วันที่ 17 ม.ค.67 ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงถึงกรณีที่มีการเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้มีจุดประสงค์จะรับฟังความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเราได้รับเอกสารจากกฤษฎีกาแล้ว เพื่อรอเอกสารจากป.ป.ช.มาพิจารณาพร้อมกัน จากนั้นจะได้กำหนดแนวนโยบายต่อไป ส่วนกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หยิบยกหนังสือของ ป.ป.ช.มาแถลงนั้น เราได้ดูในรายละเอียดแล้ว เขียนค่อนข้างชัดเจนและแรงพอสมควรในการคัดค้านการเดินหน้าโครงการซึ่งเราก็รับฟังและนำมาพิจารณาอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ก็ยังเช่นเดิมคือยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งเอกสารที่เห็นไม่ทราบว่าเป็นทางการหรือไม่อย่างไร หรือเป็นเอกสารที่เป็นจริงหรือไม่
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า จากที่ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษานโยบายดิจิทัล โดยมีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตป.ป.ช.เป็นประธาน ได้ทำข้อเสนอแนะมา ซึ่งเราก็รับฟัง โดยน.ส.สุภา เป็นผู้ติดตามการทำนโยบายของรัฐบาลชุดนี้มาตลอด และทราบว่าก่อนที่จะเกษียณได้ส่งหนังสือฉบับนี้เข้าไปที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเราก็ดูความชัดเจนว่า ป.ป.ช.จะพิจารณาตัวหนังสือนี้เมื่อไร และจะส่งมาให้รัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายฯ เมื่อไร
เมื่อถามว่าหลายฝ่ายที่ได้เห็นเอกสารของกฤษฎีกาและป.ป.ช.ต่างแนะให้รัฐบาลทบทวนโครงการเงินดิจิทัลวอลล็อต 1 หมื่นบาท เพราะเกรงจะซ้ำรอยโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ทั้งปราะชาชนและหน่วยงานต่างๆ โดยคณะกรรมการนโยบายฯ เปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลายอย่างเต็มที่ ตนไม่เคยพูดว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อยากให้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนว่าขณะนี้เศรษฐกิจมันไม่ได้ดี เราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากทุกฝ่ายเห็นตรงกันและสามารถเดินหน้าได้ ก็จะเป็นวัตถุประสงค์ที่เราคาดหวัง หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเราเห็นว่าหนังสือของกฤษฎีกา เป็นคำตอบเชิงกฎหมายไม่มีไฟเขียว ไฟแดงว่าควรทำหรือไม่ควรทำ ซึ่งเขาไม่ได้ห้าม หรือสั่งการให้เดินหน้า เพราะไม่ใช่หน้าที่เป็นเพียงความเห็นข้อกฎหมายที่คณะกรรมการนโยบายฯ มีหน้าที่รับฟัง และนำไปปฏิบัติ เพื่อให้เข้าสู่กรอบของกฎหมายให้ได้ในที่สุด แต่สำหรับหนังสือของ ป.ป.ช.นั้น ค่อนข้างชัดเจนว่ามีการวางธงไว้ชัดที่จะไม่ให้โครงการนี้เดินหน้าไปได้
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า แม้โครงการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จะได้รับการเห็นชอบจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และมีการแถลงนโยบายในสภาไปแล้ว แต่ก็มีบางกลุ่ม เช่น ป.ป.ช. หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งอาจจะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำ หรืออาจจะยังมองไม่เห็นวิกฤตเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลพยายามจะบอก
“วิกฤตขณะนี้ไม่ใช่วิกฤตการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจหรือวิกฤตด้านโครงสร้างเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตแห่งความเห็นอกเห็นใจต่อพี่น้องประชาชนที่มีความเดือดร้อน Democracy without empathy ทุนนิยมที่ไม่มีหัวใจ เข้าใจในผู้ที่เดือดร้อน แสดงให้เห็นมาตลอดว่าล้มเหลว วันนี้ผมต้องเรียนว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.กลาโหม เราได้เดินทางพบปะประชาชนทั่วประเทศ ได้เห็นความเดือดร้อน
โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ไม่ได้เป็นการทำงานในห้องแอร์ ตอนนี้พี่น้องทั่วประเทศต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ รัฐบาลไม่ได้มองเศรษฐศาสตร์เป็นแค่หนังสือแบบเรียน แต่มองในมิติของความเป็นจริง มิติชีวิตพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนด้วย ผมต้องเรียนว่าวันนี้ วันนี้หากดูกรอบเวลาคงไม่ทันเดือนพ.ค.จริงๆ แต่ยืนยันว่าเราต้องเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไป”
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ถึงแม้จะไม่สามารถยืนยันกรอบเวลาในเดือน พ.ค.ตามที่เคยแถลงมาได้ เพราะหากดูจากข้อคิดเห็นที่ออกมาเป็นหนังสือ ขั้นตอนต่อจากนี้เราคงต้องรอให้ ป.ป.ช.ส่งหนังสือมาอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นฉบับนี้หรือฉบับแก้ไข แล้วเราจะเชิญคณะกรรมการนโยบายฯ มาประชุมเพื่อนำเอาความเห็นของ 2 หน่วยงานมาพิจารณาในคราวเดียวกัน และเริ่มกระบวนการในการฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ในการทำความเข้าใจกับหน่วยงานและองค์กรใดๆ ก็ตามที่ยังไม่เห็นเจตนาดีของรัฐบาล หรือยังมองไม่เห็นความเดือดร้อนของประชาชน จะต้องสื่อสารจนทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกัน และเดินหน้านโยบายนี้ในที่สุด
เมื่อถามว่าหากรัฐบาลดึงดันที่จะเดินหน้าต่อไปจนถึงที่สุด ไม่หวั่นใช่หรือไม่ที่จะเกิดประเด็นทางการเมืองตามมาทีหลัง ในการเอาผิด นายจุลพันธุ์ กล่าวว่า นี่คือเหตุผลที่ทำไมต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ ว่าสิ่งที่เราต้องเดินหน้ามี่เหตุผลคืออะไร และความเดือดร้อนของประชาชนคืออะไร รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นอนุบาลทางการเมือง เพราะเราเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร สิ่งที่พยายามทำให้มันเป็นคืออะไร เรามีหน้าที่พยายามทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบของกฎหมายและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน และแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลยึดเป็นธงหลัก
เมื่อถามว่าการระบุว่าดำเนินการไม่ทันในเดือน พ.ค.จะมีการยกเลิก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ กลไกนี้สุดท้ายก็ต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายฯ พูดคุยและตัดสินใจว่าจะใช้กลไกอะไร และเดินหน้าอย่างไร อาจจะเป็นในรูปแบบ พ.ร.บ.หรือช่องทางใด เวลานี้ตนยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่จากการพูดคุยในรายละเอียด และดูอุปสรรคที่เห็น เรามองว่ากลไกที่จะผลักดันให้อยู่ในช่วงเดือน พ.ค. ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ยืนยันว่าจะพยายามให้มากที่สุด แต่ต้องยอมรับว่ากลไกหนึ่งที่เราไม่รู้ คือการตอบเอกสารของ ป.ป.ช.จะมาเมื่อไร และกลไกในการสร้างความเข้าใจต่อหน่วยงานต่างๆ ให้ตรงกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องใช้เวลาซึ่งตรงนี้ไม่มีกรอบเวลา
เมื่อถามว่า หากหน่วยงานอื่นยังมองไม่เห็นวิกฤตตามรัฐบาลอ้าง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฯ ที่ต้องทำความเข้าใจ แน่นอนว่าภาวะของเศรษฐกิจยังมีความไหลลื่นและไม่ได้อยู่ชุดเดียว และข้อมูลที่ได้อาจจะเป็นของช่วงปลายปีที่แล้ว หรือ Out date หรือเรียกว่าหมดความเป็นปัจจุบันไปแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจะต้องนำเอาสถานการณ์ปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นจริงมานำเสนอต่อสังคม และหน่วยงานเหล่านั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ยืนยันว่าถึงแม้เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลวอลเลต จะต้องเลื่อนออกไป แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เราพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบที่จำกัดที่มี ให้แก้ความเดือดร้อนของประชาชนได้มากที่สุด เรามีปัญหา 100 เรื่องที่ต้องแก้ไข หากเรื่องนี้จำเป็นต้องเป็นอีกเรื่องที่ต้องชะลอไป เพื่อให้สามารถทำอีก 99 เรื่องได้ เราก็ยินดี
เมื่อถามว่ารัฐบาลมีแผนสำรองหากโครงการเดินหน้าไม่ได้หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ได้ให้คำตอบว่าโครงการนี้ไปไม่ได้ กลไกของภาครัฐมีมากมาย เรามีศักยภาพ เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน ดังนั้นยังมีหนทางอีกมาก
เมื่อถามว่ารัฐบาลมีแนวทางอื่นเช่น ลดวงเงินในการแจกลงหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุย ซึ่งก่อนหน้านี้เรามีการลดมาแล้วรอบหนึ่ง หลังจากฟังความเห็นจากหลายหน่วยงาน โดยเห็นว่าการแจกเงินให้บางกลุ่มไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่ต้องการ เราจึงรับฟังและปรับลดลงมาเหลือ 50 ล้านคน ส่วนตัวเลขที่ออกมาว่าอาจจะลดเหลือ 30 ล้านคนนั้นตนไม่เคยได้ยิน ได้ยินจากสื่อเท่านั้น ยืนยันว่ายังเท่าเดิมคือ 50 ล้านคน
เมื่อถามว่า สว.มองว่ารัฐบาลดันทุรังในการที่จะผลักดันโครงการนี้ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ดันทุรัง แต่เป็นการมองเห็นปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ การเจริญเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ หากไม่ได้ลงพื้นที่สัมผัสกับประชาชนแล้วจะมองไม่เห็นจุดนี้ ก็ต้องพยายามชี้ให้เห็นว่ามีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเดินหน้าให้กลับมาแข็งแกร่งในระดับที่เป็นไปตามศักยภาพของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นจะใช้คำนี้ไม่ได้ แต่เป็นความตั้งใจที่จะรับใช้ประชาชนและนโยบายนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งและการแถลงนโยบายต่อสภา จึงเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลต้องพยายามที่สุดในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
เมื่อถามว่ามีการมองว่ารัฐบาลอาจจะใช้ ป.ป.ช.เป็นหลังพิงในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลฯ นายจุลพันธ์ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่การใช้ป.ป.ช. เป็นหลังพิง ยืนยันรัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น สว. ป.ป.ช. องค์กรภาคส่วนใดในสังคม รวมถึงฝ่ายค้าน และนำมาปรับให้เหมาะสม เมื่อมีข้อมูลเข้ามาเราก็นำมาประกอบการดำเนินโครงการนี้ ตนไม่อยากให้ฝ่ายค้านใช้ ป.ป.ช.เป็นเครื่องมือในการทำลายรัฐบาลเช่นกัน
#จุลพันธ์ #ดิจิทัลวอลเล็ต #แจกเงิน #เพื่อไทย