หมายเหตุ : “กิตตินันท์ ธรมธัช” นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยและนักกฎหมาย ทนายความ ให้สัมภาษณ์รายการ "สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์" ทางช่องยูทูป SiamrathOnline ออกอากาศเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 ระบุถึงความสำคัญหลักของการเท่าเทียม หลักของการที่จะได้รับการปฏิบัติของผู้คนในสังคม โดยมิติทางกฎหมาย เพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้ได้รับการดูแล คุ้มครองสิทธิ อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง

-ประเมินการสร้างการรับรู้ เจตคติต่อเรื่องความเสมอภาคทางเพศ สังคมเรามีการเปลี่ยนแปลงมากหรือน้อยเพียงใด

ในสังคมไทย เรานำเรื่องเพศมาเป็นตัวกำหนดในเงื่อนไขต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต ทุกวันนี้นำเรื่องเพศเป็นเงื่อนไขในการกำหนด หากพูดถึงการนำเรื่องเพศมาแล้ว สังคมไทยก็ได้ฝากไว้กับระบบทวิเพศมาโดยตลอด คือเกี่ยวกับเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น ดังนั้นเมื่อพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ รากเหง้าของปัญหาขึ้นอยู่เพียงจุดเดียว ซึ่งในเวลานี้ก็พยายามจะทำจุดนี้ให้หายไปจากสังคมไทยก็ใช้เวลานาน 20-30 ปี

รากเหง้าที่พูดถึงก็คือเรื่องของความวิปริตผิดเพศเพียงเรื่องเดียว ที่เขามองว่ากลุ่มหลากหลายทางเพศหรือกลุ่มLGBTQI+ เป็นคนวิปริตผิดเพศ คือไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมองว่าคนคน นี้ไม่ใช่เพศที่ถูกกำหนดมาตามธรรมชาติ ดังนั้นสมัยหนึ่งเราจึงได้ยินคำพูดบ่อย ๆ ว่าความหลากหลายทางเพศก็คือความเบี่ยงเบนทางเพศในเวลานั้น

เมื่อสังคมเราถูกฝังถึงไว้กับความวิปริตผิดเพศ เราจึงคิดว่าคนที่มีเพศ ที่ไม่ใช่เพศโดยกำเนิด เช่น SEXเรื่องของ Male และFemale เรื่อง Gender ความเป็นหญิงและชายต้องสอดคล้องกัน เพราะฉะนั้นหากมีเพศชายและมีความเป็นหญิงหรือเพศหญิงมีความเป็นชาย สิ่งนี้เรียกว่าวิปริตผิดเพศทั้งหมด จนกระทั่งวันหนึ่งสังคมเกิดการเรียนรู้พอสมควร ซึ่งต้องขอบคุณองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ระบุว่าคนรักเพศเดียวกันไม่ได้เจ็บป่วยทางจิต และถอดถอนออกจากบัญชีการจำแนกโรคระหว่างประเทศคือ ICD-10

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประมาณปี 2562 เรื่องของคนข้ามเพศก็ได้ถูกถอดถอนจากบัญชีการจำแนกโรคระหว่างประเทศ ICD-11 ตอนสมัย ICD-10 ปี 2533 ทาง WHO ได้ประกาศออกมา ทางสมาคมจิตวิทยาและสมาคมจิตเวชศาสตร์ก็ได้ระบุว่าการรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ปกติและไม่ได้ผิดเพี้ยน จนทำให้เราเข้าสู่กระบวนการของการเรียนรู้ว่าเราเป็นเพศหนึ่งที่เป็นเพศสภาพทางสังคม ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากคำว่าชายและหญิง การเรียนรู้มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเรารู้สึกว่าเรื่องของสิทธิมนุษยชนได้คืบคลานเข้ามาในสังคม การที่เติบโตขึ้นมาจากความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ จึงได้ค้นพบว่าหลักการทางด้านมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยได้ขานรับตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว มีความตื่นตัวเรื่องนี้เป็นอย่างมาก สิทธิมนุษยชนก็คือสิทธิความเป็นคน หากแปลจริง ๆ สิทธิมนุษยชนกว้างกว่าสิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าประเทศจะไปลงนามในกติการะหว่างประเทศ อนุสัญญาต่าง ๆ 7-8 ฉบับ ล้วนบอกว่าเราไม่สามารถเลือกปฏิบัติด้วยเหตุใด ๆ ทั้ง เชื้อชาติ ภาษา เพศสภาพทางร่างกาย รวมถึงเรื่องเพศ

เมื่อเราเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศไม่ได้ ความหมายก็รวมไปถึงเพศทางสังคม ไม่ใช่เฉพาะ Biological sex แต่รวมถึงความหลากหลายของทางเพศด้วย เราจึงได้ข้อค้นพบว่าเมื่อเรามีสิทธิมนุษยชนแล้ว จากความปกติทางธรรมชาติ เรื่องเหล่านี้ในทางกฎหมายก็ยังไม่ถูกบัญญัติให้มีการปกป้องคุ้มครองดูแลกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ก็ถูกฝังเอาไว้กับระบบทวิเพศ คือการดูแลปกป้องกับเพศชายและเพศหญิงทั่วไปเท่านั้น

ในตอนนี้เราได้คิดกันว่าเมื่อใช้เวลาคืบคลานมาจนกระทั่งการจัดการองค์ความรู้ เราได้ความรู้และจัดการองค์ความรู้ไปแล้ว จึงมีการขับเคลื่อนไปให้ถึงผู้กำหนดนโยบายกฎหมาย เป็นกระบวนการเมื่อเรามีสิทธิและหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เสมอภาคต่อหน้ากฎหมายกับคนที่เป็นชายหญิงทั่วไป เพราะฉะนั้นสิทธิ์คือส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน แต่บางอย่างสิทธิ์ที่ออกมาที่ทางรัฐให้กฎหมายออกมา ก็อาจจะไปรอนสิทธิ์ในความเป็นสิทธิมนุษยชน

เช่น กฎหมายออกให้ชายหญิง บางครั้งหญิงยังมีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าชาย ไม่เฉพาะเพศหลากหลายเท่านั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เรามั่นใจว่าเราเป็นคนปกติตามธรรมชาติที่สาธารณสุขโลกยอมรับแล้ว เราถูกขับเคลื่อนตามหลักการสิทธิมนุษยชนที่สากลทั่วโลกยอมรับแล้ว ประเด็นสำคัญเราต้องขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดมีกฎหมายเพื่อจะคุ้มครองปกป้องดูแลกลุ่มหลากหลายทางเพศให้เท่า ๆ กันกับมนุษย์ชายหญิงทั่วไป

-ทัศนคติ การรับรู้และตระหนักรู้ ที่เปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ช่วยเอื้อสำหรับคนทำงานหรือไม่

ถูกต้อง ความรู้เป็นสิ่งหนึ่ง แต่การตระหนักรู้หมายถึงการรู้ไปถึงปัจจัยที่จะนำไปสู่ความรู้นั้น เราจึงได้ขยายออกมาให้เห็น กระบวนการต่าง ๆ จึงอยากให้เกิดทัศนคติในการยอมรับ หลาย ๆ คนอาจจะบอกว่าทัศนคติเปลี่ยนแปลงลำบากหรืออาจจะเปลี่ยนไม่ได้ แต่ความเป็นจริงทัศนคติเปลี่ยนง่ายมาก ซึ่งมาจากปัจจัย 2 อย่าง คือ 1.จากชุดความรู้ที่มีอยู่แล้วแต่ยังเข้าไม่ถึง 2.ชุดความรู้ใหม่ ซึ่งมาจากองค์ความรู้ที่เราจัดการ ณ วันนี้ 10-20 ปีในประเทศไทยที่คณะทำงานขับเคลื่อนทำงานเรื่องนี้ก็พยายามจะให้ความรู้และจัดการองค์ความรู้ไปให้ถึงผู้ที่มีอำนาจที่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

-ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ในวาระแรก ไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 อยากให้เล่าถึงห้วงของการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการฯ ว่ามีประเด็นที่ต้องโฟกัสเป็นพิเศษหรือไม่

ด้วยความโชคดีที่เราได้รัฐบาลของคุณเศรษฐา ทวีสิน เดิมทีหากสังเกต ข่าวที่เราได้ตามอยู่ตลอดเวลา มีทั้งพ.ร.บ.คู่ชีวิต รวมทั้งเรื่องสมรสเท่าเทียม แต่ความโชคดีสมัยที่ผมเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการชุดก่อนในยุคของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากมีการยุบสภาฯเกิดขึ้น และมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 147 ฉบับปัจจุบัน ต้องยืนยันภายใน 60 วันหลังจากมีการตั้งรัฐบาลใหม่ ตอนนั้นเราก็กลัวว่าจะทันหรือไม่ทันเพราะอยู่ในระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลช่วงชิงกัน

ในท้ายที่สุดก็ไม่ทันจริง ๆ เพราะเปิดประชุมสภาฯ วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 และครบ 60 วันในวันที่ 2 กันยายน 2566 แต่ปรากฏว่ายืนยันกฎหมายไม่ทัน ซึ่งโชคดีที่ไม่ทันเมื่อถึงเวลามีรัฐบาลใหม่ทุกอย่างกลายเป็นการเริ่มต้นที่ศูนย์  ทางพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่น ๆ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แทบทุกพรรคขานรับเรื่องสมรสเท่าเทียมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงทำให้สมรสเท่าเทียมกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนโดยเฉพาะ ที่อธิบายแบบนี้เพื่อให้เห็นว่าเมื่อถึงเวลานี้จะมีแค่กฎหมายสมรสเท่าเทียมเท่านั้น

ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ยืนยัน 60 วันไม่ทัน ในวันที่ 21 ธันวาคม ได้เกิดปรากฏการณ์ซึ่งไม่น่าเชื่อ มีทั้งหมด 4 ร่าง ได้แก่ ร่างของภาคประชาชน ร่างของกระทรวงยุติธรรม ร่างของพรรคก้าวไกล และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้มีการโหวตรับ ซึ่งเป็นคะแนนถึง 369 ที่ยินดีต่อ 10 เสียงที่ไม่ได้ยินดีด้วย เนื่องจากเป็นประเด็นของพรรคที่เกี่ยวกับด้านศาสนา ภายในวันนั้นมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการ 39 ท่าน ก็เป็นเรื่องโชคดีอีกครั้ง เพราะภาคประชาชนได้เข้าไปเลยได้มีสัดส่วน 1 ใน 3 และมีประชุมนัดแรกเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 เป็นการประชุมนัดที่สอง ซึ่งผมเป็นคณะกรรมาธิการที่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย

หากถามต่อถึงความก้าวหน้าของสมรสเท่าเทียมในวาระแรกและวาระสองของชั้นกรรมาธิการที่เริ่มแปรญัตติ เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีอะไรน่าสะดุดเพราะทั้ง 4 ร่าง จะเป็นร่างที่มีความแตกต่างกันเพียงจุดทศนิยมเท่านั้น เพราะหลักการของกฎหมายสมรสเท่าเทียม พูดกันง่าย ๆ คือ ตัดว่าชายหญิงออกและแทนที่ด้วยคำว่าบุคคล นำคำว่าสามีภรรยาออกและแทนที่ด้วยคำว่าคู่สมรส เพราะฉะนั้นประเด็นก็คือมีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ขึ้นชื่อว่าบุคคล ชายหญิง ชายชาย หญิงหญิง ก็ใช้กฎหมายเดียวกัน

จุดแตกต่างในสาระสำคัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็แปรญัตติกัน บรรยากาศการประชุมผ่านไปได้ด้วยดี เช่น อาจจะแตกต่างเรื่องของอายุ 17 ปี หรือ 18 ปีที่จะสมรสได้ ก็ได้มีข้อตกลงกันว่าอาจจะต้องมีอายุ 18 ปี เพราะมองเรื่องของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เรื่องการหมั้น ผู้หมั้น ผู้รับหมั้น ก็ได้มีการถกกันเล็กน้อยถึงเรื่องสินสอด ทองหมั้นต่าง ๆ เพราะฉะนั้นปัญหาต่าง ๆ น่าจะเป็นบรรยากาศที่น่าจะเป็นไปด้วยความงดงาม

และข่าวดีที่อยากจะเรียนให้ทราบคือพยายามอยากจะทำให้เสร็จภายในสภาฯชุดนี้ หมดวาระสว.ก็น่าจะราวเดือนพฤษภาคม เห็นว่าจะพยายามเร่งทำให้เสร็จภายในพฤษภาคมนี้ หากเราผ่านสส. 3 วาระแล้ว ผมมั่นใจว่าผ่าน 100% เพราะบรรยากาศดีมาก ไม่ว่าจะพรรคไหนที่ได้นั่งเป็นคณะกรรมาธิการก็มีทิศทางเดียวกัน เมื่อพูดถึงสว. เชื่อว่าการพิจารณา 3 วาระก็คาดว่าไม่น่าจะมีประเด็นปัญหา และสุดท้ายก็น่าจะออกมาเป็นกฎหมายได้ ช่วงเดือนมิถุนายนเราน่าจะเห็นกฎหมายสมรสเท่าเทียม น่าจะเป็นประเทศที่ 35 ของโลก

-ในฐานะคนทำงานต่อสู้เรื่องกฎหมายเพื่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ ใช้เวลายาวนานในการเดินทางเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็น 10 ปี มีอะไรที่อยากบอกและถ่ายทอดหรือไม่

ประเด็นสำคัญที่สุด เรื่องของความเข้าใจกับการเข้าถึง ยังย่ำอยู่กับที่มาตลอดในเวลา 10 กว่าปี คำว่าเข้าใจคือเข้าใจว่ามีเพศหลากหลายมีตัวตนอยู่ในผืนแผ่นดินไทยหรือโลกใบนี้ เป็นการเข้าใจพอสมควรในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเข้าใจแล้วก็ควรจะนำไปสู่การถึง เข้าถึงคือเมื่อเราเข้าใจว่ามีตัวตนของเพศสภาพแบบนี้อยู่ในตัวตนของประเทศ

การเข้าถึงคือการที่เขาจะเข้าถึงสิทธิและโอกาส ความเสมอภาคหรือการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิและโอกาสเข้าไป การกระทำการเรียนรู้ให้คนเข้าใจกับเข้าถึงใช้เวลายาวนานมาก เราคิดว่าเราต้องนำองค์ความรู้และจัดการองค์ความรู้ให้ไปถึงผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งผมมองว่าผู้กำหนดนโยบายมี 4 ส่วน 1.เรื่องผู้กำหนดนโยบาย(พรรคการเมือง รัฐบาล) 2.ภาคองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งอดที่จะดูเรื่องของชาวโลกเป็นโมเดลไม่ได้

3.ภาคประชาสังคม ซึ่งผมก็อยู่ในนั้นและจะต้องมีการรณรงค์ ลุกขึ้นเพื่อต่อสู้และให้องค์ความรู้ต่าง ๆ และ 4.เจ้าของปัญหาในชุมชน คือคนที่มีปัญหา ที่เป็นLGBTQI+ เข้าไม่ถึงสิทธิ์ เข้าไม่ถึงโอกาสหรือแม้กระทั่งถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศต่าง ๆ ทั้งหมด 4 ส่วน เขาเรียกว่า Sex holder ที่จะขับเคลื่อนตรงนี้

เพราะฉะนั้นชีวิตที่เราขับเคลื่อนกันมา วันนี้ถึงจุดหนึ่งที่หลายฝ่ายใน Sex holder ที่พูดมาทั้งหมดก็รวมพลังไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสมัยก่อนไม่ค่อยไปในทิศทางเดียวกันมากเท่าไร เวลานี้ภาครัฐและผู้กำหนดนโยบายก็เข้าใจในส่วนตรงนี้ การที่เราจะเข้าใจและเข้าถึงสิทธิ์ก็ถูกบริบทในการที่จะปั้นออกมาให้เป็นสิทธิและกฎหมาย เราใช้เวลายาวนานพอสมควรกับการเข้าใจและเข้าถึง แต่ ณ เวลานี้ในระยะท้าย ๆ น่าจะไปได้ไว เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องต่าง ๆ ที่เรายังมีอยู่ไม่ใช่เพียงแค่สมรสเท่าเทียม กฎหมายที่จะขับเคลื่อนต่อไปคือเรื่องกฎหมายรับรองเพศสภาพ ซึ่งก็มี 80 ประเทศในโลกแล้ว ทั้ง ผู้ชายข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ จะต้องเปลี่ยนคำนำหน้านามจากชายเป็นหญิง หญิงเป็นชาย และได้สิทธิหน้าที่ของเพศเปลี่ยนไป

ในเรื่องหลักของเจตจำนงหรือ Self determination ก็จะเป็นกฎหมายลำดับต่อมา กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเหมือนกัน ทั้งหมด 13 กลุ่มเปราะบาง ประเด็น Inter sexualnality ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ หลากหลายทางเพศ ผู้ร่วมอยู่กับเชื้อ HIV พนักงานบริการ แรงงานข้ามชาติ และผู้พ้นโทษเรือนจำ เราก็นำกฎหมายมาขับเคลื่อนสิ่งนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมว่าในระยะต่าง ๆ กฎหมายน่าจะเริ่มถ่ายทอดออกมาให้เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับที่จะดูแลปกป้องคนทุกคนภายใต้คำว่าบุคคลทั้งหมด

เราก็ถือว่าการผลักดันตลอดระยะเวลาที่เราใช้มา เราเหน็ดเหนื่อยมาก แต่ความเข้าใจกับความเข้าถึง ระยะแรก ๆ ใช้เวลายาวนานมาก แต่เมื่อมีจุดหนึ่งที่มาถึงจุดวันนี้ เราน่าจะไปถึงจุดที่สำเร็จเสร็จผลได้พอสมควรและเราก็มั่นใจว่า ประเทศไทยที่ประชาคมโลกเขาดูอยู่ เราต้องรายงานสิทธิมนุษยชนตลอดทุก ๆ 3 ปีครึ่ง หรืองานUniversal Periodic Review (UPR) ที่ว่าปีนี้ถ้าเรามีโอกาสได้ไปรายงานในรอบถัดไป เราคงจะมีความสุขจากการที่ไปบอกเขาว่า ฉันมีสมรสเท่าเทียมแล้วนะ ฉันมีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลซึ่งเป็นกฎหมายกลางของทุกประเทศที่ยอมรับ ฉันมีกฎหมายการรับรองเพศโดยการเปลี่ยนเพศตามหลักเจตจำนง

ผมคิดว่าประเทศไทยน่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ก้าวหน้ามาก ๆ และในเวลาเดียวกันก็อาจจะกลายเป็น Thailand model ที่ทำให้ประเทศอื่น ๆ ได้ถูกขับเคลื่อน มั่นใจเหลือเกินว่าอย่างน้อยที่สุด ครึ่งโลกที่มีอยู่ 200 ประเทศโดยประมาณ ผมคิดว่าประมาณหลัง ๆ อาจจะเกือบ 100 ประเทศในโลกที่อาจจะมีความเสมอภาคทางด้านกฎหมายในทุก ๆ ประเทศที่พูดถึง และเวลานี้โลกอาจจะน่าอยู่ยิ่งขึ้น ก็รู้สึกหายเหนื่อยพอสมควร มาถึงจุดนี้แล้วคิดว่าประเทศไทยน่าจะก้าวหน้าในจุดนี้พอสมควร