ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวมาขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยกำหนดเป้าหมายยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ดังนั้นทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่อยู่ในสังกัด จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยนำสู่เป้ารายได้ที่ตั้งไว้

ในเรื่องนี้ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ด้วยแนวโน้มการท่องเที่ยวไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้ท่องเที่ยว ปี 2566 มีมูลค่า 2.00 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 28 ล้านคน รายได้ท่องเที่ยว 1.20 ล้านล้านบาทนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย 185 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ 0.80 ล้านล้านบาท

ดังนั้นในปี 2567 ได้ตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวไว้ที่ 3.50 ล้านล้านบาท เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 35 ล้านคน สร้างรายได้ 2.30 ล้านล้านบาท นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยจำนวน 205 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ 1.20 ล้านล้านบาท ในกรณีที่เหตุการณ์ท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดย นางสาวสุดาวรรณ ยังกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในจำนวนที่ตั้งไว้ นั้นประกอบไปด้วย 1.การเพิ่มเติมและขยายระยะเวลามาตรการวีซ่าฟรี 2.การส่งเสริม พัฒนา และรักษาภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว 3.การส่งเสริมการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางต่าง ๆ 4.การเร่งเจรจาสิทธิการบินในเส้นทางในตลาดสำคัญ เช่น อินเดีย 5.การจัด Event และ Festival ด้านการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่าย และวันพักค้าง 6.การกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง และนักท่องเที่ยวอินเดียในช่วง Green season กลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย สู่แหล่งท่องเที่ยว Luxury destination  ในจังหวัดอันดามัน กลุ่ม Gen Y และกลุ่ม Family สู่แหล่งท่องเที่ยว Active Beach  เช่น พัทยา เป็นต้น รวมถึง 7.ใการสนับสนุนกลุ่ม Incentive และงาน Mega Event จากต่างประเทศ 8.การสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับต่างประเทศ

แนวทางขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม

ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2567 ประกอบไปด้วย 4 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นที่ 1 การขับเคลื่อนตลาดการท่องเที่ยวของไทยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเข้าสู่ Quality Destination โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  ได้ให้ความสำคัญใน 2 แนวทางหลัก คือ 1. Shape Supply ด้วยการทำงานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการยกระดับมาตรฐานของการให้บริการผ่านการให้ความรู้ ทั้งที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานทั้งระดับในประเทศและต่างประเทศ โดยการเป็นผู้จัดหรือร่วมสนับสนุนการจัดหลักสูตรการอบรม ให้กับพันธมิตรกลุ่มต่าง ๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของการให้บริการที่ได้มาตรฐานส่งผลต่อการเจาะขยายตลาดกลุ่มคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการถูกเลือกเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลสำคัญ  ระดับโลก รวมทั้งทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นว่า 365 วัน ในประเทศไทยจะเป็นวันที่ให้ประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน โดย ททท.จะร่วมมือกับพันธมิตรที่มีบริการที่ได้มาตรฐานแล้ว   ในการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวที่สามารถส่งมอบ Meaningful Experience ให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ส่วน 2.มุ่งเจาะขยายตลาดกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ การนำผลการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวและความต้องการของกลุ่มต่าง ๆ มาเป็นแนวทางในการคัดสรรสินค้า    และบริการที่สามารถส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละกลุ่ม รวมถึง การแลกเปลี่ยนให้ความรู้แก่พันธมิตรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกี่ยวกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน

ขณะที่ในประเด็นที่ 2 เป็นการผลักดัน Soft Power ให้เป็นพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมกีฬาในปี 2567 โดยเป็นการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงท่องเที่ยว และกีฬา โดย ททท. จะขยายผล/ต่อยอดเรื่อง Soft Power ต่อเนื่องและเป็นระบบ ผ่านการให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามทิศทางที่กำหนด โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power แห่งชาติ เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างที่มีพลังมากยิ่งขึ้น ประเด็นที่ 3 การยกระดับการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว   

นอกจากนี้ใน ประเด็นที่ 4 การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นั้นทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และกรมการท่องเที่ยวจะเข้ามาร่วมมือผลักดัน ด้วยการใช้แนวคิดเรื่องการใช้การท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูและเพิ่มต้นทุนทางธรรมชาติเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศเป็นเป้าหมายหลักในการทำงานขับเคลื่อนในทางปฏิบัติในหลายรูปแบบ

ทั้งการสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกเดือดให้กับนักท่องเที่ยว โดยการนำเรื่องอาหารที่ทำจากวัตถุดิบอินทรีย์และอาหารถิ่นมาสร้างเส้นทางท่องเที่ยว Organic Tourism ที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจถึงเรื่องความสำคัญของการรักษาระบบนิเวศ /การร่วมมือกับพันธมิตรอย่างสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย หรือ  TEATA ในการสร้างเส้นทาง   Low Carbon เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมการเดินทางที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง การจูงใจให้ผู้ประกอบการและชุมชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสมัครใจที่จะปรับปรุงขั้นตอนการทำธุรกิจ  โดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการต่างๆ  

รวมไปถึง ประเด็นที่ 5 ซึ่งเป็นการการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ในมิติด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ด้วยการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพ 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มนักท่องเที่ยวอาเซียน 2. กลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดีย  3.กลุ่มนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย  4. กลุ่มนักท่องเที่ยวอนุภูมิภาคเอเชียใต้  5. กลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพอินโดนีเซียและมาเลเซีย เป็นต้น