วันที่ 15 มกราคม 2567 เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คำวินิจฉัยกรณีมีคำสั่งยกคำร้อง ในคดีที่กล่าวหาว่า นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ หรือ มดเล็ก ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 1) และ นายคชาภา ตันเจริญ หรือ มดดำ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 73 (5) และมาตรา 80 ประกอบระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ข้อ 18 (1) และ (5) กรณีที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับรายการทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพ เอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง และหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือพรรคการเมือง
ทั้งนี้ กกต.ได้พิจารณารายงานการไต่สวนตลอดจนพยานหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้วได้ความว่า ผู้ร้องกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ระหว่างเวลาประมาณ 17.30 น. ถึงเวลา 20.00 น. ที่เวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งบริเวณทางแยกสาย 331 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ถูกร้องที่ 2 ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเป็นบิดาของผู้ถูกร้องทั้งสอง และหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นน้องชาย โดยปราศรัยมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ขอให้มดเล็กมาเป็น ส.ส.แทนมดดำสักคนได้ไหมครับ” ซึ่งคำว่า “มดเล็ก” หมายถึงผู้ถูกร้องที่ 1 และคำว่า “มดดำ” หมายถึงผู้ถูกร้องที่ 2 ดังนั้น ผู้ร้องจึงเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. อีกทั้งยังได้ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพในการเป็นพิธีกรเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้ถูกร้องที่ 1
จากการไต่สวนผู้ร้องให้ถ้อยคำตามข้อเท็จจริงในคำร้อง โดยอ้างภาพถ่ายและวิดีโอคลิปบันทึกเหตุการณ์เป็นหลักฐานประกอบคำร้อง ส่วนการไต่สวนผู้ถูกร้องที่ 1 ให้ถ้อยคำว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ระหว่างเวลาประมาณ 17.30-20.00 น. ได้จัดเวทีปราศรัยบริเวณทางแยกสาย 331 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โดยผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรค พท.ขึ้นเวทีกล่าวปราศรัย โดยที่ตนมิได้กำหนดรูปแบบและเนื้อหาในการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง และไม่ได้ก่อ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งด้วยข้อความตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
ขณะที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ให้ถ้อยคำว่า เป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรค พท.ตามสำเนาหนังสือพรรค พท. ลงวันที่ 24 มีนาคม 2566 จึงมีหน้าที่ช่วยเหลือพรรค พท.และผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในสังกัดพรรค พท.ในการหาเสียงเลือกตั้งตามวันและสถานที่เกิดเหตุการณ์ได้ขึ้นปราศรัยตอนหนึ่งว่า “ขอให้มดเล็กมาเป็น ส.ส.แทนมดดำสักคนได้ไหมครับ” ซึ่งมีความหมายในทำนองเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น มิได้หลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด
จากการไต่สวนพยานที่ไต่สวนประกอบคนที่ 1-10 และคนที่ 12-19 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ไปฟังการปราศรัยหาเสียงให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่า ข้อความที่ผู้ถูกร้องที่ 2 กล่าวปราศรัยนั้น เป็นเพียงถ้อยคำส่วนหนึ่งที่กล่าวปราศรัยบนเวทีเท่านั้น ไม่เป็นการหลอกลวง และจูงใจให้ลงคะแนนให้แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 และไม่ได้ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพพิธีกรในการกล่าวปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง เพียงแต่กล่าวปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งในฐานะผู้ช่วยหาเสียงที่กล่าวถึงประวัติของตนเองและครอบครัว และจากการไต่สวนพยานที่ไต่สวนประกอบคนที่ 11 ซึ่งเป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้ถูกร้องคนที่ 1 ให้ถ้อยคำว่า ทำหน้าที่เป็นผู้จัดเวทีปราศรัยหาเสียง โดยผู้ถูกร้องที่ 2 ได้กล่าวปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งให้แก่พรรค พท. ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้สมัคร ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขตเลือกตั้งที่ 2 ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้ทำหน้าที่พิธีกรแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบคลิปวิดีโอประกอบคำร้อง ผู้ถูกร้องที่ 2 กล่าวปราศรัยว่า “วันนี้ขอให้มันมาเป็น ส.ส.แทนมดดำสักคนนึงได้มั้ยฮะ ขอให้มดเล็กมาเป็น ส.ส.แทนมดดำสักคนนึงได้มั้ยฮะ ขอให้จั๋ง อยู่ดีดี เค้าอยู่แบงก์ชาติของเค้าดีอยู่แล้วฮะ บอกจั๋งมาช่วยพี่เหอะ เอาให้ฉะเชิงเทราของเราเนี่ยเป็นเมืองต้นๆ ของประเทศไทย เอาออกจากแบงก์ชาติ ขอให้จั๋งเป็นส .ส.ในใจของทุกท่านอีกสักคนนึงได้มั้ยฮะ สองคนนี้เป็นน้องจั๋ง…มดเล็กพ่อแม่เดียวกันมาตลอด”
โดย กกต.เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ระหว่างเวลาประมาณ 17.30 น. ถึงเวลาประมาณ 20.00 น. ที่บริเวณทางแยกสาย 331 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรค พท.ได้ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับบุคคลในครอบครัวของผู้ถูกร้องที่ 2 และนโยบายของพรรค พท. เป็นลักษณะของการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป ส่วนข้อความที่ผู้ร้องกล่าวหาว่า “ขอให้มดเล็กมาเป็น ส.ส.แทนมดดำสักคนได้ไหมครับ” เป็นเพียงข้อความบางส่วนเท่านั้น และจากการไต่สวนพยานที่ไต่สวนประกอบคนที่ 1-10 และคนที่ 12-19 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ไปฟังการปราศรัยให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่าข้อความที่ผู้ถูกร้องที่ 2 กล่าวปราศรัยไม่เป็นการหลอกลวง และไม่เป็นการจูงใจให้ลงคะแนนแก่ผู้ถูกร้องที่ 1 และไม่ได้ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพพิธีกรกล่าวปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง เพียงแต่กล่าวปราศรัยหาเสียงในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรค พท.โดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ทำหน้าที่เป็นพิธีกร หรือใช้วิชาชีพอื่นของตน เพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้ถูกร้องที่ 1 หรือพรรค พท. อีกทั้งไม่ปรากฎพยานหลักฐานอื่นที่ยืนยันได้ว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายตามข้อกล่าวหา
ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้ถูกร้องที่ 2 กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 73 (5) และมาตรา 80 ประกอบระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 ข้อ 18 (1) และ (5) ตามคำร้อง