สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
พระรอด พิมพ์ใหญ่ สุดยอดแห่งพระพิมพ์ของล้านนา หนึ่งใน ‘พระชุดเบญจภาคี’ อันลือชื่อของไทยที่มีอายุมากที่สุดในราวพันกว่าปี เป็นพระเนื้อดินเผาที่มีความละเอียดมาก ด้านหลังเป็นรอยคล้ายลายนิ้วมือ พุทธลักษณะและพุทธศิลปะที่งดงาม และนับเป็นพิมพ์ที่มีการทำเทียมสูงสุด แต่ก็ทำให้เหมือนได้ยากสุดเช่นกัน
พระรอด พิมพ์ใหญ่ ลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย อยู่เหนืออาสนะ พื้นหลังมีใบโพธิ์เป็นบัลลังก์ เอกลักษณ์เฉพาะซึ่งจะเป็นจุดสังเกตได้เป็นอย่างดี ของ พิมพ์ใหญ่ คือ เป็นเพียงพิมพ์เดียวที่มีฐาน 4 ชั้น "พระรอด" เป็นพระเนื้อดินเผา เนื้อดินที่เป็นมวลสารในการสร้างเป็นดินบริสุทธิ์และละเอียดมาก เมื่อเข้าเผาได้รับความร้อนไม่เท่ากัน ทำให้สีและความแข็งแกร่งขององค์พระจะมีความแตกต่างกันไป โดยสามารถแยกสีได้ทั้งหมด 6 สีตามลำดับ คือ สีขาว สีแดง สีเหลือง สีเขียวคาบเหลือง สีเขียว และสีเขียวเข้มเหมือนเนื้อหินครก ข้อควรระวังอีกประการหนึ่ง เนื่องจาก “พระรอด” ที่ขุดพบขึ้นมาใหม่ๆ นั้น จะมีดินจับอยู่เต็มองค์ต้องทำความสะอาดจึงจะได้เห็นหน้าตาขององค์พระอย่างชัดเจน ดังนั้นต้องใช้ความละเอียดและระมัดระวังอย่างมาก เพราะการทำความสะอาดองค์พระบางครั้งก็เป็นการทำลายสภาพและความงามขององค์พระไปได้เช่นกัน
เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระรอด พิมพ์ใหญ่
- มีปีกจากเนื้อดินเกินจากบล็อก
- แยก ‘กลุ่มโพธิ์’ ได้ 6 กลุ่ม โดยจะมีก้านโพธิ์กั้น ใบโพธิ์ทุกใบขอบจะชัดเจนและตรงกลางใบโพธิ์จะบุ๋มลงเหมือนแอ่งกระทะ ใบโพธิ์จะมีทิศทางไม่ได้ไปในทางเดียวกัน
- ใบโพธิ์ด้านบนจะมีจุดโพธิ์ติ่ง และมี 3 ใบเหนือปลายพระเกศ ด้านข้างพระเศียร 2 ใบ กลุ่มโพธิ์แถวนอกใหญ่กว่าแถวใน และโพธิ์คู่จะมีระดับสูงเกือบเสมอกัน
- ในองค์ที่ติดชัดจะสังเกตเห็นพระโอษฐ์เม้มจู๋ มีรอยหยักพับที่ริมฝีปากบนชัดเจนมาก
- ผนังซ้ายมือขององค์พระ จะมี ‘เส้นพิมพ์แตก’ ลากจากพระกรรณยาวลงมาถึงโพธิ์ข้างหัวไหล่
- ปลายพระกรรณจะเป็นห่วงคล้ายตะขอ งอออกทั้งสองข้าง เรียก “หูห่วง” หรือ “หูเบ็ด”
- พระกัประ (ข้อศอก) ซ้ายหักเป็นสองขยักไม่ใช่หักทีเดียวเหมือนพระคงหรือพระบาง
- มีเส้นแตกที่พระกัประ (ข้อศอก) ซ้ายขององค์พระลงมาจะต้องเป็นเส้นคมๆ บางๆ ลากลงมาผ่านพระเพลาถึงฐานชั้นล่างสุดจะแตกจาก 1 เส้น เป็น 3 เส้นคล้ายน้ำตกจึงเรียกว่า “เส้นน้ำตก”
- พระหัตถ์ขวาของพระรอดถ้าติดชัดๆ ต้องมี 6 นิ้ว ไม่ใช่ 5 นิ้ว
- พระนาภี (สะดือ) เป็นหลุมคล้าย ‘เบ้าขนมครก’
- เป็นพระรอดพิมพ์เดียวที่มีฐาน 4 ชั้น และเส้นคมชัดตลอดฐาน
- มีเนื้อเกินที่ใต้ฐานพระ เรียกว่า ก้นแมลงสาบ
ส่วนทางด้านพุทธคุณพระรอดทุกองค์ทุกพิมพ์พระรอด กรุพระเจดีย์ วัดมหาวัน จ.ลำพูน เป็นพระเครื่องมีความงดงามทางพุทธศิลปะ สมกับที่ได้รับการยอมรับยกย่องให้เป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคีที่มีความเป็นเลิศทางพุทธคุณครบครัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพัน อุดมด้วยโภคทรัพย์ ร่ำรวยทรัพย์ เด่นทางแคล้วคลาด คุ้มภัย เป็นเลิศครับผม