ต้องยอมรับว่าการใช้เทคโลโลยีในเวลานี้ มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนชนชั้นใด ก็จะต้องใช้เทคโนโลยีในการดำรงชีวิต โดยในแต่ละวันจะเริ่มตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ไปจนถึงเข้านอนตอนกลางคืน หรือแม้แต่ในรูปแบบของการทำงานก็จะมีการใช้เทคโนโลยีในการทำงานร่วมกัน   

และเมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ โดย ”เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  พูดถึงการเดินหน้ารัฐบาลดิจิทัลว่า ได้ให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงรุกดำเนินนโยบายเร่งด่วนมาโดยตลอด เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีให้พี่น้องประชาชน และท่ามกลางความท้าทายของสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน นายกรัฐมนตรีได้ออกไปเชิญชวนนักธุรกิจทั่วโลก ประกาศให้โลกรู้ว่าประเทศไทย เปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจ (open for business) และรัฐบาลจะทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นจุดหมายของการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำ ยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล นำ AI และ Cloud เข้ามาพัฒนาการให้บริการประชาชน นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง (High Value Economy) 

เป็นแนวทางที่ “รัฐบาลเศรษฐา1” ตั้งใจอยากเห็นรูปแบบที่ชัดเจนของ “รัฐบาลดิจิทัล” 

ขณะที่มุมมองของเจ้ากระทรวงดิจิทัล  “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การทำงานของกระทรวงดีอีเอส ในปีนี้จะเน้นไปที่ 3 เรื่องหลักคือ 1.ภารกิจเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล 2.นโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลักของระบบคลาวด์กลางภาครัฐ และ 3.การทำบัญชีดิจิทัล (One Citizen ID) หรือ Digital ID 

“ในเรื่องของการใช้งานคลาวด์กลางภาครัฐ ตอนนี้อยากให้ทุกกระทรวงอย่าเพิ่งทำการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะถ้าเกิดมีการรวมศูนย์มาใช้งานคลาวด์เป็นหลัก จะเป็นโอกาสของกระทรวงดีอีเอส ในการผลักดันให้เกิดรัฐบาลดิจิทัลขึ้นได้ และจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้” 

ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการทำไทยแลนด์ ซูเปอร์แอปที่จะรวมบริการต่างๆ ของภาครัฐไม่เกิน 300 บริการเข้ามาให้ประชาชนเข้าถึงได้ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาระบบบัญชียืนยันตัวตนดิจิทัลที่มีอยู่มาปรับใช้งานให้เหมาะสม 

“ตอนนี้ไทยมีระบบบัญชีดิจิทัลทั้งหมด 4 ระบบหลักๆ คือ ThaiD ของกระทรวงมหาดไทย ที่ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 12 ล้านคน ที่เหลือคือเป๋าตัง หมอพร้อม และ NDID ซึ่งกลายเป็นว่าระบบอย่างเป๋าตัง และหมอพร้อม เมื่อไม่มีโครงการคนละครึ่ง หรือโควิดคนก็จะไม่ได้ใช้งาน” 

ทำให้ในปีนี้จะทำการพัฒนาให้ระบบยืนยันตัวตนดิจิทัลนี้กลายมาเป็น One Citizen ID ที่เป็นระบบเดียวให้ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) 

ส่วน เรื่องเร่งด่วนที่ต้องเดินหน้าทันที คือการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากอัตราความเสียหายเพิ่มขึ้น การผลักดันรัฐบาลดิจิทัล และนำเทคโนโลยีช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย 

ทั้งนี้ จะไม่มีการปิด Facebook เพราะมีผู้ใช้งานมากกว่า 45 ล้านบัญชี และคนไทยได้ประโยชน์อย่างสุจริตมากกว่า โดยจะเชิญผู้บริหารจากสิงคโปร์เข้าหารือโดยเร็ว ซึ่งการหลอกลวงออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นสิ่งที่ต้องดูทั้งระบบ ไม่ใช่การปิดช่องทางการสื่อสาร 

นอกจากนี้ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2567 ได้อนุมัติโครงการที่ได้รับทุนปี 2566 เรียบร้อยแล้ว รวมถึงที่ประชุมยังได้อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการประจำปี 2567 ด้วย โดยจะเริ่มเปิดรับคำขอทุนตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2567  

สำหรับโครงการหรือกิจกรรมของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 26 (1) และ (2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นการส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

โครงการหรือกิจกรรมของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 26 (1) และ (2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ได้รับการอนุมัตินั้น เป็นไปตามกรอบนโยบาย 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) Digital Manpower 2) Digital Agriculture 3) Digital Technology และ 4) Digital Government  

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณากรอบนโยบายการให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายในกรอบวงเงิน 2,000 ล้านบาท ตามกรอบนโยบาย 4 ด้าน เช่นเดียวกับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาการเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. -1 มี.ค. 2567 รวมระยะเวลาเปิดรับทุน 30 วัน

ด้าน “วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า การให้ทุนสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมจากกองทุนดีอี จะพิจารณาความสอดคล้องกับกรอบนโยบายการให้ทุนประจำปีงบประมาณ 2567 ทั้ง 4 ด้าน 1) “Digital Manpower การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล” ส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน  ,2) “Digital Agriculture เกษตรดิจิทัล” ส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยทางการเกษตร  ,3) “Digital Technology การพัฒนานวัตกรรม” ส่งเสริมและสนับสนุนการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ไปใช้ในการพัฒนาทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน การส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการสร้าง Soft Power  และ4) “Digital Government การส่งเสริมรัฐบาลดิจิทัล” ส่งเสริมและสนับสนุนการนำนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาการบริการภาครัฐ เพื่อตอบสนองต่อผู้ใช้บริการทุกภาคส่วน  

โดยจะพิจารณาจากความจำเป็นเร่งด่วนหรือสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ความเหมาะสม ระยะเวลาที่ใช้ งบประมาณ ผลกระทบหรือประโยชน์ในวงกว้าง ความพร้อมในการดำเนินการ รวมถึงความยั่งยืนหลังเสร็จสิ้นโครงการ ก่อนนำเสนอให้บอร์ดกองทุน พิจารณาต่อไป 

เช่นเดียวกับ “ภุชพงค์ โนดไธสง” เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า  ที่ประชุม ยังได้รับทราบผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการตามมาตรา 26 (1) และ (2) ที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 91.12 % ของจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติ 

โครงการเหล่านั้นได้มีการนำไปใช้งานจริง เป็นประโยชน์ในเชิงสาธารณะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาปรับปรุงระเบียบบริหารกองทุนฯ เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนฯ มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ 

ผลสุดท้าย “รัฐบาลดิจิทัล” จะเดินหน้าได้มากน้อยแค่ไหน!!! 

ความตั้งใจของรัฐบาลจะเป็นจริงได้หรือไม่!?!