องคมนตรีเชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 11 มกราคม 2567 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสุทัศน์ ตั้งพิพัฒน์พงศ์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพื้นที่ 3 สำนักงาน กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังพลับพลาทรงงาน โครงการช่วยเหลือราษฎรบ้านซิแบรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านซิแบร ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวมอบให้แก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 260 ตัว ถุงพระราชทานมอบให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ รวม 229 ถุง ซึ่งราษฎรและเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ในครั้งนี้ โอกาสนี้องคมนตรีและคณะพบปะเยี่ยมเยียนราษฎร เยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการฯ และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของราษฎร ซึ่งเข้าไปเรียนรู้การทำผ้าทอกะเหรี่ยงจากโครงการฯ โดยใช้สีธรรมชาติจากต้นไม้ในท้องถิ่น เช่น สีน้ำตาลอมชมพู จากใบอ่อนต้นสัก, สีเหลืองจากขมิ้น, สีแดงออกส้ม จากเปลือกไม้แดง ซึ่งส่งจำหน่ายกองงานศิลปาชีพ วิสาหกิจแปรรูปกาแฟชุมชนซิแบร และจักสานไม้ไผ่ของนักเรียนบ้านซิแบร เป็นที่รองจาน ที่รองแก้ว รวมทั้ง ผลผลิตทางการเกษตร จากนั้นรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ
สืบเนื่องมาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบถึงความยากจนและการขาดแคลนข้าวเพื่อการบริโภคของราษฎรกลุ่มบ้านซิแบร ซึ่งประกอบด้วย บ้านซิแบร บ้านปรอโพ บ้านห้วยยาบ และบ้านห้วยขนุน จึงได้พระราชทานข้าวสารเพื่อไปแจกจ่ายให้ราษฎรทั้ง 4 หมู่บ้าน ต่อมาเมื่อวันที่ 10 และ 16 มีนาคม 2542 ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรกลุ่มบ้านซิแบร และมีพระราชดำริให้โครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อำเภออมก๋อย ให้การช่วยเหลือเรื่องการขาดแคลนข้าว ระบบน้ำเพื่อการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การคมนาคม จัดตั้งกลุ่มศิลปาชีพทอผ้า และการจัดสร้างโรงฝึกทอผ้า การรักษาพยาบาล การศึกษา จัดหาพื้นที่ทำการเกษตรให้แก่ราษฎร และให้ส่วนราชการมาประจำพื้นที่คอยช่วยเหลือ แนะนำด้านต่าง ๆ แก่ราษฎรซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านซิแบร บ้านปรอโพ หมู่ที่ 7 และบ้านห้วยยาบ บ้านห้วยขนุน หมู่ที่ 8 ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 352 ครัวเรือน ประชากร 1,499 คน ซึ่งเป็นราษฎรชาวไทยภูเขาชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือ ปกาเกอญอ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ ก่อเกิดผลสัมฤทธิ์ทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้จากการจ้างงานของโครงการฯ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอ รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตร เช่น ฟักทอง ถั่วแดง กาแฟ อะโวคาโด แมคคาเดเมีย โดยในปี 2566 มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อครัวเรือน จำนวน 45,500 บาทต่อปี ยกระดับเศรษฐกิจของครัวเรือนได้เป็นรูปธรรมขึ้น ราษฎรมีสุขภาพอนามัยที่ดี สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข มีระบบสาธาณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ระบบไฟฟ้าพลังงานน้ำ ระบบประปาภูเขา ปัจจุบันมีเยาวชนในกลุ่มบ้านซิแบรสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำให้สมบูรณ์ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารไหลลงสู่แม่น้ำแม่ตื่น ทำให้ชุมชนมีแหล่งไม้ใช้สอยในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์ดินและน้ำ หันมาทำนาแบบนาขั้นบันไดซึ่งให้ให้ผลผลิตสูงขึ้นจากเดิมทำให้มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี
ต่อมา คณะเดินทางไปยังโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายและสร้างประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรในพื้นที่ พร้อมทั้งเยี่ยมชมพื้นที่โครงการฯ
โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อปี 2547 เป็นโครงการขยายผลมาจากที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการขึ้น เพื่ออนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีซึ่งเป็นกล้วยไม้ไทยที่หายาก และถูกลักลอบเก็บออกจากป่านำไปขายซึ่งใกล้สูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินไทย ดังนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัย ขยายพันธุ์และฟื้นฟู โดยขณะนี้รองเท้านารีในประเทศมี ทั้งสิ้น 14 ชนิด และสายพันธุ์ย่อยอีก 4-8 ชนิด ส่วนที่โครงการฯ ได้ฟื้นฟูสายพันธุ์รวม 11 สายพันธุ์ เป็นกลุ่มรองเท้านารีในพื้นที่สูงหรือในพื้นที่ที่มีอากาศหนาว ผลจากการขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน มีการคืนกล้วยไม้รองเท้านารีสู่ธรรมชาติไปแล้วประมาณ 600 กอ โดยกล้วยไม้เหล่านี้จะมีอายุ 5-6 ปี แต่ละกอมีความสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถอยู่รอดในธรรมชาติได้อย่างดี นอกจากจะอนุรักษ์และนำรองเท้านารีคืนสู่ธรรมชาติแล้ว ยังขยายผลและต่อยอดไปยังกล้วยไม้ชนิดอื่นที่อยู่บนพื้นที่สูง โดยทำในลักษณะของสวนพฤกษชาติรวบรวมกล้วยไม้บนพื้นที่สูง รวมทั้งยังได้ขยายผลไปยังทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เช่น เฟิร์น และไลเคน โดยเฉพาะไลเคน ที่พบรอบพื้นที่โครงการฯ ประมาณ 200 ชนิด
ปัจจุบันขยายผลโดยส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ป่าหายากจากประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการขจัดปัญหาการลักลอบนำกล้วยไม้ออกจากป่าธรรมชาติซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ที่สำคัญยังสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและจำหน่ายกล้วยไม้ป่าที่ได้จากการขยายพันธุ์ของโครงการฯ ในครั้งนี้อีกด้วย
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.