วันที่ 17 ม.ค.67 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงรายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตือนรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการดิจิตอลวอลเล็ต อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญว่า เป็นคำแนะนำของป.ป.ช.ที่ควรรับฟังแล้ว แต่ไม่ต้องทำตาม เพราะการดำเนินนโยบายเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาล ดังนั้นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่ข้อกฎหมายอะไรที่จำเป็น ขอให้องค์กรอิสระทำงานอยู่ในขอบอำนาจหน้าที่ของตัวเอง หลายเรื่องไม่ใช่หน้าที่ของป.ป.ช.ด้วยซ้ำ แต่ถ้าเป็นข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ที่รัฐบาลก็ควรรับฟัง แต่ไม่น่าจะนำมาเป็นจุดอ้างอิงว่าที่เราไม่ได้ทำเพราะป.ป.ช.หรือกฤษฎีกาพูดแบบนั้นแบบนี้ จึงอยากให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ถ้าจะไปต่อไม่ได้ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรง ไม่ต้องเอาหลังพิงองค์กรอิสระ
เมื่อถามย้ำว่าป.ป.ช.ระบุว่าประเทศยังไม่มีวิกฤต น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ความจริงวิกฤตของประเทศยังไม่ได้เข้าตามนิยม 7 ข้อของนาคารโลกเลยแม้แต่ข้อเดียว ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายค้านก็เคยพูดน้ำหนักน้อย และอาจมองว่าแฝงการเมือง ซึ่งรายงานของป.ป.ช.ตนเคยเสนอรัฐบาล แม้จะมีความเห็นตรงกันแต่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องนำรายงานของป.ป.ช.พอเป็นหลังพิง อยากให้รัฐบาลรับผิดชอบอย่างเต็มที่ว่าทำไมโครงการนี้ถึงไปต่อไม่ได้
“ดิฉันสงสัยว่าคณะกรรมการนโยบายฯถึงเลื่อนการประชุมเมื่อออกไป เพราะถ้ารัฐบาลจะทำต่อได้ก็ไม่ต้องฟังความเห็นของป.ป.ช.รับฟังได้แต่ไม่ควรจะเป็นจุดเปลี่ยน จุดตาย ไม่ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่โครงการนี้จะไปต่อหรือไม่ไปต่อ เพราะกรณีนี้เทียบเคียงกับโครงการจำนำข้าวไม่ได้เลย แต่เทียบเคียงกับพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่มีใครได้รับผลกระทบทางกฎหมายแต่อย่างใด ยกเว้นคนที่เสียบบัตรแทนกัน
จึงอยากให้รัฐบาลอยู่นิ่งๆคิดทบทวนโครงการนี้อีกสักครั้งว่ามีโอกาสเป็นไปได้ด้วยวิธีการใดบ้าง ตอนที่หาเสียงเลือกตั้งยังไม่มีอำนาจรัฐ ไม่มีข้าราชการ ยังมองไม่ออกว่าจะทำด้วยวิธีการใด วันนี้มีข้าราชการช่วยคิดให้แล้วจะเดินหน้าอย่างไร และจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใด แม้ขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดี โตต่ำ แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็มีปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ในระยะสั้น ระยะยาว และแก้โครงสร้างระยะ เพราะฉะนั้นเรื่องอะไรที่ต้องแก้ทันทีเริ่มทำได้แล้ว อย่ามัวแต่รอดิจิตอลไม่รู้เมื่อไหร่จะได้ทำ ถ้าเกิดวิกฤตจริงก็รอไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องทำเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
เมื่อถามว่าหากรัฐบาลดำเนินการต่อไปโดยไม่ออกเป็นพ.ร.บ.เงินกู้แต่เปลี่ยนเป็นใช้งบกลางแทน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือเปลี่ยนไปใช้งบประมาณปี 68 แทนแต่ว่าก็จะเหมือนงบประมาณปี 67 คือไม่มีที่ว่างเหลือให้ใส่โครงการขนาด 5 แสนล้านเข้าไปได้ ต้องตัดเข้าไปในส่วนของงบลงทุน ถ้ายังไม่มีการแก้โครงสร้างงบประมาณให้แล้วเสร็จ แต่ถ้าจะลดขนาดของโครงการให้ชนาดเล็กลงพอที่จะยัดในปี 68 ได้ ก็จะปลอดภัยที่สุดที่จะทำได้ เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.)มีการพูดถึงกรอบงบประมาณปี 68 ว่าทางสำนักงบประมาณก็คงมีการพูดคุยกับรัฐบาลแล้วว่าทำได้หรือไม่ได้ ในกรณีนี้จะบรรจุเข้าไปในงบประมาณปี 68
เมื่อถามย้ำว่าทางออกที่ดีที่สุดของรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการดิจิตอล น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ยังคงมีโอกาสที่จะทำได้ โดยการลดขนาดลงและใช้วิธีการที่เป็นไปได้ตามกฎหมายก่อน หรือไปแก้ไขพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อให้กู้เงินโดยไม่ต้องมีวิกฤต ซึ่งรัฐบาลคุมเสียงข้างมาก สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
เมื่อถามว่าหากรัฐบาลดำเนินการต่อจะมีผลอย่างไร น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า มีผลแน่ๆเพราะทุกคนก็ทราบว่าติดล็อคทางกฎหมาย อาจจะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายคนที่ฝ่าฟันลุยไฟไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่สภาฯก็ต้องโหวตที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ข้าราชการต่างๆที่เข้ามามีส่วนร่วมในการลงมติ ก็ต้องดึงเขามาอยู่ในร่างแหนี้ด้วย อยากให้รัฐบาลทบทวนว่าจะหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
#ดิจิทัลวอลเล็ต #เพื่อไทย #ก้าวไกล