บทความพิเศษโดย ดร.พัฒนพล เหรียญโมรา  คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) คือความสามารถในการขยายอิทธิพลทางความคิด เพื่อโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในเชิงบวกสู่สากล โดยไม่ใช้กำลังทางทหารหรือทางเศรษฐกิจไปบังคับ แต่นำเสนอปรัชญาการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ประวัติศาสตร์ ศิลปะและความบันเทิง ซึ่งประเทศไทยมีสิ่งดี ๆ เหล่านี้เต็มเปี่ยม แต่การสนับสนุนจากภาครัฐก็เป็นสิ่งสำคัญ ล่าสุดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติมาดูแลเรื่องนี้ อีกปัจจัยสำคัญคือการหาเครื่องมือเพื่อมาสนับสนุนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ และหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังและจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศคือเทคโนโลยีดิจิทัล โดยจะขอนำเสนอเทคโนโลนีใหม่น่าจับตาที่มีศักยภาพในการส่งออกเรื่องราวและวัฒนธรรมไทยสู่สากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยีเสมือนจริงและการประมวลผลเชิงพื้นที่ (Immersive Technology and Spatial Computing)ใช้สร้างสื่อดิจิทัลที่ละลายเส้นแบ่งระหว่างโลกทางกายภาพและโลกเสมือนหรือโลกจำลอง ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ผู้ใช้มีความรู้สึกหรืออารมณ์ร่วม เรียกง่าย ๆ ว่า “อิน” ตัวอย่างที่พอรู้จักกันเช่น สื่อ Virtual Reality (VR) ที่นำผู้ใช้เข้าไปอยู่ในโลกจำลองเต็มรูปแบบ (Fully Immersive) ผ่านการใส่แว่นตา  หรือสื่อ Augmented Reality (AR) ที่ประสานโลกจริงเข้ากับโลกเสมือนโดยแสดงวัตถุจำลองขึ้นมาอยู่ตรงหน้าผู้ใช้ในโลกจริง สามารถทำให้ผู้ใช้ดื่มด่ำกับประสบการณ์จนเกิดความทรงจำที่ดีกับเรื่องราวและสถานที่

เมื่อนำมารวมกับเทคโนโลยี Spatial Computing ที่ผนวกเซ็นเซอร์เช่นกล้องวัดความลึกและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เรียนรู้สภาพพื้นที่จริงของผู้ใช้งานเพื่อให้สามารถสัมผัสหรือโต้ตอบกับวัตถุจำลองที่ปรากฏในพื้นที่จริงได้อย่างเป็นธรรมชาติ จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ส่งเนื้อหาแนวบันเทิงและศิลปะวัฒนธรรม ไปเคาะประตูบ้านผู้คนทั่วโลกได้ แม้จะไม่เคยมาเที่ยวเมืองไทย ตัวอย่างเช่น เราสามารถ พาผู้สนใจมาเที่ยวชมโบราณสถานสุโขทัยหรืออยุธยาได้อย่างสมจริงเพียงแค่ใส่แว่น VR หรือทำได้แม้กระทั่งพาย้อนอดีตไปชมสภาพก่อนสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ถูกทำลาย เพื่อเห็นสภาพเดิมและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนสมัยก่อน หรือใช้อุปกรณ์ Spatial Computing จำลองอาจารย์สอนทำอาหารชาวไทยมาช่วยสอนทำอาหารไทยถึงในห้องครัวของผู้ใช้ สามารถหยิบวัตถุดิบเสมือนขึ้นมาศึกษา หรือลงมือทำอาหารตามได้ทันที หรือจำลองเครื่องดนตรีไทยที่สามารถหยิบจับมาเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีสากลลอื่น ๆ ในห้องซ้อมดนตรี ก็สามารถทำได้

ปัญญาประดิษฐ์เชิงกำเนิดสำหรับงานศิลปะและงานสร้างสรรค์ (Generative AI for Art and Creative Work) ย้อนไปสัก 4-5 ปีก่อนหน้า หลายคนยังมีความเชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หรืองานศิลปะได้ แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นแล้วว่า Generative AI สามารถทำสิ่งเหล่านี้ และเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว ถึงแม้การใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นการถามคำถาม เขียนรายงาน โต้ตอบผ่านตัวหนังสือ แต่ Generative AI ที่สามารถสร้างงานศิลปะภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเสียงเพลง เช่น Midjourney, Stable Diffusion, DALL·E, AudioCraft ก็เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น

โดยเฉพาะในหมู่ผู้สร้างสรรค์หรือศิลปินเองก็เริ่มที่จะนำ AI เหล่านี้มาช่วยเสริมงานของตัวเองให้แปลกใหม่ขึ้น ไวขึ้น แน่นอนว่า Generative AI สามารถนำไปใช้ส่งเสริมเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทยในรูปแบบและมุมมองที่ทันสมัยและสร้างสรรค์ได้ ตัวอย่างเช่น การสร้างผลงานเพลงในรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานดนตรีพื้นบ้านและดนตรีสมัยใหม่ทั้งของไทยหรือสากลเข้าด้วยกัน เพื่อสามารถเข้าถึงผู้ฟังต่างวัยและต่างวัฒนธรรม หรือการใช้ AI สร้างภาพศิลป์เล่าเรื่องราวตำนานของไทย ผ่านแนวทางการวาดภาพแบบศิลปินสากล ก็อาจได้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง และยังสามารถเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลไปทั่วโลก ผู้เกี่ยวข้องจึงควรให้ความสนใจและเริ่มวางแผนศึกษาใช้งาน Generative AI เพราะแม้ว่า AI อาจไม่ได้สามารถทดแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด แต่คนที่ใช้งาน AI เป็นแน่นอนว่าจะเพิ่มโอกาสต่าง ๆ กว่าคนที่ยังไม่เริ่ม

ดิจิตัลเกมและเกมมิฟิเคชัน (Digital Games and Gamification) อุตสาหกรรมดิจิตัลเกมในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดมูลค่าเกิน 30,000 ล้านบาทต่อปี แต่เม็ดเงินนี้ยังเทไปที่เกมต่างชาติเช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาตีตลาดไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากพิจารณาดูจะพบว่าผู้เล่นไทยก็ได้ซึมซับวัฒนธรรมจากชาติเหล่านี้ผ่านการเล่นเกมอยู่ไม่น้อย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเกมในการช่วยขยายซอฟต์พาวเวอร์ โดยที่ผ่านมามีเกมผีไทยที่วางขายและประสบความสำเร็จทั่วโลก ทำให้ผู้เล่นต่างชาติได้รู้จักความน่ากลัวของผีไทย วัฒนธรรมความเป็นอยู่เช่นชุดไทยและบ้านทรงไทย ซึ่งน่ายินดีว่ารัฐบาลเริ่มเล็งเห็นความสำคัญโดยได้รวมการสร้างเกมไทยอยู่ในยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ และให้สิทธิพิเศษผ่าน BOI เช่นยกเว้นภาษีนิติบุคคลกับบริษัทพัฒนาเกมเป็นต้น ในขณะเดียวกันเทคโนโลยี Gamification ที่ไม่ได้เป็นการสร้างเกมโดยตรง แต่เป็นการนำองค์ประกอบของการออกแบบเกมมาใช้ในบริบทที่ไม่ใช่เกม เช่นการสะสมคะแนน การแบ่งลำดับชั้น การแข่งขัน ก็เป็นอีกเทคโนโลยีที่สามารถช่วยส่งเสริมการขยายซอฟต์พาวเวอร์ หรือแอปสอนภาษาไทยออนไลน์ที่มีการแข่งขันออกเสียงภาษาไทยและให้คะแนนโดยคนไทย เป็นต้น

ประเทศไทยมีสิ่งดี ๆ มากมายที่เป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์เพื่อการเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมที่เชื่อมสัมพันธ์ไปทั่วโลกซึ่งจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อประเทศในอีกหลายด้าน การใช้เทคโนโลนีทันสมัยที่ที่ได้ยกตัวอย่างมา หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ในอนาคตมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ ก็จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ระดับชาติในเชิงบวกได้เป็นอย่างดี