รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐนับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและยกระดับชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น คาดว่าปี 2566 มูลค่าการก่อสร้างของภาครัฐอยู่ที่ 8.4 - 8.5 แสนล้านบาทหรือขยายตัว 2.5 - 3.5 % จากฐานในปี 2565 ส่วนปี 2567 เชื่อมั่นว่ายังคงเติบโตเช่นเดียวกับปี 2566 เนื่องจากรัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega Projects) อย่าง โครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างจากภาคเอกชนขนาดใหญ่ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โครงการอสังหาต่าง ๆ เป็นต้น
จากการเติบโตของโครงการขนาดใหญ่ทำให้ปัจจุบันความต้องการวิศวกรรมเน้นไปในเรื่องของเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมอัจฉริยะ เครื่องจักร อุปกรณ์ทางการก่อสร้าง วัสดุที่ทันสมัยหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ที่แตกต่าง อาทิ AI โดรน หุ่นยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น วิศวกรรุ่นใหม่จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ศาสตร์ที่หลากหลาย เพื่อตอบรับโอกาสและรองรับความก้าวหน้างานวิศวกรรมระดับโลก นอกจากนี้ ยังต้องมีแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, Governance: ESG) ด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กล่าวถึงการจัด “งานวิศวกรรมแห่งชาติ” ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนในแวดวงวิศวกรได้เข้ามาอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ตลอด 30 ปีที่จัดงานได้รับความสนใจอย่างดี โดยเฉพาะหัวข้อเสวนาซึ่งปีนี้มีถึง 50 หัวข้อว่าด้วยเรื่อง Engineering Sustainability และจะยกระดับสู่การจัดประชุมระดับนานาชาติด้านวิศวกรรม เพื่อให้ไทยเป็นเวทีในการกำหนดเทรนด์ของภูมิภาค
“หัวข้อเสวนาเราจะดูเรื่องที่ Hot ในขณะนั้น อย่างตอนที่สนามบินสุวรรณภูมิร้าว เราก็เอาเรื่องนี้มาเสวนากัน ปีนี้เราจะเน้นในเรื่องวิศวกรรมและความปลอดภัยของระบบราง บ้านเรายังไม่มีมาตรฐานเรื่องนี้ ที่ผ่านมาเราก็อิงมาตรฐานของประเทศอื่นแทน”
นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการนำหุ่นยนต์ AI หรือนวัตกรรมเกี่ยวกับวิศวกรรมต่าง ๆ มานำเสนอ ผู้เข้าชมงานไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร ประชาชนทั่วไปก็ชมได้ อย่างประชาชนหากต้องการสร้างอาคารสีเขียว มางานนี้จะเข้าใจว่าอาคารสีเขียวเป็นอย่างไร ก็สามารถเอาความรู้ที่ได้ไปสื่อสารกับคนออกแบบ ช่าง หรือวิศวกร ภายในงานมีคลินิกวิศวกรรมสำหรับประชาชน เพื่อให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรม เช่น บ้านร้าว บ้านทรุด ต้องแก้ไขอย่างไร
นายสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข ประธานคณะกรรมการจัดงาน International Engineering Expo 2024 กล่าวว่า งานวิศวกรรมแห่งชาติ เป็นงานที่จัดต่อกันมาอย่างยาวนาน จนเป็นที่ยอมรับของวงการวิศวกรทั่วประเทศ โดยงานด้านวิศวกรรมเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการบริหารจัดการแบบดิจิตอล การผลิตและบริหารจัดการด้านพลังงาน อาคารอัจฉริยะต่าง ๆ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีโครงการด้านวิศวกรรมขนาดใหญ่มากมาย จึงเหมาะให้วิศวกรจากประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) เข้ามาศึกษางานวิศวกรรมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ งานด้านวิศวกรรมปัจจุบันยังต้องคำนึงถึงความใส่ใจในความยั่งยืน (ESG) และ Net Zero ด้วย
“การจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด Driving Sustainability Responsiveness “ขับเคลื่อนวิศวกรรม เพื่อตอบรับความยั่งยืน” ภายในงานจะมีการนำเทคโนโลยีวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนมาแสดง ซึ่งปัจจุบัน ESG ในไทยยังเป็นแค่การสมัครใจ แต่ในอนาคตจะต้องบังคับ เพราะต่างชาติจะมาลงในไทยเขาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย”
คุณสุรพล อุทินทุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติในครั้งนี้ เป็นการรวมความแข็งแกร่งของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในด้านองค์ความรู้ในทุกสาขาวิศวกรรมกับความเชี่ยวชาญในการจัดงานแสดงสินค้าของบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อยกระดับการจัดงานให้เป็นงานระดับนานาชาติ พร้อมต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ Exhibitor และ Visitor จากนานาชาติ โดยสัญญาความร่วมมือครั้งนี้จะเริ่มขึ้นในปีนี้และต่อเนื่องไป 3 ปี
“สำหรับพื้นที่ในการจัดงานใช้พื้นที่ 5,000 ตร.ม. มี 150 บริษัททั้งไทยและต่างประเทศมาออกบูธ 50 หัวข้อสัมมนา จากวิทยากร Best Practice หลากหลายแบบอย่างความสำเร็จด้านความยั่งยืน ซึ่งทางเราจะจัดรูทการเดินชมงานและการเข้าฟังสัมมนาที่เหมาะสม สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมงานทาง NCC มีความพร้อมในการรองรับ อำนวยความสะดวก ทั้งเรื่องการขนย้ายเทคโนโลยีเข้ามาแสดง การจัดห้องพัก และการที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์อยู่ใกล้ MRT ทำให้สะดวกในการเดินทาง”
คุณสุรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ปีนี้ผู้แสดงสินค้าจะมีทั้งมาจากโซนยุโรปและโซนเอเชีย ซึ่งนับเป็นปีแรกที่โซนเอเชียเข้าร่วม และยังเป็นปีแรกที่วิศวกรจากกลุ่มประเทศ CLMV จะมาเดินชมงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมงานจากภูมิภาคอื่นในปีต่อไป
“องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมได้ช่วยให้เมื่อครั้งรีโนเวตศูนย์ประชุมสิริกิติ์ สามารถเลือกใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมทำให้ใช้เงินลงทุนน้อยและระยะเวลาการก่อสร้างเร็ว งานดังกล่าวจึงเหมาะกับทุกท่านที่ต้องการองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม เครื่องกล นวัตกรรม เทคโนโลยี ซึ่งสามารถมาชมแล้วนำไปขยายต่อได้”
งาน “International Engineering Expo 2024” จะจัดพร้อมงาน “ASEAN TOOLS EXPO 2024” งานแสดงนวัตกรรมฮาร์ดแวร์และเครื่องมือช่างระดับภูมิภาคอาเซียน ระหว่างวันที่ 24–26 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดผู้เข้าชมงานกว่า 30,000 คน สร้างรายได้จากการซื้อขายและ Business Matching กว่า 1,000 ล้านบาท