บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

ด้วยท้องถิ่นมีบริบท (Context Clue) ที่แตกต่างกัน

เป็นประเด็นขึ้นมาทันทีว่า การจัดตั้งธนาคารขยะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องทำอย่างไรบ้าง คือบังคับทุก อปท. หรือไม่ หรือทำทุกตำบล หรือเลือกทดลองทำโครงการนำร่องเพียง 1 หมู่บ้าน/ชุมชน (กองทุน) ในแต่ละแห่งที่มีบริบทจัดการขยะชุมชน (Solid Waste) ไม่เหมือนกัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องให้มีท้องถิ่น หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมาบริหารจัดการไปตามท้องที่ต่างๆ ของประเทศ ก็เพื่อให้ท้องถิ่นได้ทำตามบริบทของแต่ละพื้นที่นั้นเอง

นโยบายส่วนกลางแม้จะเป็นเรื่องดี ครั้นพอลงไปปฏิบัติในพื้นที่ โดยมีหน่วยงานราชการตามมาคอยจี้ให้ทำเอายอดผลงานโดยไม่ดูบริบทของท้องถิ่น แถมหน่วยงานนั้นก็ไม่ได้ทำเอง แต่ท้องถิ่นเป็นผู้ทำงานนั้นแทนอีก ทั้งๆ ที่ไม่ได้สังกัดราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนกลางแต่อย่างใด ถือเป็นความอึดอัดของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เป็นฝ่ายประจำเป็นอย่างมาก เพราะว่าบางพื้นที่หลายแห่งทำธนาคารขยะประสบความสำเร็จดีอยู่แล้ว แม้บางพื้นที่อาจทำไม่ดีก็ตาม เป็นประเด็นเรื่อง “การคัดแยกขยะ” (Recycle) หลายแห่งช่วยท้องถิ่นอย่างได้ผล พวกมาเลือกขยะตอนดึก ไม่เหลือไว้ให้คนงานได้เก็บขนเหลือเพียงขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไปเท่านั้น คือคนบ้านนอกชาวบ้านเขามีแยกขยะกันเองเยอะ อยากให้คนสั่งมาเดินทำเอง เพราะงานของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีเยอะแล้ว

ข่าวกระทรวงมหาดไทยโปรโมท “โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ที่เริ่มมาจากความสมัครใจตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้ชื่อ Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER โดยการนำเอาถังขยะเปียกไปโชว์ที่ต่างประเทศ เหมือนเช่นโครงการโคก หนอง นา โมเดล ซึ่งถือเป็นความสำเร็จเป็นโครงการที่ดีที่ประเทศไทยสามารถนำอวดอ้างต่อโลกได้ แต่ในทางกลับกันอีกมุมหนึ่งนั้นกลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อมีการประกาศเริ่มดำเนินการ “โครงการธนาคารขยะ” ขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง

เมื่อปลายปีที่แล้ว กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการธนาคารขยะ ซึ่งต่อมาในวันที่ 9 มกราคม 2567 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก็ได้ซักซ้อมแนวทางในการดำเนินการตามโครงการบริหารจัดการ “โครงการธนาคารขยะชุมชน” ออนไลน์ที่คนท้องถิ่นไม่ค้าน แต่มีข้อสังเกตที่อยากจะเล่า

“โครงการธนาคารขยะ” (Recyclable Waste Bank) มี TimeLine 3 ระยะ

เริ่มมีเสียงวิพากษ์ทันทีตั้งแต่เริ่มต้นขับเคลื่อนเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 “โครงการธนาคารขยะ” 3 ระยะ คือ รายงานระยะที่ 1 ภายใน 22 มกราคม 2567 ระยะที่ 2 ภายใน 9 กุมภาพันธ์ 2567 ระยะที่ 3 ภายใน 29 กุมภาพันธ์ 2567 มีการรีเช็ก หรือ ทบทวน หรือ ทวนสอบ หรือแก้ไข ก็สุดแท้แต่บริบทของแต่ละ อปท. ที่ผลสำเร็จอาจต่างกันไปตามบริบทของแต่ละแห่ง ปัญหาโครงการธนาคารขยะที่เกิดขึ้น ก็คือเกรงว่าประชาชนจะไม่ทำ ไม่ร่วมมือ อปท. มีข้อสงสัยห่วงใยว่า จะมีชุมชนใดที่มีชาวบ้านให้ความร่วมมือมากน้อยเพียงใด เพราะหลายแห่งเขาก็ทำอาชีพนี้กันอยู่ บางชุมชนมีเยอะหลายราย คือเขาทำโครงการคัดแยกขยะ (waste segregation หรือที่เรียกว่า การรีไซเคิลนำขยะกลับไปใช้ใหม่) อยู่เป็นผลดีแล้ว ทางอำเภอก็ส่งหนังสือมาจี้แล้ว แม้ว่ามีบางที่สามารถทำได้เลยทันที ทำให้มีการเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ทำธนาคารขยะจนได้ผลดีเลิศแล้ว

ในการบริหารจัดการลดขยะนั้นต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการธนาคารขยะ, โครงการคัดแยกขยะชุมชน (รีไซเคิล), โครงการกำจัดขยะรวม (Cluster),  โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน, โครงการ Carbon Credit ซึ่งโครงการเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เป้าหมายเพื่อ “ลดปริมาณขยะปัญหาสิ่งแวดล้อม” แม้ว่าในการดำเนินการนั้นจะมีการติดตามทวนสอบ (รีเช็ก) ไปยังผู้ปฏิบัติ ในที่นี้ก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาถึง 3 รอบแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการก็ยังไม่ชัดเจน หรือมีตัวชี้วัดว่า ประสบผลสำเร็จแล้วเพียงใด

หลากหลายวิธีการแก้ไขปัญหาขยะ

อปท.หลายแห่งอาจมีเทคนิคการจัดการขยะหลายรูปแบบที่ค่อนข้างดี บางแห่งมี “ตลาดนัดรีไซเคิล” ให้ผู้ซื้อพบผู้ขายโดยตรง โดยมีกรรมการหมู่บ้านเป็นคนกลางคอยประสาน และรวบรวมข้อมูลปริมาณขยะ

มีตารางบันทึกรายการขยะแต่ละชนิด ราคาต่อ กก. ยอดเงินแต่ละรายการ ก่อนออกจากหมู่บ้าน ต้องส่งเอกสารรายงานการขาย ให้คณะกรรมการรวบรวม ได้ทั้งยอดเงินด้วยว่าเท่าใด มีเงินเข้ากองทุนธนาคารขยะไว้หมุนเวียน หลายแห่งจะไม่เน้นสวัสดิการ เพราะชาวบ้านต้องการเงินสดมากกว่า   

ท้องถิ่นมีจุดดีตรงที่ยืดหยุ่นได้ตามบริบทของแต่ละแห่ง แต่เจ้าหน้าที่อาจปวดหัว หากที่ใดมีผลประโยชน์ และมีงานไม่เป็นระบบ อปท. บางแห่งอาจพร้อม แต่บางแห่งก็ไม่พร้อม บางแห่งพูดขอความร่วมมือกับชาวบ้านได้ง่าย แต่บางแห่งก็พูดจูงใจชาวบ้านไม่ได้ ครั้นจะไปบังคับชาวบ้าน หากเจอชาวบ้านแข็งขืนก็อาจแย่ เปลืองตัวเจ้าหน้าที่เปล่าๆ เช่น เขาบอกว่า เขาแยกเองขายเองราคาดีกว่า ไม่ต้องวิ่งมาส่ง มีร้านไปรับถึงบ้าน ตรงจุดนี้ ก็ต้องตอบชาวบ้านเขาให้ได้ว่า การบริหารจัดการของ อปท.เราดีกว่าเขาอย่างไรบ้าง หรือหากที่ใดชาวบ้านไม่ทำกัน ก็อาจใช้วิธีการที่เขาทำโครงการคัดแยกขยะ (รีไซเคิล) สำเร็จหรือโอเคแล้ว เพื่อยกระดับเป็น “โครงการธนาคารขยะ” บางแห่งชาวบ้านเขาก็พร้อมเอามารวมกับโครงการธนาคารขยะ เพื่อส่วนรวมเป็นโครงการเดียวกัน เป็นต้น จึงแล้วแต่บริบทของท้องถิ่นแต่ละแห่งไป

ในมุมกลับมีจุดอ่อน เพราะข้างบนสั่งการจะไม่สนใจเรื่องแผนพัฒนาท้องถิ่น และการจัดหางบของท้องถิ่นเลย แม้ว่าประเทศไทยยึดติดกับนโยบายผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม พ.ศ.2504 นโยบายเดียวกันถูกโยนมาทั้งประเทศ เลี้ยงหมูกันทั้งประเทศ ทำธนาคารขยะกันทั้งประเทศเหมือนกัน คนทำไม่ได้คิด คนคิด(จากส่วนกลาง)ไม่ได้ทำ ทั้งๆ ที่แต่ละพื้นที่มีบริบทต่างกัน ไม่รู้คิดได้ยังไงกัน คนคิดๆ ได้ทุกอย่าง นโยบายแบบนี้จึงน่าเบื่อ ที่จริงต้องฟังเสียงสะท้อนจากคนทำบ้าง ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม ฉะนั้น หลักวิธีการเบื้องต้น “ลำดับแรก” ที่ต้องเข้าใจตรงกันก็คือ ให้คนพื้นที่คิดให้ตรงกับที่ตัวเองต้องการก่อน มิใช่การยัดเยียด คนข้างบนก็จินตนาการเพื่อสนองนโยบายนาย อย่าคิดว่าสิ่งที่ตัวคิดถูกต้องเหมาะสมแล้ว จงงดสูตรสำเร็จ (One size fits all) ที่คิดมาจากส่วนกลางเสีย เพราะเป็นภาระว่า อปท.จะสามารถปรับระเบียบหลักการที่ส่วนกลางนำเสนอให้เหมาะสมกับ อปท.และพื้นที่ของตนได้หรือไม่ เพียงใด อาจปรับไม่ได้เลยก็ได้ ประเด็นก็คือ ชาวบ้านสังคมเมืองจะไม่สนใจการคัดแยกขยะเพื่อขายเลย กล่าวคือโครงการธนาคารขยะอาจใช้ปกติทั่วไปในเขตเมืองใหญ่เหมือนเขตชนบทไม่ได้

ยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดและพบเช่น (1) เอาเงินจากไหนมาทำกองทุน ก็เอาเงินจากคนมาขาย มาทำกองทุน เช่น กำหนดให้เขาขายติดต่อกัน ครบ 6 เดือน ถึงเกิดสิทธิ นั้นคือเงินทุนก้อนแรก (2) ปัญหาเรื่องร้านซื้อ ใช่อยู่ว่าเขามีรถมารับถึงบ้าน แต่รายการราคาของ ไม่เท่ากันบางแห่งของรถรับซื้อราคาดีกว่า แพงกว่าเอาไปขายเองด้วยซ้ำ หากแห่งใดรับซื้อเองได้ การกำหนดราคาก็อิงจากร้านที่จะขาย กรณีเช่นนี้ อปท.ก็ควรแยกและคัดแยกขยะเอง โดยแยกเองขายเอง ออมเอง แม้ว่าจะเป็นภาระที่เหนื่อยและใช้คนช่วยเยอะก็อาจดีกว่า แต่อีกวิธีคือการหาร้านค้าเอกชนมารับซื้อขนกลับเองในวันนั้น และจ่ายเงินให้ชาวบ้านวันนั้นเลย แค่เพียงเช็คว่ามีชาวบ้านรายใดมาขายบ้าง เพื่ออำนวยความสะดวก ต้องพิจารณาว่าเมื่อมีคนรับซื้อแล้ว เราจะดึงเขาเข้ามาช่วยซื้อได้อย่างไร (3) หากที่ใดมีการบริหารจัดการคัดแยกขยะ (รีไซเคิล) ที่ค่อนข้างดีแล้ว ลองคิดดูมันอาจกระทบกันไปหมด ทั้งเอกชนที่รับซื้อของเก่าทั้งรายใหญ่รายเล็ก ชาวบ้านที่รับซื้อรายย่อย ซาเล้ง เสียประโยชน์ขาดรายได้ อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนได้รับผลกระทบเสียหายได้ (4) ปัญหาหลักปัญหาใหญ่ที่ประสบ คือ การประคับประคอง “กองทุน” (ธนาคารขยะ) ให้อยู่ตลอดรอดฝั่ง ชาวบ้านลาออกเพราะบัญชีติดลบ จากเงื่อนไขโมเดลการได้รับ “สวัสดิการขยะประกันชีวิต” (สมาชิกทั้งหมดที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน คูณด้วย 40) หาก เดือนหนึ่งสมาชิกเสียชีวิต 3-4 คนติดกัน 4 เดือนก็ขาดทุน เพราะชาวบ้านขายขยะนำฝากบัญชีธนาคารขยะแค่ 20 บาท แต่หักค่าทำศพ 4x20=80 บาท ก็ติดลบไป 60 บาท บางรายติดลบเรื่อยทุกเดือน แม้เป็นสมาชิกครบ 6 เดือนและมีเงินคงบัญชีไว้อย่างน้อย 300 บาท ก็เกิดสิทธิแล้ว แต่หากมีสมาชิกเสียชีวิตเก็บค่าทำศพมาก การตั้งค่าจ่ายเงินทำศพไว้เยอะไม่สมดุลกับรายได้ที่ชาวบ้านขายขยะได้ ก็อาจขาดทุนไม่มีเงินหักจ่ายค่าทำศพ เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีสวัสดิการแลกของตามแต่ที่เคยทำกันมา เช่น ขยะแลกไข่ แลกของ รับรางวัล ที่เคยทำกันมาบ้างแล้ว เช่นในส่วนของขยะพิษ ขยะอันตราย แบตมือถือ เป็นต้น

นั่งงงในระบบการบริหารจัดการขยะจากส่วนกลาง

มีการนำเสนอสูตรสำเร็จโดยส่วนกลาง เป็นแพ็กเกจ “วาระขยะแห่งชาติ” ยกมาทั้งประเทศ มี อปท.เพียงไม่กี่แห่ง แม้ว่าจะเป็นการรวบรวมประสบการณ์ข้อดี หรือ “นวัตกรรม” (Innovation) มาจากท้องถิ่นใดที่ปฏิบัติโครงการธนาคารขยะอย่างเป็นผลดี (เลิศ) หรืออ้างว่า มีเวทีรับฟังประชาชนได้สำรวจสรุปหาความเห็นมาดีแล้วเพียงใดก็ตาม ก็เพื่ออ้างในความชอบ(ธรรม) เพราะการใส่พานให้ทำแบบสูตรสำเร็จเหมือนกันทั่วประเทศ มีดีตรงไหน ต้องแยกประเด็นกัน มีหลายๆ คำถาม หรือหลายข้อสงสัยที่ถามไป หรือ อยากจะถาม แต่ยังไม่มีคำชี้แจงหรือคำตอบที่ยุติ เพราะที่ประชุมใหญ่เกินที่จะถามแบบเจาะลึกได้ ด้วยมีผู้เข้าประชุมจำนวนมาก ใน zoom meeting มีทั้งท้องถิ่นอำเภอและจังหวัด เช่น งบประมาณธนาคารขยะจะเอามาจากไหน ที่บอกมาไม่แจ้ง แม้แต่ตาชั่งจะซื้อจากงบใด ไม่บอกแหล่งเงินโครงการมันก็อาจล่มตั้งแต่ยังไม่ได้ทำก็ได้ เพราะขอรับงบอุดหนุนก็ต้องมีในแผนและดำเนินการสาธารณะมาแล้ว 1 ปี แต่โครงการธนาคารขยะเพิ่งแจ้งมาเมื่อเดือนธันวาคม 2566 แล้วจะเอาเงินจากงบที่ไหนได้, คำถามว่าทำไมต้องหอบขยะไปตลาดนัดขยะ เมื่อมีคนซื้อมารับถึงบ้าน การขนขยะมาขายที่ตลาดนัดขยะ ค่าน้ำมันรถแพงกว่าเงินค่าขายขยะ, หลายแห่งทำมาดีแล้วหากตั้งธนาคารขยะเสร็จอาจกระทบคนรับซื้อในหมู่บ้านอีก จะมาทำใหม่อาจไม่คุ้มค่า ถ้าเป็นเอกชนก็เจ๊งค่าบริหาร, การรายงานก็เป็นภาระมากเพราะมีการเร่งยอดผ่านจังหวัดอำเภอเหมือนโครงการขยะเปียก ทวงในการประชุมผู้บริหารประจำเดือนทั้งในไลน์ นายกเรียกมาถามอีก เจ้าหน้าที่อำเภอก็อ้างแต่นายอำเภอว่าจะเอาเดี๋ยวนี้วันนี้ ฯลฯ สารพัด

จะซื้อขยะเองหรือหาคนมาซื้อ มันก็มีปัญหาอยู่ดี บางแห่งต้องทดลองหาจุดพอดี ช่วงแรกแยกเอง แต่หลังมาหาร้านมาซื้อก็จบไป เพราะการประชาสัมพันธ์เน้นให้ชาวบ้านคัดแยก ที่สามารถรายงานยอดผลงานเป้าหมายว่า คิดเป็นเงินออกมาเท่าใดได้ หากถ้าทำแบบสูตรสำเร็จที่เสนอมาต้องเจ๊งแน่นอน, การมีรูปแบบบริหารเป็น “คณะกรรมการระดับหมู่บ้าน” “คณะกรรมการกองทุนธนาคารขยะ” (บัญชีกลางของธนาคารขยะ) และมีคณะกรรมการ คณะทำงานฯ ต่างๆ ตามรูปแบบให้ครบ แต่สุดท้ายเมื่อมีเงินฝากแล้ว การทำบัญชีบริหารจัดการคงไม่พ้นภาระ อปท. เพราะชุมชนที่ยังไม่เข้มแข็ง เมื่อมีการใช้งบประมาณมีเงินที่จะดำเนินการเมื่อใด หากทำส่งเดชหน่วยตรวจสอบก็ฟันเล่นงานอีก ส่วนหน่วยสั่งก็ลอยตัว

หลายเรื่องคนคิดสั่งมาจากข้างบนอาจไม่รู้ เพราะบริบทแต่ละพื้นที่ต่างกันมาก และบางเรื่องอาชีพคนในพื้นที่มันสัมพันธ์กันไปหมด เพราะ เป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกันอย่างดีแล้ว การได้รับผลกระทบใดๆ จะสร้างความเสียหายต่อจิตใจของคนเหล่านี้ได้ สิ่งที่รัฐน่าทำคือ “ตัด” ระบบผูกขาดของนายทุน ต่างประเทศเขามีกฎหมายห้ามทำธุรกิจผูกขาด เพื่อป้องกันการกำหนดราคาและเงื่อนไขของบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่คุมครบวงจร นี่เป็นเหตุผลภาพรวมที่คน อปท. ไม่อยากทำ เพราะการจับเสือมือเปล่าแถมงบก็ไม่ให้ อ้างช่วยเหลือเศรษฐกิจรายได้แก่ชาวบ้าน แต่ทำยุ่งยากซับซ้อน บุคลากรท้องถิ่นเฉพาะทางก็ขาดแคลน มีงานฝากเยอะเกิน ดูจะเป็นงานถนัดของส่วนกลางที่เอาหน้าผลาญพลังงานและงบท้องถิ่น นี่ยังไม่รวมงานอื่นก่อนหน้าที่มีคนวิพากษ์ไปแล้ว คือ งานตั้งด่านชุมชนเทศกาล 7 วันอันตราย, งานส่งเสริมการเกษตรบางโครงการ เช่น ปุ๋ยชีวภาพ, ผลิตอาหารสัตว์, โรงสีข้าว, โคก หนอง นา, ปลูกพืชตามสายพันธุ์ จึงมักเกิด “โครงการร้าง” ไม่ดูข้อจำกัดบุคลากรเฉพาะทางเลย

วิตกว่าหากต้องเริ่มทำโครงการธนาคารขยะจริงๆ ต้องเริ่มอย่างไรดี

เป็นข้อวิตกจริตที่สุดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ณ เวลานี้ แม้แต่ในพื้นที่ที่ชาวบ้านแยกขยะได้ดีแล้วก็ไม่เว้น หลายแห่งมีคนขายกับรถที่มารับซื้อถึงหน้าบ้านเลย ถือเป็นธุรกิจที่ดำเนินการเป็นปกติสุขดี แต่ครั้นมาเจอนโยบายนี้เข้า เริ่มเกิดความเครียด ความงงฉงนปนๆ กันขึ้นมาทันที เอาหละ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วก็ลองสักตั้ง

อันนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ เป็นข้อเสนอสั่ง สป.ให้ไปหาและมีข้อมูลพร้อมความประสงค์ความต้องการของชาวบ้านไว้เพื่อทำเป็นโครงการฯ อ้างอิงได้ ส่วนคณะกรรมการต่างๆ ก็แต่งตั้งไปให้ครบ การเก็บข้อมูลจะไปถอดแบบ ประชุมประชาคมเจ้าหน้าที่ก็ไปคิดต่อ อันไหนขับเคลื่อนได้ก็ขับเคลื่อน หากไม่เกิดประโยชน์ หรือมีวิธีการอื่นที่ลดขยะได้ดีกว่านี้ ก็เป็นข้อมูลเอาไว้รายงานผลงานสิ่งที่ดำเนินการ ปัญหาที่ว่า หากหมู่บ้านชุมชนใดชาวบ้านคัดแยกขยะดีอยู่แล้ว มีคนมาซื้อดีอยู่แล้ว มีหมู่บ้านชุมชนต้นแบบแล้ว ก็เก็บข้อมูลมาพิเคราะห์ในผลดีนั้น และ ผลเสียที่จะเกิดขึ้น หากทำตามแนวทางที่ส่วนกลางกำหนดให้ หากมีชาวบ้านที่ยังไม่แยกขยะก็ไปหาวิธีการ ตามแนวทางที่สั่งการมา โดยมีการให้ความรู้ประชาสัมพันธ์ตามช่องทางต่างๆ ด้วย อีกทั้งต้องวางแผนคาดการณ์ว่า จะทำอะไรกิจกรรมใดบ้าง ปัญหาอาจเครียดหนักหากพบว่ามีชาวบ้านพวกไม่เอา ไม่ทำและไม่โอเคมีมากกว่า หากสุดแล้ว อปท.จะไม่ทำ เพราะแก้ไม่ไหวก็อาจต้องเชิงบังคับ (ชาวบ้าน) ทำ เพื่อจะได้มีรายงานผลงานให้หน่วยเหนือทราบ เช่นการรณรงค์ต่างๆ แบบมีป้ายประชาสัมพันธ์ว่าทำแล้ว เล่นตามบท

เป้าหมายในการดำเนินการธนาคารขยะควรเน้นให้ทุกครัวเรือน เห็นคุณค่าของขยะ และคัดแยกด้วยตัวเอง จะได้ยั่งยืนกว่า ขอความร่วมมือกำนันผู้ใหญ่บ้าน/ผู้ช่วยฯ/ส.อบต./ส.ท./อสม./ชาวบ้าน โดยเฉพาะ อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ขอชมว่า อสม. นี่แหละคือ “กลไกทำงานที่สุดยอด” ต่างจาก “อถล.” (อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ตามระเบียบกระทรวง ทส.) ที่มีแต่ “เป้าลม” กล่าวคือ ไม่มีอยู่จริงอุปโลกน์เสียส่วนมาก อาจมีการประสานที่การรับซื้อด้วย ถ้ากังวลปัญหาที่กักเก็บขยะ ก็ไปติดต่อคนซื้อมา หายากหรือไม่รู้จักคนซื้อก็ใช้นัดวันซื้อขาย (ตลาดนัดรีไซเคิล) แล้วทำแบบบันทึกข้อมูลรายการซื้อขายขยะ รวบรวม น้ำหนัก ชนิด ยอดเงิน คำนวณค่าคาร์บอน จะง่ายกว่า อย่ารีบไปคิดอะไรที่ซับซ้อนมากขอเริ่มต้นนำร่องเพียง 1 หมู่บ้าน/ชุมชนก็พอ เพราะอยู่ในกรอบแนวทางปฏิบัติที่ไม่น่าจะแตกต่างกันในรายละเอียดของแต่ละแห่ง

สรุปภาพรวมว่า “โครงการธนาคารขยะ” นี้ดีมีประโยชน์ ต่อประชาชนคนท้องถิ่น แม้จะแย้งว่ามีผลเสียบ้าง และข้าราชการท้องถิ่นควรจะปรับตัวรับมืออย่างไรดี ต่อหลากประเด็นอาทิ งานที่ซ้ำซ้อน เกินหน้าที่ เปลืองงบ ประโยชน์น้อย งานหนัก ท้องถิ่นขาดเจ้าหน้าที่ไม่พอ คนขาดขวัญกำลังใจ ถอดใจไม่ได้หน้า แรกเริ่มจาก “โครงการคัดแยกขยะ” เน้นการนำขยะกลับไปใช้ใหม่เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะ ต่อมาก็ “โครงการถังขยะเปียก” จากแนวคิดเพื่อแก้ภาพลักษณ์ของถังขยะที่ไปไว้หน้าบ้านใครมันเหม็นไม่งาม เขาก็รังเกียจ และการแก้ปัญหาเครื่องคัดแยกขยะพัง บ่อขยะเน่า ที่จริงเอกชนเขาทำเป็นผลดีเลิศมานานแล้ว เช่น แก๊สจากขยะ, ปุ๋ยจากขยะ, อาหารไก่ ปลา หมู จากเศษอาหาร (ใช้ก่อนเศษอาหารเน่า) บริษัทซีพีและโครงการหลวงทำได้ครบวงจรแล้ว ท้องถิ่นจะมาทำอีกมันน่าจะได้ผลเลิศน้อยกว่า ต่อมาก็ถึง “โครงการธนาคารขยะ” เพื่อหวังคัดแยกขยะแล้วยังไม่พอ อยากให้คนในชุมชนมีรายได้ มันมาเป็นลำดับอย่างนี้ ขออย่างหนึ่งคือ ขอใจให้แก่ “บุคลากรคนด่านหน้า” (Front Line) ของท้องถิ่นในงานนี้ด้วย เรื่องยังไม่จบมีเรื่องอยากจะเล่าต่ออีก