วันที่ 18 ม.ค.2567 ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงแถลงการณ์กรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับเกณฑ์พักโทษพิเศษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า กรมราชทัณฑ์ต้องดูว่านักโทษเด็ดขาดผู้ใดที่มีความประพฤติดี นายทักษิณอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ และมีการรับโทษมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 อย่างใดมากกว่ากันจึงจะเข้าเกณฑ์ แต่สิ่งที่แถลงไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นการพักโทษพิเศษได้อย่างไร ซึ่งต้องยึดพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 เป็นตัวตั้ง และระเบียบกระทรวง 2563 กับระเบียบที่ออกใหม่เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เกิดจากการให้ไปพักรักษาตัวที่บ้าน รวมถึงการพักโทษก่อน 6 เดือนทำไม่ได้ และระเบียบที่อ้างกันก็ไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้กลับไปอยู่บ้าน แต่มีความพยายามอ้างเรื่องการพักอยู่ที่บ้าน สิ่งสำคัญคือบ้านที่ไปพักต้องมีลักษณะเป็นเรือนจำหรือไม่ หากมีลักษณะเป็นเรือนจำแล้วมีสภาพคุมขังได้หรือไม่ หากบ้านมีสภาพคุมขังได้ก็หมายความว่านักโทษคนอื่นต้องไปพักได้ด้วย ไม่ใช่บ้านของใครคนใดคนหนึ่ง
“ผมยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ที่พยายามอธิบายสังคมว่าพักโทษเป็นกรณีพิเศษ และคุณทักษิณจะเข้าข่ายเช่นนั้นหรือไม่ ผมคิดว่าเมื่อคุณทักษิณได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิด ขอรับโทษ และศาลตัดสินต้องจำคุก 8 ปีแล้ว แต่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปีก็ควรดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยไม่ขอรับพระราชทานลดโทษเพิ่มเติมอีก การจะพยายามทำอะไรของฝ่ายการเมือง ฝ่ายกรมราชทัณฑ์ ก็ขอให้ยึดหลักกฎหมายให้ดี เพราะท่านเป็นกระบวนการยุติธรรมท้ายน้ำ อย่าทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา เมื่อศาลพิพากษาลงโทษแล้ว และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษแล้ว ก็ควรเดินตามกระบวนการที่ถูกต้อง“ นายสมชาย กล่าว
เมื่อถามว่า หากตัดเรื่องระเบียบใหม่ออกไป และนายทักษิณใช้กระบวนการรับโทษ 1 ใน 3 แล้วสามารถขอพักโทษได้หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ได้ ต้อง 6 เดือนหรือ 1 ใน 3 อย่างใดมากกว่ากัน ไม่ใช่อย่างใดน้อยกว่ากัน คือ 1 ใน 3 ของ 1 ปีคือ 4 เดือน ก็ต้อง 6 เดือน ฉะนั้น วันที่ 22 ก.พ. นี้จึงจะครบ 6 เดือน นั่นคือเกณฑ์ปกติ และการที่ฝ่ายการเมืองแถลงพักโทษพิเศษนั้น มีข้อสงสัยว่ากำลังจะดำเนินการในบางเรื่องหรือไม่ ฉะนั้น ต้องคิดให้ดี
เมื่อถามย้ำว่า หมายถึงมีการดำเนินการพิเศษมากกว่าที่จะรอถึงวันที่ 22 ก.พ. นี้หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ถูกต้อง เกณฑ์ปกติคือต้องเดินตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ทำให้เขารีบแถลงออกมา นี่เป็นข้อสงสัยที่ต้องมีการตรวจสอบต่อ ดังนั้นหากรอให้ถึงวันที่ 22 ก.พ. แล้วขอพักโทษข้อครหาก็อาจจะน้อยกว่านี้ เพราะนายทักษิณเข้าเรือนจำเวลา 12.00 น. ของวันที่กลับมาไทย แล้วเวลา 00.30 น.ก็ไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจ หากป่วยมากน้อยแค่ไหนก็ควรบอกสังคม แต่ก็ไม่มีความชัดเจน จึงมีข้อครหาของสังคมหรือความเคลือบแคลงว่าตกลงแล้วนายทักษิณไม่ได้เข้าสู่กระบวนการหรือไม่ แต่ยืนยันว่านายทักษิณเข้าสู่กระบวนการแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เข้าเรือนจำ
“สิ่งที่ดีคือหากนายทักษิณรักษาหายแล้วก็เข้าสู่ระบบคือการพักฟื้นที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และรอครบเวลาตามกฎหมาย ผมคิดว่าสังคมรับได้ถ้าครบ 6 เดือน แต่หากไปตั้งเกณฑ์พิเศษขึ้นมาอีกแล้วมีการปล่อยตัว ผมไม่แน่ใจว่าอาจเกิดวิกฤตศรัทธาของกระบวนการยุติธรรมไทยมากขึ้นหรือไม่ จึงฝากเตือนว่าอย่าพยายามเขียนระเบียบอะไร ที่ไปทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบือน
เมื่อถามว่า หากใช้กฎหมายผิดวัตถุประสงค์สามารถนำไปร้องเรียนกับหน่วยงานใด เพื่อให้มีการตรวจสอบและดำเนินการเรื่องนี้ได้บ้างหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า กมธ.มีการตรวจสอบและบันทึกไว้แล้ว รวมถึงมีคนไปร้องกับหน่วยงานต่างๆ มากมาย หากเดินไปตามปกติก็ไม่มีอะไรและอยากเห็นกระบวนการเดินตรงไปตรงมา
เมื่อถามต่อว่า น่าห่วงผู้ที่ดำเนินการเรื่องนี้หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ก็มีคนติดคุกแทน
เมื่อถามย้ำว่า หมายถึงกรณีนี้ติดคุกแทนนายทักษิณ นายสมชาย กล่าวว่า หากทำไม่ถูกต้อง เนื่องจากวันนี้สังคมตั้งคำถามเยอะ ถามว่านักโทษที่ป่วยจากเรือนจำต่างจังหวัดไปอยู่โรงพยาบาลกี่วัน อย่างมากก็ไปเช้าเย็นกลับ หากผ่าตัดอย่างมากก็หนึ่งคืน และข้อชี้แจงของกรมราชทัณฑ์ระบุว่ามีนักโทษที่พักอยู่โรงพยาบาลตลอด 1 ปี 2 เดือน มีจำนวนเกิน 3,000 คน เกิน 30 วันมีแค่ 100 คน เกิน 60 วันมีแค่ 33 คน และเกิน 120 วันมี 3 คน โดยใน 3 คนนี้ 2 คน ป่วยโรคจิตอยู่โรงพยาบาลกว่า 500 วัน กับกว่า 200 วัน ส่วนคนสุดท้ายก็ทราบกันอยู่ ท่านอาจจะป่วยก็ได้ แต่เราไม่รู้ว่าป่วยเป็นอะไร
"หากกรมราชทัณฑ์บอกให้กลับ และกลับบอกว่าแพทย์ไม่ยอมให้กลับ ถามคำเดียวคือนักโทษทั่วไปได้รับสิทธิ์เช่นนั้นหรือไม่ ยืนยันว่าไม่ได้รับสิทธิ์เช่นนั้น เพราะนักโทษทั่วไปต้องมีการประสานกันระหว่าง กรมราชทัณฑ์กับผู้บัญชาการเรือนจำ และโรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกแห่ง ในการที่จะนำนักโทษออกไป ต้องมีผู้คุม มีโซ่ตรวน เมื่อไปรักษาเสร็จก็รีบนำกลับ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการหนีเหมือนแป้งนาโหนด วันนี้กระบวนการยุติธรรมที่เกิดคำถามขึ้นคือ ไม่ได้มีความเสมอภาคหรือเท่าเทียมกันจริง มีการละเว้นการปฏิบัติ ถามว่าวันหนึ่งใครจะถูกดำเนินคดี ก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปทำให้เกิดปัญหา“ นายสมชาย กล่าว
เมื่อถามว่า แสดงว่าเจ้าหน้าที่รัฐขาเข้าไปอยู่ในคุกแล้ว นายสมชาย กล่าวว่า ตอบไม่ได้ ส่วนจะมีคนติดคุกแทนแน่นอนหรือไม่ ไม่รู้