ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : ว่ากันว่าปี 2567 นักษัตรมะโรง งูใหญ่ เป็นมะโรงพ่นไฟ
ในส่วนมุมความเชื่อเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในทุกสังคมไทย มีการเดินทางไปสถานที่ศรัทธาต่างๆ เป็นที่พึ่งทางใจ ซึ่งก็ได้เกิดการเชื่อมโยงแรงจูงใจในการเดินทางท่องเที่ยวแนวนี้ ได้รับความนิยมสายมูเป็นอย่างมาก จากข้อมูลกรมการศาสนา(ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม อ้างอิงรายงานของ Future Market Insight ปี 2565 พบว่า การท่องเที่ยวเชิงศรัทธากำลังเติบโตและเพิ่มขึ้น, ด้านสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด เปิดเผยว่า ในปี 2566 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยม เพราะเสน่ห์ที่โดดเด่น, ส่วนข้อมูลไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยในปี 2566 สูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย จีน เกาหลีไต้ อินเดีย และรัสเซีย รวมจำนวนแล้วกว่า 20 ล้านคน และข้อมูลสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council: WTTC) ระบุว่า ในปี 2567 ภาคการเดินทางโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน ที่แม้จะเป็นไปแบบช้าๆ แต่ก็มั่นคงและการเดินทางโลกจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กลับมาที่การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา (Faith-Based Tourism) ชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ศน.ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จัดกิจกรรม “ตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา” 3 เส้นทาง ดังนี้
เส้นทางแรก เส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ใน 5 จังหวัด มุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ หนองคาย และอุดรธานี ได้แก่ พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช พญาอนันตนาคราช พญาศรีมุกดามหามณีนีลปาลนาคราช วัดพระธาตุพนม พญาศรีสัตตนาคราช ถ้ำนาคา วัดพระธาตุหล้าหนอง และวังนาคินทร์คำชะโนด บูรณาการกับกิจกรรม “ผ้าไทย ใส่บาตร ปูสาดริมโขง” บริเวณริมฝั่งโขงหน้าวัดศรีบุญเรือง อำเภอเมือง จ.มุกดาหาร ทำบุญกุศลและสัมผัสบรรยากาศยามเช้าชมพระอาทิตย์ขึ้นริมฝั่งโขงก่อนเดินทางตามรอยพญานาค
เส้นทางที่สอง สักการะพระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร เส้นทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ปีมะโรง พระธาตุพระสิงห์ วัดพระสิงห์ ปีชวด พระธาตุศรีจอมทอง วัดพระบรมธาตุศรีจอมทอง ปีมะแม พระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุดอยสุเทพ และปีจอ พระธาตุจุฬามณี วัดเกตการาม
เส้นทางที่สาม ตามรอยเถราจารย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ วัดสะตือ วัดไก่จัน วัดกุฎีทอง วิหารมงคลบพิตร วัดพนัญเชิง วัดตะโก วัดท่าการ้อง วัดนิเวศธรรมประวัติ วัดใหญ่ชัยมงคล
อธิบดีศน. กล่าวการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา 3 เส้นทางที่ว่ามานี้ เป็นการขับเคลื่อน Soft Power ในมิติศาสนา ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม โฮสเทล โฮมสเตย์ และวิสาหกิจชุมชน โดยประมาณการเสริมสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น 3,400 – 22,800 บาท /คน/ครั้ง หากประมาณการ 10,000 บาท/คน/ครั้ง และจำนวนผู้เดินทางท่องเที่ยวประมาณ 100,000 ครั้งต่อปี สามารถสร้างรายได้ จำนวน 1 พันล้านบาท
จากข้อมูลโดยรวม พอจะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่ชอบเที่ยวแนวนี้ย่อมมีการใช้จ่าย เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนในรูปธุรกิจบริการประเภทนั้นๆ