วันที่ 19 ม.ค. 2567 ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายปกครองท้องที่ ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุมแนวทางการบริหารจัดการการอนุญาตให้ทำและค้าดอกไม้เพลิง การเยียวยา และแนวทางการแก้ไขในอนาคต 

 

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้แนวทาง และข้อห่วงใย เพื่อให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำเติม ทั้งในเรื่องพลุ และสถานที่เก็บวัตถุอันตราย ซึ่งมีหลายหน่วยงานมาร่วมประชุมในวันนี้ โดยมีข้อสรุปการแก้ปัญหาที่จะบูรณาการทำงานไม่ให้เกิดเหตุระเบิดขึ้นอีก ทั้งนี้ เรื่องของการเยียวยา หากยังไม่ได้ใบมรณบัตรครบถ้วนจะยังไม่สามารถเยียวยาได้ครบทุกคน แต่คาดการณ์ว่าการออกใบมรณบัตรจะออกได้ครบภายในวันนี้ ส่วนการให้คำปรึกษาเรื่องผู้จัดการมรดก เพราะเงินหรือทรัพย์สินที่จะได้จากหน่วยงานต่างๆ แต่ละรายจะได้ไม่เท่ากัน หากบางคนมีบุตรยังเรียนหนังสืออยู่อายุไม่เกิน 25 ปี อาจจะได้อีก 5 หมื่นบาท หรือบางคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวอาจจะได้เพิ่มประมาณ 3 หมื่นบาท และส่วนที่มีความล่าช้าอยู่อีกส่วนคือการตรวจดีเอ็นเอ เพราะสภาพร่างบางรายไม่ชัดเจนจำเป็นต้องมีการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งเราก็อยากให้เร็ว แต่ยังติดเรื่องการรอตรวจดีเอ็นเอ เพราะนายกฯเป็นห่วงเรื่องการชดเชยจึงได้เร่งรัดมา 

 

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการบูรณาการกฎหมายว่าจะแก้ปัญหาในอนาคตอย่างไรนั้น เพราะระยะหลังเหตุโรงงานพลุระเบิดเกิดขึ้นทุกปี จากการตรวจสอบพบว่า หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องมี 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอตสาหกรรม แต่ประกาศที่ออกมาเป็นประกาศรวม ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรมีการปรับประกาศของทั้ง 5 กระทรวงหลัก นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดูประกาศ และจัดทำร่างกฎหมายเพื่อให้ส่วนรวมได้พิจารณาอีกครั้ง ว่าโรงงานประเภทที่มีกำลังน้อยกว่า 50 แรงม้า หรือคนงานน้อยกว่า 50 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายในการควบคุมของกระทรวงอุตสากรรม ก็ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมไปปรับร่างกฎหมายว่าจะควบคุมอย่างไรให้สอดคล้องความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้เวลา 7-10 วัน ให้ส่งกลับมาที่ตน เพื่อที่ตนจะส่งให้นายกฯพิจารณา  

 

เมื่อถามว่า จะมีการหารือกับกระทรวงแรงงานในการพิจารณาทำประกันชีวิตให้คนงานในโรงงานพลุหรือไม่ เนื่องจากมีความเสี่ยง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เคยคุยแล้ว แต่จะฝากผู้เกี่ยวข้องไปดูว่าจะขัดกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่อย่างไร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมวันนี้ด้วย แต่ก็มีการฝากเรื่องไปแล้ว

 

ด้านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เราดำเนินการตามประกาศกระทรวงเกี่ยวกับ โรงงาน โรงประกอบการ สถานที่จำหน่าย และสถานที่เก็บ ว่าต้องมีลักษณะอย่างไร รวมถึงการกำกับดูแลต่างๆเป็นไปตามประกาศตั้งแต่ปี 2547 ดังนั้น รองนายกฯจึงมีดำริให้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยทาง 5 กระทรวง จะเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมวันนี้ ส่วนการปรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2535 ปัจจุบันจะครอบคลุมเฉพาะโรงงานเกิน 50 คน และเกิน 50 แรงม้า ซึ่งขณะนี้ในประเทศมี 8 โรงงานที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.นี้ ส่วนอีก 42 โรงงานไม่ได้อยู่ในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม การจะเข้าไปตรวจสอบเราจึงจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อเข้าตรวจสอบ 42 โรงงานที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ควบคุมไม่ถึง 

 

ขณะที่รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ในส่วนของกรมการปกครองรับผิดชอบตามพ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งพลุเป็นส่วนประกอบของดอกไม้เพลิง นอกจากนี้ยังมีอนุบัญญัติเกี่ยวกับดอกเพลิงหลายฉบับที่กำหนดการจัดเก็บพลุ รวมถึงมีหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยได้กำชับไปยังนายอำเภอ ให้ตรวจสอบสถานที่จำหน่าย สถานที่จัดเก็บ และโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง ซึ่งจากข้อมูลของกรมการปกครองมีผู้ขออนุญาต จำหน่าย ผลิต นำเข้า ดอกไม้เพลิง 1,200 กว่าแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าเฉพาะฤดูกาล ส่วนโรงงานผลิตมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือสั่งการไปยังนายอำเภอให้ออกไปตรวจตราตามอนุบัญญัติที่ออกตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ พร้อมกับประกาศของ 5 กระทรวงข้างต้น ส่วนที่ต้องปรับปรุงต้องดูปัจจัยหลายเรื่อง ทั้งจำนวนสารเคมี ระยะห่างจากชุมชนในสถานที่ตั้ง เป็นต้น 

 

รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวด้วยว่า จากข้อของหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) พบว่าในส่วนของโรงงานพลุที่ระเบิดนพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ในส่วนของโรงงานมีหลายสัดส่วน ทั้งส่วนการผลิต ครัวทำอาหาร รวมถึงที่จัดเก็บสารเคมีในการทำพลุ ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ขณะเดียวกันยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ อาทิ โทรศัพท์มือถือ พัดลม เครื่องปรับอากาศอยู่ในบริเวณเดียววัน จึงอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามาจากสาเหตุใด ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยพิสูจน์หลักฐานซึ่งเราต้องรอ แต่มองว่าในบริเวณดังกล่าวไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้อยู่ นอกจากนี้ จะให้นายอำเภอไปตรวจสอบทุกแห่งที่มีการทำพลุ ทั้งที่ขึ้นทะเบียน และไม่ขึ้นทะเบียน บางที่ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพราะคิดว่าใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการผลิตพลุ ขณะที่โรงงานขนาดเล็กกฎหมายก็เอื้อมไม่ถึงก็ต้องไปแก้กฎหมาย ส่วนพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการแก้ไข ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุญาต และการเพิ่มบทลงโทษ