วันที่ 19 ม.ค.2567 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาฯ พร้อมด้วย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาฯ ร่วมกันแถลงข่าว ยกเลิกการลงพื้นที่พบลุงเปี๊ยก สามีของป้าบัวผัน ตันสุ หรือ ป้ากบ ที่ถูกเยาวชนรุมทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย ที่อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
โดยนายชัยชนะ กล่าวว่า กมธ.ตำรวจได้ติดตามคดีป้าบัวผันมาตลอด เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ เบื้องต้นตำรวจได้ออกหมายจับลุงเปี้ยก สามีป้าบัวผัน และต่อมาได้สอบสวนใหม่ โดยผบ.ตร.สั่งให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาน รองผบ.ตร.ดำเนินการสอบสวนต่อ และได้รับทราบเมื่อคืนนี้ (18 ม.ค.) ว่าได้นำตัวลุงเปี้ยกมารักษาที่รพ.รักษาโรคสุราเรื้อรัง ที่โรงพยาบาลธัญรักษ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทราบว่าลุงเปี๊ยกถูกทรมานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมียศเป็นนาย ดาบตำรวจ มีบุคลิกขาเป๋ ใส่ขาเทียม และรองผู้กำกับสืบสวน ทราบเรื่องแต่ไม่ห้าม ซึ่งขณะนี้มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ปี 65 หรือพ.ร.บ.อุ้มหาย ถือเป็นการกระทำผิดมาตรา 5 มีโทษจำคุก 5 ถึง 15 ปี ปรับ 300,000 บาท
หลังจากนั้นพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ลงพื้นที่ติดตามคดี และสอบปากคำด้วยตัวเอง ทำให้ตำรวจคนดังกล่าวได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้ว รวมถึงผู้กำกับสืบสวนในฐานะที่รับทราบแต่ไม่ห้าม ก็ผิดมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และยังได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีย้อนหลังกับเยาวชนทั้ง 5 คนรวมทั้งสิ้น 5 คดี ถือว่าตำรวจได้เร่งรัดดำเนินคดีนี้ได้อย่างรวดเร็ว
“การที่ไม่ได้ไปพบลุงเปี๊ยก เนื่องจากรักษาตัวอยู่ที่รพ. จึงรอให้ลุงเปี๊ยกอาการดีขึ้นก็จะขอเข้าไปพบอีกครั้งว่ากระบวนการที่ตำรวจได้กระทำแล้วพอใจหรือไม่ และยังต้องการเรียกร้องหรือให้เยี่ยวยาอะไรอีกบ้าง ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯดำเนินการเรื่องนี้” นายชัยชนะ กล่าว
นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า ขอฝากว่าในการทำคดีต้องทำให้เรียบร้อยอย่าเร่งรีบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจคนไหนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นดาบตำรวจและรองผู้กำกับสืบสวนที่มีส่วนใช้ถุงดำคลุมลุงเปี๊ยก ในการไปรีดและทรมานต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไปพึ่งใครได้หากกระบวนการไม่สามาถพึ่งพาได้ เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีผู้กำกับโจ้ เมื่อมีกฎหมายอุ้มหายแล้ว ดังนั้นต้องไม่เกิดขึ้นอีก เพราะวิธีการสืบสวนวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาไปอุ้ม หรือเอาไปรีด ดูกล้องวงจรปิด
ส่วนเรื่องข้อกฎหมายที่ต้องมีการแก้ไขที่จะเอาผิดเยาวชน ต้องยอมรับว่ากฎหมายเปิดช่องให้เยาวชนพอสมควร คิดว่าถ้าจะมีการแก้กฎหมายในอนาคตก็ต้องแก้ในส่วนที่กระทำผิดที่กำหนดว่าการกระทำความผิดฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาไตร่ตรองไว้ก่อน ก็ควรที่จะให้บุคคลนั้นออกจากสถานพินิจแล้วเอาไปคุมขังที่เรือนจำกลาง ไม่เช่นนั้นในอนาคตเยาวชนเหล่านี้เป็นเครื่องมือ จึงมองว่าถ้าเรามีช่องว่างทางกฎหมาย ก็มีช่องว่างการกระทำความผิด
ด้านนายณัฐชา กล่าวว่า ทางสังคมเรียกร้องจำนวนมากคือการคุ้มครองเรื่องกฎหมาย บทลงโทษเด็ก เนื่องจากเด็กที่กระทำความผิดรุนแรงทำให้เสียชีวิต ในกฎหมายประมวลอาญามาตรา 73, 74 และ 75 ระบุไว้ว่าเด็กอายุไม่เกิน 12 ไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ผู้พิพากษาสามารถสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามวงเล็บ 1, 2,3 ให้ส่งไปสถานพินิจ แต่อยู่ได้ไม่เกินอายุ 18 เต็มที่ ซึ่งสังคมมองว่าเป็นการลงโทษที่เบามาก ไม่สมควรแก่เหตุ ซึ่งในการประชุมกมธ.เมื่อวานนี้ (18 ม.ค.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกันอีกครั้ง และได้พูดคุยกันบทลงโทษ แต่ก็ยังไปไม่ถึงการแก้กฎหมาย เพราะกฎหมายฉบับนี้เจตนารมย์ต้องการที่จะให้โอกาสเด็กที่พลาดพลั้งไม่ได้กระทำความผิด ไม่ต้องมีเป็นตราบาปไปตลอดชีวิต
“แต่ในหลายกรณีที่เด็กกระทำความผิด เกินกว่าเหตุ และรุนแรง กระทำความผิดวนเวียนซ้ำซาก อาจจะเป็นเพราะคุ้นชินต่อการกระทำความผิด และทุกครั้งที่กระทำความผิดไม่ได้รับโทษ หรือมีการใช้กลไกบางอย่างช่วยเหลือ สภาพแวดล้อมหรือครอบครัวส่งเสริมให้กระทำความผิดหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องพูดอย่างจริงจัง และบทลงโทษของเด็กก็พึ่งเปลี่ยนปี 65 จาก 10 ปีเป็น 12 ปี เพราะฉะนั้นการที่จะเปลี่ยนกลับไปกลับมาเพื่อกรณีใดกรณีหนึ่ง กมธ.ก็ยังไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้หยุดแค่นี้ ในสัปดาห์ต่อไปจะเชิญนักสิทธิมนุษยชน และตัวแทนจากกระทรวงพม.กรมกิจการเด็ก มาร่วมพูดคุย เมื่อเกิดเหตุที่รุนแรงหลายๆเกิดขึ้นจะดำเนินการอย่างไร” นายณัฐชา กล่าว
นายณัฐชา กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม นอกจากคดีฆ่าคนตาย และมีกี่คดีที่ผู้กระทำความผิดไม่ได้รับโทษ และมีกระบวนการของเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ โยนความผิดให้บุคคลที่เป็นโรคจิต หรือมีฐานะยากจน และคนที่ไม่สามารถต่อสู้ทางคดีความได้ ที่ไม่ได้เป็นข่าว ก็น่าจะเกิดเหตุกาณณ์อย่างนี้ไปแล้วอีกหลายๆครั้ง ถ้าไม่มีวัตถุพยานที่ไม่ใช่กล้องวงจรปิด วันนี้ลุงเปี้ยกก็อยู่ในเรือนจำแล้ว หมายความว่ากระบวนการการให้ความยุติธรรมกับประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้ความจริงปรากฏ วันนี้ถ้าเราไม่มีพยานหลักฐานเป็นกล้องวงจรปิดเราก็จะมีการจับกุมผู้บริสุทธิ์ไปคุมขังแทนกลุ่มที่กระทำความผิดทีแท้จริง
“ดังนั้นกรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างต่อวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม จึงได้หารือกับประธานกมธ.ตำรวจ เราอาจจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือเป็นประเด็นกันอย่างจริงจังว่าสุดท้ายแล้วกระบวนการยุติธรรมหรือวิธีพิจารณาคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจแสวงหาความจริงได้มากน้อยแค่ไหน และที่ดำเนนิการไปแล้วครึ่งทางหรือกลางทางแล้วสุดท้ายเป็นกระบวนการที่ผิด การที่จะย้อนกลับมาดำเนินการใหม่สามารถทำได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ในสำนวนนั้นจะมีความผิดหรือไม่ คลิปเสียงที่ออกมา ทำไปแล้วครึ่งทางก็อยากจะทำต่อให้จบ ก็คือจะไปจับคนที่ไม่ได้ทำผิดต่อไปจำคุกให้ได้ พอมีหลักฐานก็มีข้อโต้แย้ง” ประธานกมธ.สังคมฯ กล่าว
นายณัฐชา กล่าวอีกว่า ส่วนคนเร่ร่อนและไร้ที่พึ่ง น่ากังวลอย่างมาก ทางกมธ.ได้เชิญตัวแทนกระทรวง พม.,มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิอิสระชน มาพูดคุยว่ากลุ่มไร้บ้าน ไร้ที่พึ่งที่อยู่บริเวณในจุดต่างๆ แล้วถูกกระทำจากกลุ่มอิทธิพล กลุ่มที่พยายามกลั่นแกล้ง เป็นพฤติกรรมเลียนแบบและสร้างความรุนแรง เมื่อเขาตอบโต้กลายเป็นเขาผิด ซึ่งเกิดขึ้นในหลายๆพื้นที่ ซึ่งกระทรวงพม.ยอมรับว่าทั่วประเทศมีทั้งหมด 11 แห่งมีบุคคลเหล่านี้มาอยู่ในกระทรวงเพียง 5 พันคน หมายความว่ายังมีอีกเป็นหมื่นคนที่ยังอยู่ตามจุดต่างๆแล้วเป็นกรณีคล้ายๆป้าบัวผัน
กมธ.จึงได้เรียนรู้เป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งจะมีกรณีป้าบัวผันอีกกี่กรณีที่ยังไม่ถึงแก่ความตายแล้วทุกทรมานอยู่ข้างทาง ซึ่งทางกท.พม.และกมธ.ไม่นิ่งนอนใจจะร่วมกันหาแนวทางในการบริหารจัดการกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง และไร้บ้านแบบนี้เราจะดำเนินการอย่างไรให้เขามีความปลอดภัย แน่นอนถ้าเขามีคดีความเขาไม่สามารถในการต่อสู้ในทางคดีเป็นเรื่องที่กมธ.จะต้องดำเนินการต่อไป เราจะหาข้อสรุปเรื่องนี้ให้ได้