อุตรดิตถ์ คึกคัก ! ประกวดพระเครื่องพระบูชา เหรียญคณาจารย์ ทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 ผู้ว่าฯกล่าว โอวาท พระเครื่องเป็นพุทธศิลป์ แสดงอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ สืบค้นหาอดีตและยึดเหนี่ยวจิตใจคน ประกวดฯ เป็นช่องทางหนึ่ง สร้างความมั่นใจให้ผู้สนใจพระเครื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (วิทยาเขตทุ่งกะโล่) อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการประกวดการอนุรักษ์พระบูชา พระเครื่อง เหรียญคณาจารย์ทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 รับปีพุทธศักราชใหม่ 2567 เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระเครื่องพระบูชา จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยมีนายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ รศ.ดร.กันต์ อินทุวงศ์ ประธานจัดงาน และ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ฯ นางสายสมร ทองกองทุน ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุตรดิตถ์และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ นายสพโชค ( โชค อุตรดิตถ์ )แสงพันธ์ ประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยจังหวัดอุตรดิตถ์ นายปรัชญา เสริฐลือชา อดีตนายอำเภอบ้านไร่ จ.อุทัยธานี และ ( อดีตนายอำเภอพิชัย , อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์) , คณะกรรมการสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยจังหวัดอุตรดิตถ์ ตลอดจนผู้นิยมพระเครื่องจากทั่วประเทศ เข้าร่วมงาน ฯ ท่ามกลางบรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
รศ.ดร.กันต์ อินทุวงศ์ ประธานจัดงาน ฯ กล่าวว่า สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยจังหวัดอุตรดิตถ์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้ร่วมกับชมรมพระเครื่องทุกชมรมและหน่วยราชการหลายหน่วยงานในจังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินการจัดนิทรรศการประกวดอนุรักษ์พระบูชา พระเครื่อง เหรียญพระคณาจารย์และเครื่องรางของขลัง ทั่วประเทศจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อนำรายได้สนับสนุนกิจกรรมการสาธารณะกุศลทั่วประเทศ , เพื่อนำรายได้สนับสนุนโครงการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนผู้ด้อยโอกาสยากจน , เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดอุตรดิตถ์
“ มหกรรมการประกวดการอนุรักษ์พระบูชา พระเครื่อง เหรียญคณาจารย์ทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 มีทั้งหมด 87 โต๊ะ 3,139 รายการ เป็นการประกวดพระบูชา พระเบญจภาคี พระเนื้อผงยอดนิยม พระเครื่องและเหรียญคณาจารย์จากพระเกจิดังจากทั่วประเทศ พระกรุ พระเนื้อดิน พระกริ่ง อาทิ ฯ สมเด็จวัดระฆัง , สมเด็จบางขุนพรหม , สมเด็จวัดเกศไชโย , พระกำแพงซุ้มกอ , พระรอด พระนางพญา , พระผงสุพรรณ , หลวงปู่ทวด , พระหลวงปู่ภู่ , พระวัดปากน้ำ , พระปิลันทร์ , พระปิดตา ฯลฯ เครื่องรางของขลัง เช่น เหรียญรัชกาล , พญาครุฑ , เสื้อยันต์ , ผ้ายันต์ , มีดหมอ , เขี้ยว , งา , ตะกรุด , ปลัดขิก , ลูกอม , ล็อคเก็ต รูปเหมือนพระเกจิ , กะลาแกะราหู , ไอ้ไข่ , กุมาร , เบี้ยแก้ , แหวน , สาริกา ที่พระเกจิชื่อดังแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ จัดสร้างให้ศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปได้ครอบครองบูชา แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ด้วยการปฎิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในศีลธรรม เพื่อค้าขายคล่อง ค้าขายดีด้วยวาจางามมีเสน่ห์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก นายพยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย , นายพิศาล เตชะวิภาค (ต้อย เมืองนนท์) คณะผู้บริหารและคณะกรรมการสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย โดยมีประธานกรรมการบริหารสมาคม ฯ 21 จังหวัดภาคกลาง , ประธานกรรมการบริหารสมาคม ฯ 9 จังหวัดภาคเหนือ , ประธานกรรมการบริหารสมาคมฯ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ , ประธานกรรมการบริหารสมาคม ฯ 7 จังหวัดภาคตะวันออก , ประธานกรรมการบริหารสมาคม ฯ 5 จังหวัดภาคตะวันตก , ประธานกรรมการบริหารสมาคมฯ 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมให้การสนับสนุนส่งเสริมการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ พร้อมจัดส่งคณะกรรมการรับและตัดสินพระเข้าประกวดร่วมกับคณะกรรมการสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยจังหวัดอุตรดิตถ์ ยึดหลักการพิจารณาตัดสินจากความแท้ ความสมบูรณ์ ความถูกต้อง ความสวยงามและคงไว้ตามสภาพเดิม เป็นหลักสำคัญตามมาตรฐานสากลนิยมของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ด้วยหลักการตัดสินอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม จัดโดยนายสพโชค (โชค อุตรดิตถ์) แสงพันธ์ ประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยจังหวัดอุตรดิตถ์ ในฐานะประธานดำเนินงาน มหกรรมการประกวดการอนุรักษ์พระบูชา พระเครื่อง เหรียญคณาจารย์ทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 รับปีพุทธศักราชใหม่ 2567
ด้านนายศิริวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหัดอุตรดิตถ์ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า “ รู้สึกดีใจที่ทางสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้จัดงานในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ วงการพระเครื่องนั้นถือว่ามีความสำคัญประการแรก พระเครื่องนั้นถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคน เมื่อมีพลังใจ มีพลังความเชื่อมั่นจึงทำให้เกิดพุทธคุณที่แรงกล้ามากขึ้น ทำให้ผู้ถือครองมีกำลังใจในการมีพระเครื่องติดตัว และ เชื่อว่าภายในห้องประชุมนี้มีพระเครื่องติดตัวกันทุกคน เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ประการที่สอง พระเครื่องนั้นไม่เฉพาะบุคคลเท่านั้น เรายังพบว่าพระเครื่องยังมีศิลปกรรมหรือพุทธศิลป์ที่สามารถบ่งชี้ ความเป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์หรือภูมิปัญญาบุคคลยุคนั้นหรือในอดีตได้ว่า มีศิลปกรรมแบบไหนอย่างไร เป็นเครื่องสืบค้นหาในอดีตได้ ความสำคัญพุทธศิลป์ในพระเครื่องแต่ละองค์
ประการที่สาม พระเครื่องเมื่อก่อนถือเป็นงานอดิเรก เดี๋ยวนี้บางคนจากงานอดิเรกกลายเป็นงานประจำไปแล้วด้วยความเสน่ห์ของพระเครื่อง รวมถึงคุณค่าต่าง ๆ ของพระเครื่อง จึงทำให้หลายคนเปลี่ยนจากงานอดิเรกและรายได้ สิ่งเหล่านี้คือความสำคัญของพระเครื่อง สิ่งที่สำคัญที่สุด เราจะทำอย่างไรให้พระเครื่องนั้นมีมาตรฐาน ทำให้ผู้ที่จะเข้าสู่วงการพระเครื่องเกิดความมั่นใจว่า เราจะได้พระเครื่องที่มีความประสงค์และนิยมต้องการบูชาเป็นของแท้ การจัดประกวดพระเครื่องพระบูชาจึงเป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่สนใจพระเครื่องในรุ่นต่างๆ”
ในโอกาสนี้ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มอบเงินกองทุนช่วยเหลือสมาชิกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท มอบเงินโครงการช่วยเหลือเด็กนักเรียนผู้ด้อยโอกาส สำนักงานพื้นที่ประถมศึกษาอุตรดิตถ์ เขต1 จำนวน 30,000 บาท มอบทุนให้กับสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวนเงิน 20,000 บาท มอบเงินให้กับกองทุนพัฒนานักศึกษาและกิจการนักศึกษาทั้ง 8 หน่วยงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จำนวนเงิน 20,000 บาท และ มอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กชายสุกฤษฎิ์ ศรีปานอินทร์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นตั้งแต่ ม.1 - ม.3 เป็นเงินจำนวน 72,000 บาท
จากนั้น รศ.ดร.กันต์ อินทุวงศ์ ประธานจัดงานและคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ประธานจัดงาน พร้อม นายสพโชค แสงพันธ์ ประธานดำเนินการ พร้อมคณะกรรมการสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาจังหวัดอุตรดิตถ์ นำนายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหัดอุตรดิตถ์ , นางสายสมร ทองกองทุน นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ , นายปรัชญา เสริฐลือชา อดีตนายอำเภอบ้านไร่ จ.อุทัยธานี และ ( อดีตนายอำเภอพิชัย , อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์) เดินชมวิธีการบันทึกภาพถ่ายพระเครื่องพระบูชาที่ส่งเข้าประกวด พร้อมเดินชมพระเครื่องพระบูชาตามโต๊ะต่างๆ สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะกรรมการรับพระและคณะกรรมการตัดสินพระเครื่องพระบูชาในครั้งนี้อย่างเป็นกันเอง.