วันที่ 15 ม.ค.2567 ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สว. กล่าวถึงการล่ารายชื่อส.ว.เพื่ออภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 ว่า เท่าที่ติดตามมีการล็อบบี้ที่จะให้ สว.มาร่วมลงชื่อ ให้ครบตามจำนวน ถือเป็นเรื่องปกติของคณะที่ดำเนินการในเรื่องนี้ แม้แต่ในวันนี้ก็มีการติดต่อเชิญชวนให้มาลงชื่อ แต่ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยให้อภิปราย รวมถึงกลุ่มที่รอดูท่าทีก็ยังมีอยู่ เพราะเห็นว่ายังมีระยะเวลาในการยื่นอภิปรายฯ ซึ่งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็ประเมินว่าการล่ารายชื่อครั้งนี้เสียงคงไม่ถึง 84 เสียง จนมาถึงวันนี้จึงไม่ได้มีการเคลื่อนไหวอะไร เท่าที่ติดตาม มีตัวเลข สว.ที่ลงชื่อแล้ว 77-78 คน ซึ่งขาดอีกเพียงไม่กี่เสียงก็จะพอ แต่ไม่ได้หมายความว่าเสียงจะพอ เพราะต้องล่ารายชื่อให้เกิน 84 เสียง เนื่องจากเมื่อถึงเวลาใกล้ยื่นก็อาจจะมีสมาชิกถอนตัว ทำให้ไม่ครบ 84 เสียงได้
นายวันชัย กล่าวว่า กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอาจจะมีการล็อบบี้สมาชิกไม่ให้ลงชื่อ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติเช่นกัน ไม่ได้มีเหตุขัดแย้งกัน และกลุ่มนี้มองว่ารัฐบาลเพิ่งทำงานได้เพียง 3-4 เดือน งบประมาณก็ยังไม่ได้ใช้และเป็นกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ จึงควรเปิดโอกาสให้แสดงฝีมือ บริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะเร่งเครื่องตรวจสอบ ทั้งนี้ส่วนตัวประเมินว่าการลงชื่อของ สว. ครั้งนี้อยู่ระหว่างก้ำกึ่งกัน ซึ่ง สว. กลุ่มใหญ่ที่เป็นส่วนราชการ ทหารตำรวจ ถ้ายังไม่มีความเคลื่อนไหว การดำเนินการเรื่องใดๆ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยกลุ่มนี้มีท่าทีเป็นกลางและไม่เห็นด้วย แต่กลุ่มที่เคลื่อนไหวกลับเป็น สว. ฝ่ายพลเรือนและอิสระ
เมื่อถามว่าหากสามารถเปิดอภิปรายทั่วไปได้แล้วจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า การอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติเป็นการสอบถาม ซักไซ้ ไล่เรียงรัฐบาลเท่านั้น เพราะวุฒิสภาไม่ได้เปิดโอกาสให้ลงมติไม่ไว้วางใจเหมือน สว. แต่เป็นโอกาสให้รัฐบาลชี้แจงข้อสงสัย ถือเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่อีกมุมหนึ่ง สว. กำลังจะถล่มรัฐบาล หรือมองรัฐบาลเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็เป็นเรื่องที่สามารถจะมองได้ เพราะการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 กำหนดชัดเจนต้องการให้รัฐบาล ชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงในประเด็นสำคัญ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน แต่กลุ่ม สว.ที่เสนอประเด็นอภิปรายเกินไปดูดาษดื่นเกินไป แต่ควรจะนำประเด็นใหญ่สำคัญมาอภิปราย จึงทำให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการที่จะเปิดอภิปรายฯ มองว่าประเด็นยังไม่ใช่ จึงยังไม่มีอารมณ์ร่วม ส่วนกรณีชั้น 14 อาจเป็นประเด็นหนึ่ง
“เชื่อว่ากว่าเราจะอภิปรายก็เดือนกุมภาพันธ์ และในช่วงปลายเดือนมีนาคม นายทักษิณ ชินวัตร ก็อาจจะออกจากชั้น 14 ไปแล้ว เพราะการพักโทษ ซึ่งเหตุการณ์ก็อาจจะผ่านไปแล้ว ทั้งนี้ เราควรใช้วิธีการตั้งกระทู้ถามดีกว่า ส่วนตัว ไม่ได้ลงชื่อร่วมอภิปรายในครั้งนี้ ยังเป็น สว.กลางๆ ไม่ได้เห็นด้วย แต่ถ้าหากสามารถเปิดอภิปรายฯ ได้ก็จะร่วมอภิปรายด้วย” นายวันชัย กล่าว
เมื่อถามว่า กลุ่มที่คัดค้านการอภิปรายฯ คือกลุ่มที่ลงมติโหวตนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนกลุ่มที่งดออกเสียงคือกลุ่มที่สนับสนุนการอภิปรายฯ ใช่หรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า บางคนเป็นกลุ่มงดออกเสียง และกลุ่มที่ไม่โหวตให้นายเศรษฐาก็เป็นไปได้ รวมถึงกลุ่มที่เห็นปัญหาจริงๆ ซึ่ง สว.บางคน เห็นว่าควรนำเรื่องที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์มาอภิปรายฯ และบางคนถือว่าเป็นอาวุธที่ สว.ไม่เคยใช้มาก่อน ก็เลยมาใช้ในรัฐบาลชุดนี้ ทั้งหมดถือเป็นข้อโต้เถียง แต่ส่วนตัว อะไรก็ได้ไม่ถึงขนาดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หากทำมาแล้วดี เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นการตรวจสอบที่เข้มข้นและมี เนื้อหาสาระจริงๆ ก็ทำไปเถอะ