วันที่ 16 ม.ค.2567 นายสมชาย แสวงการ สว.ฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความมเห็นเกี่ยวกับนโยบาย กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะต่อนโยบายเติมเงินฯ ของรัฐบาลเพื่อป้องกันการทุจริต ว่า ตนเห็นรายละเอียดดังกล่าวแล้วพบว่าเป็นประเด็นที่คณะกรรมการดิจิทัลของรัฐบาลควรรับไปพิจารณาให้ละเอียด และรอบคอบ และต้องพิจารณาควบคู่กับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้ตอบคำถามในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะนั้นเป็นประเด็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตต่อการทำนโบายของรัฐบาล ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 32 โดยมีรายละเอียดของข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ สถานการณ์ประเทศยังไม่วิกฤต และการทำนโยบายควรมุ่งเน้นกลุ่มเปราะบาง รวมถึงใช้แอพลิเคชั่นเป๋าตังค์แทนใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงคำนึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

“ในข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ที่มีจำนวนหน้ากว่า 177 หน้า พบว่ามีข้อเสนแนะอยู่ 58 หน้าที่เหลือนั้นเป็นภาคผนวก ที่ผมมองว่าเป็นส่วนสำคัญ หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการจนเกิดความเสี่ยง หรือการกระทำที่ทำผิดกฎหมาย เอกสารในภาคผนวกนั้นสามารถใช้เป็นเอกสารพยานหลักฐานต่อศาลได้ ซึ่งการเตือนของ ป.ป.ช.นั้น คล้ายกับการวินิจฉัยในโครงการรับจำนำข้าว” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ตนมองว่ารัฐบาลควรเลิกโครงการดังกล่าว แต่หากจะมุ่งมั่นเพื่อใช้เงินของประเทศ ผ่านการกู้เงินทั้ง การออก พระราชกำหนด หรือ พระราชบัญญัติ ควรพิจารณาปรับรายละเอียด เช่น พุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 1.5 แสนล้านบาท ส่วน 3.5 แสนล้านบาท ให้นำมาใช้กับนโยบายอื่นๆของรัฐบาลที่เน้นการจ้างงาน เพิ่มทักษะการทำงานของประชาชน จ้างงานนักศึกษาจบใหม่ พัฒนาด้านระบบเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศหรือทักษะการประกอบอาชีพของประชาชน  เป็นต้น 

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ประเทศเสียเวลา 4 เดือนกับดิจิทัลวอลเลต ที่ไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ แทนที่จะได้เห็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนในระยะต่างๆ ส่วนตัวมองว่าที่ยังไม่เห็นผลการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนคาดหวัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง เดินทางไปต่างประเทศมากจนเกินความจำเป็น และตนมองว่าภารกิจในต่างประเทศบางอย่างควรให้รองนายกฯ ที่เกี่ยวข้อง หรือ รมว.การต่างประเทศ รมว.พาณิชย์ไปดำเนินการแทน ซึ่งรวมถึงการเดินทางไปดาวอสสมาพันธรัฐสวิส เช่นกัน 

“นายกฯ เดินทางไปตลอดเวลา แทนที่จะนั่งหัวโต๊ะ เป็นแม่ทัพการนำแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง 4 เดือนที่ผ่านมา ผมไม่ให้ผ่านโปร และยังให้สอบตก ผมมองว่ารัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศควรสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศก่อนี่จะบินไปต่างประเทศบ่อยๆ แม้ว่านายกฯ จะบอกว่าเขาคือเซลแมนประเทศ แต่เขามีผลผลิตอะไรใหม่ๆ หรือสินค้าอะไรไปขายต่างชาติบ้าง  หากจะไปแค่ทำความรู้จัก ผมมองว่าแค่ส่งนามบัตร หรือ โบว์ชัวร์ไปก็ได้ เทียบกับคนที่เพิ่งตั้งบริษัทใหม่ๆ ยังไม่เข้มแข็ง แต่ซีอีโอเดินทางไปต่างประเทศเป็นว่าเล่น บางงานที่ไม่จำเป็นควรให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปทำแทน” นายสมชาย กล่าว