยังมีหนทางที่จะเดินหน้าต่อ

ความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ดูจะไม่เป็นใจ นักสำหรับพรรคเพื่อไทย และนายกฯเศรษฐา ปรากฏว่า มีความเห็นจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีออก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 500,000 ล้านบาท โดย “สมชาย แสวงการ” สว. อ้างว่าปปช.มีข้อท้วงติงห่วงว่า จะเกิดปัญหาซ้ำรอยกับโครงการจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ดังนั้นเวลานี้แม้นายกฯเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย จะประกาศย้ำหลายครั้งว่าไม่ถอดใจและจะเดินหน้านโยบายแจกเงินหมื่นต่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พลิกฟื้น แต่กลับมีความไม่เชื่อมั่นว่าที่สุดแล้ว พรรคเพื่อไทยอาจใช้วิธี เอาหลังพิง ป.ป.ช. ,กฤษฎีกา และแบงก์ชาติ ที่เสนอความเห็นคัดค้านแล้วหาทางลง ตามมาในภายหลังหรือไม่ อย่าลืมว่า วันนี้ได้มีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อ “หยุด” นโยบายเรื่องนี้เอาไว้แล้ว 

ขณะที่โครงการแจกเงินหมื่นของพรรคเพื่อไทย ยังต้องลุ้นต่อ ว่าจะออกหัวหรือก้อย  ล่าสุดรัฐบาล และนายกฯเศรษฐา กำลังถูกเขย่าอย่างหนักหน่วง เมื่อการประกาศเดินหน้า “โครงการแลนด์บริดจ์” หรือสะพานเศรษฐกิจ โครงการขนาดใหญ่พัฒนาสะพานข้ามทะเลเชื่อมทะเลอันดามันและอ่าวไทย (จังหวัดระนอง - ชุมพร) ตั้งเป้าให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมขนส่ง  มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งกำลังเจอกับเสียงต่อต้านและแรงคัดค้านอย่างรุนแรง !

ระหว่างที่นายกฯเศรษฐา และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”  รมว.คมนาคม เข้าร่วมการประชุมWorld Economic Forum 2024 (WEF) เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส  วันที่ 15-19 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยจะมีการนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ ให้กับนักลงทุน ซึ่งเป็นโครงการที่ นายกฯและรัฐบาลให้ความสำคัญมาก ภายใต้ความเชื่อมั่นว่าโครงการนี้ จะเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก  แต่กลับพบว่า โครงการดังกล่าวมีการต่อต้านจากฝ่ายค้าน ตลอดจนภาคประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว อาทิตัวแทนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร

โดยเรียกร้องให้นายกฯทบทวนและศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ใหม่ให้รอบด้าน ยุติเดินสายนำเสนอโครงการในระหว่างที่การศึกษาผลกระทบยังไม่แล้วเสร็จ  เพราะสมาพันธ์ฯ กังวลว่า โครงการจะส่งผลกระทบกับชาวประมงพื้นบ้าน รวมถึงชาวประมงทั่วไป เนื่องจากการก่อสร้างท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งของโครงการ จะทำลายพื้นที่หากินของชาวประมง

หมายความว่า ในระดับพื้นที่ มีเสียงคัดค้าน ที่ปรากฏชัดเจน และแน่นอนว่าเมื่อนายกฯ ยกคณะไปประชุมครม.สัญจรที่ระนองในวันที่ 21 ม.ค.นี้ จะได้เห็นการเคลื่อนไหวคัดค้านระดับพื้นที่เกิดขึ้นอีกแน่นอน

ขณะที่ทางด้านพรรคฝ่ายค้าน โดยพรรคก้าวไกล เพิ่งประกาศลาออกคณะกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการเป็น “ตรายาง” ให้กับรัฐบาลเพื่อผลักดันโครงการนี้  และที่สำคัญสส.ทั้ง4 คนจากพรรคก้าวไกล เนื่องจากยังได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และไม่สามารถรับรองรายงานแลนด์บริดจ์ร่วมกับกรรมาธิการที่เหลือได้

ทั้งนี้ “ศิริกัญญา ตันสกุล” จากพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า พรรคไม่ได้ขัดขวางโครงการดังกล่าว แต่บทสรุปของรายงานที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยทำ นั้นขัดแย้งกับรายงานฉบับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษา ซึ่งมีผลสรุปว่าโครงการแลนด์บริดจ์ “ไม่คุ้มค่า” ต่อการลงทุน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลตอบข้อสงสัยให้ชัดเจนก่อน

แน่นอนว่าการออกมาเคลื่อนไหวของกรรมาธิการจากพรรคก้าวไกล มุมหนึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า มาจากความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่เมื่อคราวตั้งรัฐบาลร่วมกันไม่สำเร็จแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นเพราะต้องการขวางนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ไปด้วยในตัว เพราะอย่าลืมว่า นอกเหนือไปจากเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตที่พรรคเพื่อไทยวาดหวังจะให้เป็นผลงาน “ชิ้นโบแดง” แล้ว ก็ยังมี “โครงการแลนด์บริดจ์”  อภิมหาโปรเจคร่วมด้วย

สถานการณ์ของนายกฯเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย กับการเดินหน้าผลักดันนโยบายหลัก ทั้งการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต และโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อหวังให้เป็นผลงานสร้างชื่อตอกย้ำ ความเป็นรัฐบาลมืออาชีพด้านเศรษฐกิจที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯเคยทำเอาไว้ในอดีต ดูจะไม่ง่ายดายอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเมื่อใดที่นโยบายเรือธงทั้งสองโปรเจคใหญ่ เข้าข่ายสุ่มเสี่ยง ที่จะขัดต่อกฎหมาย หรือพากันพังทั้งครม. โอกาสที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” จะไม่เอาด้วย ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น

นาทีนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหน หลายคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ทั้งนายกฯเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย จะพานโยบายเรือธง ฝ่าดงวิกฤตไปได้อย่างไร ก็ยังไม่เห็นหนทาง !