เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567-กลุ่มนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับเรื่องขอให้ตรวจสอบการฟ้องร้องดำเนินคดีว่ามีเจตนาใช้กฎหมายปิดปากนักเคลื่อนไหวและละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และปาตานี หรือไม่
โดยใจความในหนังสือความว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และปาตานี กว่า 20 ปี ขณะนี้ยังไม่ท่าทีว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่งถูกจุดและตรงตามเป้าหมาย การทุ่มทรัพยากรทางด้านงบประมานจำนวนมากเกือบปีละ 30,000 กว่าล้านบาท เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาในมิติด้านต่างๆ โดยเฉพาะมิติค้านความั่นคง ยังคงเป็นแนวทางหลักในการใช้งบประมาน เพื่อแก้ไขปัญหาและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ แม้ว่ามันจะไม่ได้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือสถิติเหตุการณ์ที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญก็ตาม และดูเหมือนสถานการณ์จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่มีการพูดคุยเจรจาสันติภาพตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีปัญหา อุปสรรคบ้างในบางช่วงเวลา แต่ก็ถือว่าคืบหน้าในระดับหนึ่ง
แต่ในปัจจุบันสถานการณ์กลับตรงกันข้าม สืบเนื่องจากช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา ปี 2563-2564 เกิดเหตุการณ์การปะทะวิสามัญฆ่ากรรม ซึ่งมีอัตราที่สูงกว่าปีที่ผ่านๆมา เกือบ 70 คน ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบให้กับภาครัฐมากนัก ที่สำคัญเป็นการสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้สัดส่วน เพราะเมื่อคนที่ถูกฆ่าวิสามัญ เหล่านั้นถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งหรือฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐ แม้ว่าโดยทั่วไปประชาชนในพื้นที่จะเป็นพลเมืองรัฐไทยเหมือนๆ กับภูมิภาคอื่นๆ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมตลอด ระยะเวลายี่สิบปี อาทิเช่น การเก็บดีเอ็นเอ ที่มีทั้ง ผู้หญิงและเด็ก เวลาผ่านด่านตรวจก็จะถูกตรวจบัตรและถ่ายรูปคู่กับประชาชน ซึ่งเกือบ99เปอร์เซ็น เป็นคนมลาชูมุสลิม โดยเฉพาะที่เป็นเยาวชนผู้ชาย และการทำกิจกรรมของ
นักศึกษา และนักเคลื่อนไหวที่ผ่านมาไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ไม่ว่าในรั้วมหาวิทยาลัยและสถานที่ต่างๆ เพราะถูกสั่งห้ามจากผู้มีอำนาจรัฐ สั่งไม่ให้จัดดำเนินกิจกรรมได้ บรรยากาศแบบนี้ไม่ได้สร้างสภาวะที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพที่กำลังเดินหน้าให้มีความยั่นยืน
ด้านนายซาฮารี เจ๊ะหลง ชมรมพ่อบ้านใจกล้า กล่าวว่า ตนเองถูกกล่าวหาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในเรื่องของการระดมทุนบริจาคเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งโดนผลกระทบจากการใช้กฎหมายปิดปาก (SLAPP) ทำให้วันนี้ตนเองและกลุ่มนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการยื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อช่วยให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายจากการถูกกล่าวหาในเรื่องการจัดกิจกรรมและการระดมทุน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การดำเนินคดีบุคคลผู้แต่งกายชุดมลายูใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี หรือแม้การจัดทำประชามติจำลอง ทุกคนต้องการรณรงค์เพื่อรักษาอัตลักษณ์ตัวตนและชาติพันธุ์ของตนเอง แต่ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงกลับใช้กฎหมายในการปิดปากนักกิจกรรมที่พยายามสร้างพื้นที่ทางการเมือง และสร้างบรรยากาศของกระบวนการสันติภาพให้เป็นไปในทางที่ดี จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทำช่วยตรวจสอบและทำให้พื้นที่ทางการเมืองและกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในทุกพื้นที่ไม่ไปถึงทางตัน
ด้านนายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani กล่าวว่า นโยบายเรื่องกระบวนการสันติภาพ เป็นนโยบายที่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดเจนในยุคของรัฐบาลพลเรือนตั้งแต่สมัยของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยของนายเศรษฐา ทวีสิน หรือแม้แต่สมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการพูดคุยถึงเรื่องสันติสุข โดยหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลไทยและขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (BRN) ได้พูดคุยและเห็นตรงกัน คือการหาทางออกทางการเมือง การยุตติการใช้กำลัง และการสนทนาสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่สามารถพูดคุยได้อย่างเสรี และหวังให้รัฐบาลไทยจะสามารถหาทางออกให้ได้ทุกฝ่าย
“การที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถส่งเสียง การพูดถึงความรู้สึกนึกคิดของพี่น้องประชาชนไม่สามารถพูดออกมาได้เป็นการทำลายกระบวนการสันติภาพ หากเราไม่อยากให้ไฟความไม่สงบเกิดขึ้น นี่จึงถือเป็นการทำลายความตั้งใจของสังคมไทยโดยรวม”
ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า คณะที่มายื่นวันนี้ ใน 3 เรื่องมีผู้ไปแจ้งความร้องทุกข์ ไว้ตั้งแต่ ปี 65-66 ในส่วนของคดีความอยู่ที่พนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 เรื่อง และอีกเรื่องอยู่ที่ DSI ซึ่งได้สอบถาม DSI ปรากฎว่าพบข้อสงสัย และต้องชี้แจง โดยจะต้องชี้แจงทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากไทยเป็นระบบกล่าวหา ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องดูที่ระบบการสอบสวน ตามพยานหลักฐาน แต่สิ่งที่มีการกังวลคือเรื่องการแสงดออกตามรัฐธรรมนูญ โดยพี่น้องประชาชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา และการแต่งกาย สิ่งตรงนี้อาจทำให้ถูกกฎหมายอาญามาตรา 116 อั่งยี่ซ่องโจร และการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งภายในคำร้องที่ให้มาเป็นการขอความเป็นธรรม
ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมจะมอบหมายให้รองปลัดที่อยู่ในคณะพูดคุยเข้าไปตรวจสอบ พร้อมกล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมขอยืนยันว่าเราจะยึดตามหลักยุติธรรม กฎหมายรัฐธรรมนูญเองก็เป็นกฎหมายสูงสุด และจะต้องไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือความยุติธรรม เพราะเจตนาของความยุติธรรมจะทำให้การบัญญัติกฎหมาย ดังนั้นการใช้ดุลยพินิจหรือการตีความในมุมต่างๆ อาจต้องมีความสามารถในการถกเถียง และสามารถเปิดพื้นที่ให้พูดคุยได้อย่างเสรี
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ทางรัฐบาลจะเข้าไปพบกับหัวหน้าคณะพูดคุยฯ และเลขาสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และรัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวล่วงในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจจะมีผู้ร้องทุกข์บางคดีเป็นทหาร ซึ่งได้ถามกับทางตำรวจและขอให้ใช้ดุลยพินิจทางหลักฐาน ส่วนรายละเอียดเชิงลึกกว่านั้นคงต้องไปคุยในส่วนของรัฐบาล
ด้านนายซูการ์โน มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเราพรรคประชาชาติขอยืนหยัดอยู่เคียงข้างความถูกต้อง “เพราะที่ไหนถ้าไม่มีความยุติธรรม ความเจริญก็จะไม่เกิด” และเชื่อมั่นในตัวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่าจะสามารถนำความยุติธรรมมาให้กับพวกเราเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พยายามจะรักษาอัตลักษณ์และตัวตนของคนในพื้นที่ให้คงอยู่ต่อไป