ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า สำนักงาน อีอีซี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่และชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตและได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศการลงทุน ซึ่งโครงการ อีอีซี สแควร์ จะเป็นส่วนหนึ่งให้น้องๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สามารถค้นหาเส้นทางอาชีพของน้องๆ ในอนาคตได้ ซึ่งการลงนาม MOU ในวันนี้ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายสำคัญของอีอีซี ที่จะเกิดการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ในการสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อีอีซี ที่ได้ร่วมกับ สกพอ. ในการแสดงความสามารถคิดค้น หรือพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ สร้างสรรค์ผลงานในโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประจำปี 2566 ที่ผ่านมา หรืออีอีซี สแควร์ (EEC2) ที่มีผลงานดีเยี่ยมหลายโครงการ ให้เกิดการพัฒนา ต่อยอด หรือขยายผลให้เกิดประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้จริงในพื้นที่หรือชุมชน และในภาคอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือในวันนี้ จะช่วยสร้างโอกาสให้ได้มีการต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ และสนับสนุนให้ผลงานจากแนวคิดของ เยาวชนอีอีซี สแควร์ นี้ ได้พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง
สำหรับหน่วยงานที่นำผลงานเยาวชนไปขยายผล เช่น WHA นำผลงานการออกแบบ และพัฒนาถังดักไขมันในน้ำเสียเพื่อใช้ในครัวเรือน จากโรงเรียนเซนต์หลุยส์ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้เป็นการคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียในชุมชน ไปขยายผลใช้กับระบบบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรม และโครงการ RICE STRAW POT (กระถางจากฟางข้าว) จากโรงเรียนหมอนทองวิทยา ซึ่งเกิดจากปัญหาการเผาฟางข้าวของชาวนาในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนการขยายผลโครงการเครื่องทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร จากโรงเรียนแปลงยาวพิทยาคม โครงการภาชนะจากเปลือกกล้วยเสริมกาบกล้วย จากโรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย ซึ่งเกิดจากการแก้ไขปัญหาของเหลือใช้ในพื้นที่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และ IWRM สนับสนุนโครงการ CATCH ME BY THE SEA (เครื่องแยกขวดพลาสติก ฝากขวด แก้วน้ำและกระป๋อง อัตโนมัติ) และ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก (Science Park) TTB และ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จะนำผลงานทั้งหมดไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์และการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป
ทั้งนี้โครงการ อีอีซี สแควร์ ได้ดำเนินการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ อีอีซี ให้สนใจในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ และครู ทั้ง 3 จังหวัดอีอีซี ได้เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนา อีอีซี ตลอดจนการสร้างพลเมืองรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา มีเยาวชนใน 3 จังหวัด อีอีซี เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 31 โรงเรียน มีการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ จากเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ได้แสดงศักยภาพ ผ่านการประกวดการสร้างสรรค์โครงงานนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นในมิติต่างๆ ตามบริบทของพื้นที่ พร้อมขยายผลจริงในชุมชน รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ยังขยายผลสร้างความเข้าใจ อีอีซี และความตระหนักด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่เพื่อน ๆ ในโรงเรียนและชุมชนรอบข้าง ได้เป็นอย่างดี