จุลพันธ์ ยอมรับไม่ทันเดือนพฤษภาฯ รบ.ฉีกไทม์ไลน์ แจก1หมื่น -ศาลฯชี้ ศักดิ์สยาม -พ้นจากการเป็นรมต.     

"นายกฯ" ยันพร้อมตอบถูกปัญหาที่ส.ว.ซักฟอก ยันไม่ทำให้เสียสมาธิทำงาน จุลพันธ์ ยอมรับแจก 1 หมื่น ไม่ทัน พ.ค. ย้ำเดินหน้าต่อ ตั้งวงถกความเห็น 'กฤษฎีกา-ป.ป.ช.' ป้องขัดกฎหมาย  ด้าน ศิริกัญญา แนะรัฐบาลฟังปปช.แต่ไม่ต้องทำตาม บอกต้องรับผิดชอบเต็มๆ หากดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้ไปต่อ สอนมวยรัฐบาลผ่าทางตันแจก1หมื่น ที่สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 17 ม.ค.67(ตามเวลาประเทศไทย)  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รวบรวมเสียงพอที่จะเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 แล้ว ว่า ก็ว่ากันไปตามรัฐธรรมนูญ หากมีเสียงพอที่จะขอเปิดอภิปรายได้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารที่จะต้องตอบ เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติมีข้อข้องใจ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย แต่ก็ขอให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีวิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง    

 ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเห็นอย่างไรที่มี ส.ว.บางส่วนยอมรับว่าเพิ่งทำงานได้เพียง 4 เดือน เร็วเกินไปที่จะอภิปราย ในขณะที่รัฐบาลชุดที่แล้วไม่มีการอภิปรายนั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์ในเรื่องนี้ถือว่าเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมนั้น ก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งหน้าที่ของตน หากมีการรวบรวมเสียงถูกต้อง เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้วก็เป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องไปตอบ      

เมื่อถามว่า ต้องกำชับรัฐมนตรีให้เตรียมพร้อมเป็นพิเศษหรือไม่นั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ได้กำชับอะไรเพราะยังไม่มีการยื่นมา และเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกคนทำงานเต็มที่อยู่แล้ว และทุกคน ต้องพร้อมที่จะชี้แจงหากถูกพาดพิง เมื่อถามว่า จะขอร้อง ส.ว.ว่าอย่าพาดพิงถึงคนนอกหรือไม่นั้น นายกฯ กล่าวว่า ตามความเหมาะสม และตามความถูกต้อง หากมีการตอบอย่างชัดเจนแล้ว เป็นไปตามหลักนิติธรรมแล้ว ถึงจุดหนึ่งก็ต้องพอ ยืนยันไม่เสียสมาธิในการทำงาน เพราะถือเป็นหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หากรวบรวมเสียงได้ เราก็ต้องไปตอบแม้อาจจะเพิ่งเริ่มต้นทำงานก็ตามที หาก ส.ว.มีข้อคลางแคลงใจก็ต้องพร้อมที่จะตอบ แต่ถ้าถามว่าอยากจะเอาเวลามาทำงานเพื่อประเทศก็อยาก แต่หาก ส.ว.มีข้อคลางแคลงใจและอยากที่จะอภิปราย ผมก็โอเค    

 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง  แถลงข่าวชี้แจงข้อสงสัยต่อกรณีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ว่าคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตได้เลื่อนการประชุมจริงเมื่อวันที่ 16 ม.ค. เนื่องจากมีเอกสารข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงเห็นว่าควรเลื่อนการประชุมก่อน เพื่อรอให้เอกสารของ ป.ป.ช. มาถึงพร้อมกัน แล้วประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ทีเดียว เพื่อกำหนดแนวดำเนินการต่อไป    

 เอกสารของ ป.ป.ช. แสดงความเห็นค่อนข้างตรงและแรงพอสมควรในการคัดค้านการดำเนินนโยบาย รัฐบาลก็รับฟังและนำมาพิจารณาประกอบ ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเอกสารดังกล่าวเป็นทางการแล้วหรือไม่อย่างไร ซึ่งมี น.ส.สุภา ปิยะจิต อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเป็นผู้ทำข้อเสนอแนะดังกล่าวมา โดยน.ส.สุภาเป็นผู้ที่ติดตามนโยบายของรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาตลอดอยู่แล้ว และในเวลานี้รัฐบาลก็รอความชัดเจนในเรื่องเอกสารของ ป.ป.ช.      

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า วิกฤตนี้ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตการเห็นอกเห็นใจพี่น้องประชาชนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ คือทุนนิยมที่ไม่มีหัวใจจะไปเข้าใจผู้ที่เดือดร้อน มันแสดงให้เห็นมาตลอดว่าล้มเหลว รัฐบาลชุดปัจจุบันเราเดินทางไปทั่วประเทศ เราเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เราไม่ได้ทำงานในห้องแอร์ วันนี้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่      

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายหน่วยงานทั้งกฤษฎีกาและป.ป.ช. ขอให้มีการทบทวนโครงการนี้เพราะกลัวจะซ้ำรอยรับจำนำข้าว นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราก็รับฟังประเด็นนี้ ไม่ว่าประชาชนหรือหน่วยงานใดมีข้อคิดเห็น รัฐบาลก็มีหน้าที่รับฟัง เปิดรับความคิดเห็นหลากหลาย ไม่เคยพูดว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน 100% แต่อยากให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความเดือดอร้อนของประชาชน ว่าขณะนี้เศรษฐกิจไม่ได้ดีและต้องการกระตุ้น และสามารถเดินหน้าโครงการได้ เป็นวัตถุประสงค์ที่เราคาดหวัง      

ตอนนี้ที่เราได้เห็นหนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นคำตอบเชิงกฎหมาย ไม่มีไฟเขียวไฟแดง และไม่ได้สั่งการให้เดินหน้า มีแต่ความเห็นเรื่องกฎหมาย ซึ่งเรามีหน้าที่รับฟังและปฏิบัติตาม แต่เมื่อมีหนังสือของ ป.ป.ช.มา ก็ค่อนข้างชัดเจนว่ามีการวางธงไม่ให้โครงการนี้เดินหน้า แม้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะได้รับการรับรองจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ก็ยังมีความเห็นขององค์กรอื่นอาทิ ป.ป.ช. หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่แตกต่าง ซึ่งอาจยังไม่เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ ทั้งนี้ วิกฤตในขณะนี้ไม่ใช่แค่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ หรือเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตการเห็นใจประชาชนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ทุนนิยมที่ไม่มีหัวใจแสดงให้เห็นมาตลอดว่าล้มเหลว รัฐบาลไม่ได้มองเศรษฐศาสตร์เป็นแค่หนังสือแบบเรียน แต่เรามองในมิติความเป็นจริง และในมิติชีวิตของประชาชนที่เดือดร้อนด้วย       

ผมต้องเรียนว่าวันนี้ถ้าดูกรอบเวลาไม่น่าทันเดือน พ.ค. รัฐบาลยืนยันว่าต้องดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป ถึงแม้จะไม่สามารถทันกรอบเวลาในเดือน พ.ค. เพราะเมื่อดูจากข้อคิดเห็นจากสิ่งที่ออกมาต่อจากนี้เราคงต้องรอให้ทาง ป.ป.ช.ส่งหนังสือมาทางเรา และต้องเชิญคณะกรรมการนโยบายมาประชุม เพื่อนำเอาความเห็นของทั้งป.ป.ช.และกฤษฎีการมาพิจารณาในครั้งเดียวกัน และเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในการทำความเข้าใจกับหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ ก็ตามที่ยังไม่เห็นถึงเจตนาดี ที่รัฐบาลพยายามทำ เราต้องสื่อสารจนทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน และเดินหน้านโยบายนี้ให้ได้ในที่สุดŽนายจุลพันธ์ กล่าว      

เมื่อถามว่า หากเดินหน้าโครงการนี้ต่อจะไม่หวั่นใช่หรือไม่หากเกิดคดีทางการเมืองตามมา นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราถึงต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นอนุบาลทางการเมือง เราเห็นอยู่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร สิ่งที่ทำคืออะไร เรามีหน้าที่ทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน และแก้ปัญหาให้กับประชาชน    

 เมื่อถามอีกว่า จะล้มเลิกการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ สุดท้ายก็ต้องรอให้คณะกรรมการได้พูดคุยและตัดสินใจว่าจะเดินหน้าอย่างไร ดังนั้น ตนขอไม่ให้คำตอบในนาทีนี้ เมื่อถามย้ำว่า จะมีหนทางอื่นอีกหรือไม่นอกจากการออกเป็น พ.ร.ก.หรือพ.ร.บ.กู้เงิน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุย ทั้งนี้เมื่อดูจากอุปสรรคที่เห็นเรามองว่ากลไกที่จะพลักดันโครงการนี้ให้ทันเดือนพ.ค.นี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่จะพยายามให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามกระบวนการต่างๆทั้งการฟังความเห็น และการทำความเข้าใจต้องใช้เวลา ในส่วนกรอบเวลานั้น ยังไม่มี      เมื่อถามว่า หากโครงการนี้เดินหน้าต่อไม่ได้ จะมีแผนสำรองในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบอื่นหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ให้คำตอบว่าไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามกลไกของภาครัฐมีเยอะ เรามีศักยภาพเพียงพอในการหาหนทางในการช่วยเหลือประชาชน ยังมีหนทางอีกจำนวนมาก ในส่วนของโครงการนี้จะมีจุดจบหรือไม่นั้น ยังไม่ถึงจุดที่สามารถตอบได้ แต่ยังไม่เห็นจุดนั้น และเราจะเดินหน้าต่อไป เมื่อถามว่า หลังจากนี้รัฐบาลจะถอยอีกหรือไม่ เช่น ลดวงเงินหรือลดกลุ่มเป้าหมายในการแจก นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกัน ได้ยินแค่จากสื่อ แต่ยืนยันว่าเป้าหมายในการแจกจะยังเป็น 50 ล้านคนเหมือนเดิม    

 เมื่อถามอีกว่า ถึงกรณีที่ฝ่ายการเมืองมองว่ารัฐบาลยังดันทุรัง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ดันทุรัง เพราะเรามองถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ ถ้าไม่ได้ลงพื้นที่สัมผัสประชาชนและมองไม่เห็นในจุดนี้ เราก็ต้องชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่งให้เป็นไปตามศักยภาพของประเทศ ดังนั้น จะมาบอกว่าดันทุรังไม่ได้ เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าโครงการนี้จะไม่ทันในปีงบประมาณ 2567 นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ได้กำหนดเวลา ต้องรอตามขั้นตอน เมื่อมีคำตอบที่ชัดเจนจากบางหน่วยงานแล้ว ก็จะประชุมเพื่อหาแนวทางเมื่อนั้นเราจึงจะตอบได้    

 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ของคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000บาท ผ่านระบบดิจิทัล วอลเล็ต ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นประธาน ว่า ตนยังไม่เห็น เท่าที่ทราบว่ารายงานดังกล่าวยังไม่เป็นทางการ    

 ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่หลายคนระบุว่าเนื้อหามันน่าจะเป็นไปตามที่มีการเผยแพร่ออกมา ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลหวั่นไหวหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ความจริงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท มีคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ตอยู่แล้ว ถึงอย่างไรถ้ามีความเห็นจาก ป.ป.ช.มา เขาจะต้องนำให้รัฐบาลและคณะกรรมการฯรับทราบ จะต้องผ่านอยู่ช่องทางนั้นมาก่อน    

 เมื่อถามว่า ความเห็นของ ป.ป.ช.จะมีน้ำหนักทำให้โครงการนี้เดินหน้าไปต่อได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เราก็ต้องรับฟังทุกความเห็น ซึ่งตนมั่นใจว่าทุกนโยบายของรัฐบาลเป็นนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานความสุจริต ไม่มีใครที่จะกล้าจะตั้งนโยบายเพื่อตั้งใจที่จะทำทุจริต มันไม่ใช่      ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ด้วย มองความเห็นของ ป.ป.ช. ว่าเป็นความห่วงใยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียด ซึ่งถือว่าดีแล้วที่มีคนห่วงใย ต้องขอบคุณด้วยซ้ำที่มีผู้ให้ความสนใจและให้ความเห็นต่างๆ มา บางทีมันก็มีอะไรที่เรานึกไม่ถึง ยิ่งเราได้ข้อมูลมากเท่าไหร่เราก็สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจได้มากยิ่งขึ้น ต้องถือเป็นสิ่งที่ดี เมื่อถามว่า ในรายงานของ ป.ป.ช.ดูแล้วค่อนข้างแรง จะทำให้โครงการนี้สะดุดได้เลยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีใครได้อ่านเลยว่าเป็นอย่างไร เป็นการคาดเดากันไป แต่ถึงอย่างไรเราไม่ฟังไม่ได้หรอก เราต้องฟังความเห็นของ ป.ป.ช. ต้องดู ต้องอ่าน ซึ่งต้องมาดูว่ารัฐบาลมีเจตนาที่จะทำอย่างนั้นหรือไม่ อย่างเช่น ไปเอื้อใครหรือไม่ ถ้าไปเอื้อใครตนก็ไม่เอาด้วย และไม่มีใครเอาด้วย แต่ถ้าทำเพื่อประชาชน ทำตามนโยบายที่ให้สัญญากับประชาชนไว้ พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องพร้อมที่จะช่วยกันสนับสนุน ถ้าเราไม่สนับสนุนนโยบายอันนี้ แล้วถ้ามีนโยบายของอีกพรรคหนึ่งเขาไม่สนับสนุนบ้าง แล้วประชาชนจะได้อะไร ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ประชาชนก็เสียหาย ฉะนั้น เราต้องพิจารณาอย่างดี      

 "ผมมั่นใจว่าการพิจารณาต้องดูในเรื่องของหลักธรรมาภิบาลหรือการไม่ทำผิดระเบียบ รัฐธรรมนูญ ไม่ทำผิดกฎหมาย มีอยู่แค่นี้ ถ้าผิดรัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้ หรือผิดกฎหมายก็ทำไม่ได้ ใครอยากจะทำคงทำไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่คงไม่ยอมให้ทำ อย่าไปซีเรียสจนเกินไปจนคนไม่กล้าคิดอะไรเลย" นายอนุทิน กล่าว       น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงรายงานของป.ป.ช.เตือนรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการดิจิตอลวอลเลตอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นคำแนะนำของป.ป.ช.ที่ควรรับฟังแล้ว แต่ไม่ต้องทำตาม เพราะการดำเนินนโยบายเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาล ดังนั้นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่ข้อกฎหมายอะไรที่จำเป็น ขอให้องค์กรอิสระทำงานอยู่ในขอบอำนาจหน้าที่ของตัวเอง หลายเรื่องไม่ใช่หน้าที่ของป.ป.ช.ด้วยซ้ำ แต่ถ้าเป็นข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ที่รัฐบาลก็ควรรับฟัง แต่ไม่น่าจะนำมาเป็นจุดอ้างอิงว่าที่เราไม่ได้ทำเพราะป.ป.ช.หรือกฤษฎีกาพูดแบบนั้นแบบนี้ จึงอยากให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ถ้าจะไปต่อไม่ได้ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรง ไม่ต้องเอาหลังพิงองค์กรอิสระ      

เมื่อถามย้ำว่า ป.ป.ช.ระบุประเทศยังไม่มีวิกฤต น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ความจริงวิกฤตของประเทศยังไม่ได้เข้าตามนิยม 7 ข้อ ของธนาคารโลกเลยแม้แต่ข้อเดียว ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายค้านก็เคยพูดน้ำหนักน้อย และอาจมองว่าแฝงการเมือง ซึ่งรายงานของป.ป.ช.ตนเคยเสนอรัฐบาล แม้จะมีความเห็นตรงกันแต่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องนำรายงานของป.ป.ช.พอเป็นหลังพิง อยากให้รัฐบาลรับผิดชอบอย่างเต็มที่ว่าทำไมโครงการนี้ถึงไปต่อไม่ได้    

 เมื่อถามว่า หากรัฐบาลดำเนินการต่อไปโดยไม่ออกเป็นพ.ร.บ.เงินกู้แต่เปลี่ยนเป็นใช้งบกลางแทน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือเปลี่ยนไปใช้งบประมาณปี 68 แทนแต่ว่าก็จะเหมือนงบประมาณปี 67 คือไม่มีที่ว่างเหลือให้ใส่โครงการขนาด 5 แสนล้าน เข้าไปได้ ต้องตัดเข้าไปในส่วนของงบลงทุน ถ้ายังไม่มีการแก้โครงสร้างงบประมาณให้แล้วเสร็จ แต่ถ้าจะลดขนาดของโครงการให้ขนาดเล็กลงพอที่จะยัดในปี 68 ได้ ก็จะปลอดภัยที่สุดที่จะทำได้  

   เมื่อถามย้ำว่า ทางออกที่ดีที่สุดของรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการดิจิตอล นส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ยังคงมีโอกาสที่จะทำได้ โดยการลดขนาดลงและใช้วิธีการที่เป็นไปได้ตามกฎหมายก่อน หรือไปแก้ไขพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อให้กู้เงินโดยไม่ต้องมีวิกฤต ซึ่งรัฐบาลคุมเสียงข้างมาก สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เมื่อถามว่า หากรัฐบาลดำเนินการต่อจะมีผลอย่างไร น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า มีผลแน่ๆเพราะทุกคนก็ทราบว่าติดล็อกทางกฎหมาย อาจจะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายคนที่ฝ่าฟันลุยไฟไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่สภาฯก็ต้องโหวตที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ข้าราชการต่างๆที่เข้ามามีส่วนร่วมในการลงมติ ก็ต้องดึงเขามาอยู่ในร่างแหนี้ด้วย อยากให้รัฐบาลทบทวนว่าจะหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร      วันเดียวกัน  ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ 8/2566 กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่    

 โดยศาลรัฐธรรมนูญลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากวินิจฉัยว่านายศักดิ์สยามยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตัคชั่น เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.66