“ปลัดมหาดไทย” ตรวจเยี่ยม "ตลาดนัดแก้หนี้ จังหวัดนครนายก" พร้อมขอบคุณข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้เวลาวันหยุดมุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชน และพบปะพูดคุยให้กำลังใจประชาชนผู้รับบริการ เน้นย้ำ ผู้ว่าฯ ใช้ทุกกลไกในพื้นที่เร่งประชาสัมพันธ์ลงทะเบียนหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อพี่น้องประชาชนเข้าถึงข้อมูลและลงทะเบียนได้อย่างทั่วถึง
วันนี้ (14 ม.ค. 67) เวลา 11.00 น. ที่หอประชุมอำเภอเมืองนครนายก ที่ว่าการอำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก นายสุทธิพงษ์จุลเจริญปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน "ตลาดนัดแก้หนี้ จังหวัดนครนายก" เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชน โดยมี นายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายศราวุธ สุวรรณจูฑะ นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายชนาธิป โคกมณี ปลัดจังหวัดนครนายก นางสาวจิรวดี บรรพบุตร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครนายก นายกองโทอิสรา สุขแจ่มใส นายอำเภอเมืองนครนายก พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมบุคลากร ร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และพูดคุยสอบถามพี่น้องประชาชนผู้ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบกับภาครัฐที่เดินทางมาขอรับคำปรึกษา "ตลาดนัดแก้หนี้ จังหวัดนครนายก" อาทิ บูธศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครนายก บูธที่ทำการปกครองจังหวัดนครนายก และหน่วยงานร่วมบูรณาการ ได้แก่ บูธสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครนายก ซึ่งมี นางสาวรัชนีกร โชคสวัสดิ์ อัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครนายก และนายเทิดทูน หาศิริ รองอัยการจังหวัดฯ ร่วมให้คำปรึกษา บูธคณะผู้บริหารการคลังจังหวัดนครนายก ซึ่งมี นางสาวสุธีรา กิจนาบูรณ์ คลังจังหวัดนครนายก พร้อมด้วยนางสาวพจนารถ ขันทอง ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขานครนายก นายเกรียงไกร จารย์โพธิ์ ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดนครนายก ให้คำปรึกษาด้านการเงิน และบูธจัดหางานจังหวัดนครนายก ให้คำปรึกษาและแนะนำตลาดแรงงานในพื้นที่
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้มาให้กำลังใจเพื่อนข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ในการนำนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้พวกเราทุกคนได้ร่วมผนึกกำลังกันจัดมหกรรม "ตลาดนัดแก้หนี้" เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ด้วยการเชิญเจ้าหนี้ ลูกหนี้ มาร่วมพูดคุยไกล่เกลี่ยหนี้ พร้อมทั้งแนะนำ ให้คำปรึกษา การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งในแง่ข้อกฎหมาย ในแง่การหางาน และการบริหารจัดการการเงิน โดยในวันนี้ ทุกจังหวัดทั่วประเทศได้มีการ Kick Off พร้อมกัน
"ในส่วนของที่จังหวัดนครนายกได้กำชับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยกันประชาสัมพันธ์การรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพิ่มเติม เพราะเราไม่มั่นใจว่าตัวเลขของพี่น้องประชาชนที่มาลงทะเบียนขอให้ทางภาครัฐช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ มีจำนวนไม่มากนัก ถ้าเทียบกับขนาดของจังหวัด เพื่อป้องกันการตกหล่นของข้อมูล เพราะเราจะรับลงทะเบียนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ถ้าท่านใดที่ประสบปัญหาแล้วไม่ได้เข้าร่วมจะทำให้น่าเสียดาย เพราะการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จะทำให้มีคนกลางที่มีอำนาจตามกฎหมายมาช่วยไกล่เกลี่ยประนีประนอมเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม และซึ่งเมื่อสักครู่ ได้พูดคุยสอบถามคุณป้าที่มาปรึกษา เขาเล่าว่า ไปกู้หนี้นอกระบบ ทุกวันนี้ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน ปีนึงก็ร้อยละ 240 แต่ด้วยนิสัยคนไทยที่มีความซื่อตรง ป้าเขาตกลงกับเจ้าหนี้ยังไงก็ผ่อนตามที่ตกลงกัน ซึ่งเมื่อมาลงทะเบียนวันนี้ ก็จะมีคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย ทำให้มีเงินต้นส่งคืนได้ครบเพราะจ่ายดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ทางสถาบันการเงินของรัฐ ทั้งธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็มีการนำเสนอข้อมูลเพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนพิจารณาปรับเปลี่ยนจากเป็นหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ ซึ่งดอกเบี้ยนี่ถ้าเทียบกับการจ่ายดอกหนี้นอกระบบแตกต่างกันเหมือนสวรรค์กับนรก ก็คือ ดอกเบี้ยเหลือเพียงร้อยละ 0.75 ต่อเดือน ปีนึงก็ยังไม่เท่าดอกเบี้ยหนี้นอกระบบเพียงเดือนเดียว และเงื่อนไขก็มีเพียงแค่ต้องมีอาชีพและมีความรับผิดชอบ รวมถึงคุณสมบัติตามที่ธนาคารกำหนด ซึ่งเมื่อมาเป็นหนี้ในระบบ เจ้านี้ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินก้อนเงินต้นกลับคืนไป ภาระของลูกหนี้ก็จะได้ดีขึ้น ได้รับดอกเบี้ยที่เป็นธรรมตามกฎหมาย
"วันนี้น่าดีใจ เพราะทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ได้มีการ Kick Off และการดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทุก ๆ หน่วยงานมาร่วมบูรณาการ ทั้งข้าราชการและพนักงานของรัฐ ได้เสียสละวันอาทิตย์ ที่เป็นวันหยุด มาช่วยกันอย่างเต็มที่ และการบริหารจัดการงานเช่นนี้ยังได้บุญ เพราะเราได้ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก อีกทั้งยังเป็นการทำงานตามอุดมการณ์ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้กับพี่น้องประชาชน สมดังเจตนารมณ์ที่พวกเราทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจเข้ามาเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งต้องขอเป็นกำลังใจและขอขอบคุณพี่น้องทุกคน ที่ช่วยกันทำงานตามนโยบายนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หากพวกเราทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจช่วยกันแก้ไขเรื่องหนี้นอกระบบจนประสบความสำเร็จ ประชาชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และได้รับดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ก็จะส่งผลทำให้ลดปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมาในสังคมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
ด้าน นายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวว่า การจัดกิจกรรม "ตลาดนัดแก้หนี้ จังหวัดนครนายก" ในครั้งนี้ มีที่มาจากรัฐบาลได้มีนโยบายให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยกำหนดให้ทุกจังหวัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ เพื่อให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เข้ามาพูดคุย เจรจา สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้มีการชำระหนี้ด้วยความเป็นธรรมและโดยชอบด้วยกฎหมาย ภายใต้การควบคุม ดูแล และการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นตามอำนาจ หน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันนำไปสู่การสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้นอกระบบ ไม่ให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายของเจ้าหนี้ และในขณะเดียวกันก็มีการชำระหนี้ที่ถูกต้อง ครบถ้วนของลูกหนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งในกระบวนการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กำหนดให้ลูกหนี้ หรือผู้ที่ประสงค์ให้หน่วยงานของรัฐให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือผ่านทางแอปพลิเคชันไทยดี (ThalD) หรือติดต่อผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดหรือศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทุกอำเภอ แล้วจึงนำผู้ลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยโดยผู้ลงทะเบียนสามารถขอให้รัฐจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือหาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้แก่ตนได้ แต่หากว่าไม่สามารถตกลงกันได้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ และพบการกระทำผิดกฎหมาย ก็จะต้องดำเนินการทางอาญาต่อไป
"ในปี พ.ศ. 2567 นี้ จังหวัดนครนายกได้กำหนดจัดกิจกรรม "ตลาดนัดแก้หนี้" เป็นประจำทุกวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือน ณ หอประชุมอำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ง่ายและสะดวกต่อการให้บริการประชาชน โดยในครั้งแรกนี้ได้จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นการจัดพร้อมกันทั่วประเทศ โดยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ได้แก่
ที่ทำการปกครองจังหวัดนครนายก, ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครนายก ตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก, สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครนายก, กอ.รมน. จังหวัดนครนายก, สำนักงานจังหวัดนครนายก, สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก, สำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครนายก,
สำนักงานแรงงานจังหวัดนครนายก, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครนายก, ธนาคารออมสิน สาขานครนายก และที่ทำการปกครองอำเภอทั้ง 4 อำเภอ ในพื้นที่จังหวัดนครนายก" นายสุภกิณห์ฯ กล่าวเพิ่มเติม