เมื่อวันที่ 19 ม.ค.67 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...
โควิด 19 วัคซีนโควิด 19 ที่มีการกล่าวถึงกันมาก
วัคซีนทุกชนิดมีจุดมุ่งหมายในการป้องกันโรค ไม่ว่าจะเป็นป้องกันการติดเชื้อ ความรุนแรงของโรค รวมทั้งการเสียชีวิต
วัคซีนทุกชนิด ไม่ว่าวัคซีนที่ใช้ในเด็ก จะมีทั้งประโยชน์อย่างมากและ ข้อเสียคืออาการข้างเคียง เกิดขึ้นได้ แต่โดยทั่วไปแล้วอาการข้างเคียงจะพบน้อยมากๆ เช่นวัคซีนโปลิโออย่างกิน สามารถป้องกันโปลิโอได้ แต่ก็สามารถทำให้เกิดโรคโปลิโอได้เช่นกัน แต่โอกาสที่จะเกิดโรคโปลิโอจากวัคซีนอาจจะเป็นหนึ่งในล้านหรือหลายล้านโดส
ในทำนองเดียวกันวัคซีนโควิด 19 ที่ต้องนำมาใช้อย่างเร่งด่วน เพราะในปีแรกโควิด 19 มีอัตราการเสียชีวิต 3-5% ซึ่งสูงมากและลดลงในปีต่อต่อมาเหลือ 1% และจนในปัจจุบันน่าจะน้อยกว่า 0.1% ตามวิวัฒนาการของไวรัส และภูมิต้านทานของร่างกายที่เกิดขึ้นจากวัคซีนและการติดเชื้อทำให้โรคลดความรุนแรงลง
วัคซีนโควิด 19 เป็นที่ยอมรับกันว่ามีอาการข้างเคียง เช่น เป็นไข้ ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว เจ็บบริเวณที่ฉีด แต่มีน้อยมาก มาก ที่จะทำให้เกิดความรุนแรง ถึงเสียชีวิต วัคซีนได้มีการนำมาใช้หลายๆพันล้านโดส แม้ในประเทศไทยก็มีการใช้มากกว่าร้อยล้านโดส ดังนั้นอาการข้างเคียงชนิดที่เกิดได้ 1 ในแสนหรือ 1 ในล้านก็จะพบได้ เช่นเดียวกับกัน
การใช้วัคซีนโควิด 19 ก็เช่นเดียวกัน เราคำนึงถึงผลได้และผลเสีย ถ้าโรครุนแรง โอกาสลงปอดสูงมากและมีอัตราตายสูงมากกว่า 1% วัคซีนมีอาการข้างเคียงบ้างแต่น้อยกว่าความรุนแรงของการเกิดโรคอย่างมาก
เมื่อโควิดผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีข้อมูลออกมาชัดเจนแล้วว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 มีอัตราการเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
แต่เมื่อโรคโควิด 19 ลดความรุนแรงลงอย่างมาก เหลือเฉพาะความรุนแรงอยู่ในกลุ่มเปราะบาง ความต้องการของวัคซีน ก็คงจะต้องเน้นไปยังกลุ่มเปราะบาง มากกว่าให้กับบุคคลทั่วไปที่มีร่างกายแข็งแรง และการให้วัคซีนก็ไม่ได้เป็นภาคบังคับ เป็นการให้ด้วยความสมัครใจ แต่หน้าที่ของเราคือจะให้ความรู้ทั้งหมดเพื่อไปประกอบการตัดสินใจ
ทุกอย่างมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่ถ้าผลดีมีเป็นจำนวนมากกว่าผลเสียอย่างมากๆ เราก็คงจะต้องยอม