เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT พร้อมด้วยคณะกรรมการ ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ ได้ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปภารกิจการดำเนินงานของ AOT จากคณะผู้บริหาร นำโดย ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ที่ห้องประชุม AOB1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) จากนั้นได้นำคณะเดินตรวจเยี่ยมพื้นที่อาคารผู้โดยสาร ทสภ. รวมถึงอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) ด้วย

พล.ต.อ.วิสนุ เผยว่า ได้รับโอกาสให้มาทำหน้าที่ประธานกรรมการฯ ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากทุกประเทศกำลังเร่งส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวและตลาดทุนจากต่างชาติ หลังสถานการณ์โควิด ซึ่งสนามบินถือเป็นประตูบานแรกที่สำคัญในการเปิดรับการเดินทางและการขนส่งของประเทศ จึงมีการแข่งขันเพื่อยกระดับสนามบินของแต่ละประเทศให้ขึ้นแท่นสนามบินที่ดีระดับโลก รวมถึงสนามบินของไทยเราที่มีความได้เปรียบด้านภูมิยุทธศาสตร์ของภูมิภาค ตนจึงได้ประกาศวิสัยทัศน์ “ยกระดับการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาค สู่ประตูการบินของโลก” เพื่อกระตุ้นการขับเคลื่อนให้สนามบินของ AOT ติดสนามบินดีสุดอันดับต้นของโลกให้ได้ ซึ่งปัจจัย Key success สู่ความสำเร็จ ที่มุ่งเน้นมี 5 ข้อ คือ 1. ให้คุณค่ากับ Man power ทุกระดับ ทุกฝ่าย 2. สร้างความมั่นใจทางธุรกิจ เพื่อความมั่นคงในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 3. ความโปร่งใสตรวจสอบได้ คือหัวใจสำคัญ 4. สร้างการยอมรับจากสังคม ประชาชน ผู้ใช้บริการ ทุกส่วนในอุตสาหกรรมการบิน 5. บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการบินในรูป Home team เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จร่วมกัน โดยนโยบายเร่งด่วน ที่เร่งทำทันทีคือ 1. เร่งปรับปรุงพื้นที่ทางกายภาพและระบบอำนวยความสะดวกทั้งระบบในและนอกอาคารผู้โดยสารของ ทสภ.และท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ให้พร้อมตอบสนองนโยบายเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติของรัฐบาล 2. การเร่งบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับ ทสภ.เป็นสนามบินชั้นนำตามมาตรฐานสากลให้ได้ในปี 2567

 ส่วนนโยบายระยะต่อเนื่อง มี Flag Ship Project สำคัญ 4 โครงการ คือ 1. เร่งขยายอาคารผู้โดยสาร 2. ท่าอากาศยานหลักคือ ทสภ.และ ทดม. โดยจะสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสาร ทสภ.ฝั่งทิศเหนือ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 90 ล้านคนต่อปี โดยขณะนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำลังพิจารณาเพื่อเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณต่อไป ส่วน ทดม.ก็มีความคับแคบในขณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก จึงจะมีการปรับปรุงก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้าน เป็น 50 ล้านคนต่อปี โดยขณะนี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณเรียบร้อยแล้ว 2. เร่งติดตั้งระบบช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ Automatic Channels เพื่อสนับสนุนงานตรวจ คนเข้าเมืองที่ ทสภ.และ ทดม. ซึ่งเครื่องเดิมของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีอายุกว่า 10 ปี และมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะช่วยระบายความหนาแน่นของผู้โดยสารระหว่างประเทศได้คล่องตัวยิ่งขึ้น สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ

3. เพิ่มทางวิ่งเส้นที่ 3 หรือ 3rd Runway ที่ ทสภ. เพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่มจาก 64 เที่ยวบิน เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง นอกจากนั้น จะมีการปรับปรุงหลุมจอดที่ ทดม. โดยอยู่ระหว่างการออกแบบและขออนุญาต โดยจะอนุมัติได้ในเดือนธันวาคม 2567 นี้ และจะเริ่มก่อสร้างช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 - ธันวาคม 2573 4. จัดทำ Application “SAWASDEE” บนสมาร์ทโฟน เพื่อรองรับการบริการผู้ใช้บริการสนามบินมี 10 ฟังก์ชัน มีทั้งการค้า (Commercial) หรือ AOT Point และฟังก์ชันการบริการ อีก 9 รายการ เช่น ด้าน Check-in, Flight & Baggage, Map & Navigation, Transportation, Airport Service, Shopping, Check Flight & Alert, Help Desk เป็นต้น โดยกำลังพัฒนาฟังก์ชันเกี่ยวกับ Customer Feedback และ Contact Us รวมถึง Queue Time และ Taxi Reservation มาใช้ด้วย รวมถึงยังพัฒนาระบบ Common Use Passenger Processing System หรือ CUPPS มาใช้รองรับการบริการที่สนามบินทั้ง 6 แห่งของ AOT ด้วย

นอกจากนั้น ในเรื่องของการสร้างผลกำไรในฐานะบริษัทมหาชน ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างการตลาดเชิงรุกทางการบิน ทั้งการสร้างโอกาสแก่สายการบิน ทั้งการวิเคราะห์ตลาด การเงิน และเส้นทางการบิน รวมถึงให้ความสำคัญกับการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยในอนาคตจะมีสนามบินภูมิภาคโอนจากกรมท่าอากาศยานมาอยู่ในการบริหารของ AOT คือ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานกระบี่ ซึ่งจะต้องมีการร่วมหารือกับทุกฝ่ายทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อยกระดับความสามารถของสนามบินทั้ง 3 แห่ง ให้เป็นประตูบานใหม่ของประเทศที่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกให้เข้ามาสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ภูมิภาคดังกล่าวตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย

“เราคาดหวังให้สนามบินของเราเป็น Logistic Hub เป็น Cross Border E-Commerce ด้านการขนส่ง  ทางอากาศของภูมิภาคที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงปัจจัยการขับเคลื่อนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะ การบริหารพื้นที่อาคาร การพัฒนาระบบบริการโรงซ่อมขนาดเบาอากาศยาน เป็นต้น ที่สำคัญคือ การพัฒนาต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจ ทั้งคู่ค้า ลูกค้า และคู่แข่ง เพื่อวางกลยุทธ์ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์สูงสุด”