"อนุทิน"ยืนยันนัดทานอาหารพรรคร่วมรัฐบาล 25 ม.ค.ตามเดิม บอก"บิ๊กป้อม"ไม่มาร่วม ไม่มีปัญหา คุยกับ"พัชรวาท-ธรรมนัส"ตลอดอยู่แล้ว ด้านจุรินทร์ โดดป้อง กฤษฎีกาแค่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ไม่ใช่ที่ปรึกษานโยบายรัฐบาล ลั่นหากจำเป็นจริงๆ ทำไมไม่ออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน ดันออกเป็น พ.ร.บ.เหมือนซื้อเวลา

 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ม.ค.67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีการนัดรับประทานอาหารร่วมกันของหัวหน้าและเลขาธิการพรรคในร่วมรัฐบาล โดยยืนยันว่า ยังเป็นวันที่ 25 ม.ค.เหมือนเดิม ซึ่งเป็นการพบปะกันหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคร่วมรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีจะตามมาสมทบด้วย

     ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตอบเสียงแข็งว่าไม่ไป ท่านมองอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ทำไมต้องบอกว่าท่านตอบเสียงแข็ง ครั้งที่ผ่านมา พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาพรรค กับร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ก็ไป ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบ ส่วนที่ท่านตอบเสียงแข็ง ท่านเป็นทหารท่านก็เข้มแข็ง เมื่อถามย้ำว่า หากพล.อ.ประวิตรไม่มาร่วมรับประทานอาหารถือว่าผิดคอนเซ็ปท์หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ผิด วันนี้ใครมีปัญหาก็ประสานงานพูดคุยกับพล.ต.อ.พัชรวาทกับร.อ.ธรรมนัสมาตลอดอยู่แล้ว

     ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้ความเห็น เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำตอบกับรัฐบาล ว่า ตนเห็นว่ากฤษฎีกาได้ตอบคำถามรัฐบาลตรงไปตรงมาแล้ว ซึ่งตนมีความเห็น 3 ข้อ คือ 1.กฤษฎีกาเป็นแค่ที่ปรึกษากฎหมาย ไม่ใช่ที่ปรึกษาด้านนโยบายของรัฐบาล เพราะฉะนั้นถ้าฟังคำตอบจากเลขากฤษฎีกาก็จะเห็นว่ากฤษฎีกาได้ตอบข้อกฎหมายชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลสามารถออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินมาทำดิจิทัลวอลเล็ตได้ ทั้งในรูปพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และพ.ร.บ. และตอบว่ามีกฎหมายฉบับใดและมาตราใด ที่ต้องคำนึงถึงบ้าง การที่จะให้กฤษฎีกาตอบว่าควรทำหรือไม่ควรทำ เป็นเรื่องของนโยบาย ซึ่งไม่ใช่หน้าที่กฤษฎีกา จึงเป็นเรื่องของรัฐบาลที่เป็นฝ่ายนโยบายต้องตัดสินใจเอง 

       2.ถ้ารัฐบาลเห็นว่าการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาแจก เป็นเรื่องจำเป็น เร่งด่วน และเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังวิกฤต ตนก็ขอถามอีกครั้ง ซึ่งเคยถามมาแล้วว่าถ้าวิกฤตจำเป็น และเร่งด่วนจริงอย่างที่รัฐบาลพูด ทำไมไม่เสนอเป็น พ.ร.ก. เพราะจะมีผลให้กู้เงินได้ทันที แต่ทำไมจึงเลี่ยงไปเสนอในรูป  พ.ร.บ.ซึ่งจะทำให้ล่าช้า ยืดเยื้อ เหมือนซื้อเวลาออกไปอีก 3.ส่วนการถกเถียงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤตหรือไม่ ตนเห็นว่าข้อแนะนำของ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ส.ว.ที่ให้รัฐบาลเชิญหน่วยงาน หรือสถาบันทางเศรษฐกิจที่เชื่อถือได้มาร่วมนิยามคำว่า วิกฤต คืออะไรเสียให้ชัด เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรรับฟัง

     นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยท่าทีรัฐบาลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตอบกระทู้ถามสดของ นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร แทนนายกรัฐมนตรี ระหว่างการประชุมที่รัฐสภาว่ารัฐบาลจะทบทวนคำถามประชามติ ที่มีเงื่อนไขไม่ให้แก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยย้ำว่า รัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง 

  ตนขอให้พรรคก้าวไกลดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเช่น การจัดตั้งรัฐบาลที่ทุกพรรคการเมือง ไม่ต้องการแตะหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงทำให้ไม่สามารถร่วมมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันเรื่องดังกล่าวชัดเจน เพราะเห็นจากการกระทำของพรรคก้าวไกล ดังนั้น หากต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาประเทศได้สำเร็จก็จะต้องยอมรับว่ามีคนอีกส่วนใหญ่ของประเทศ กังวลใจต่อเรื่องนี้ก็จะทำให้ทางออกสังคมก็จะไปได้ง่ายขึ้น และจะทำให้หลีกหนีจากปัญหาความขัดแย้งใหม่ได้ 
  นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขอเชิญชวนพรรคก้าวไกลมาแสวงหาจุดร่วม ซึ่งหากยอมละเว้น ปล่อยผ่าน และทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะจากที่รับฟังความเห็นก็ไม่มีใครสนับสนุนให้แตะหมวด 1 และหมวด 2 ที่เป็นความกังวลใจของคนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่าหมกมุ่นอยู่เพียงกับประเด็นเดียว

     ขอตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดพรรคก้าวไกลจึงมีความกังวลใจต่อหมวด 1 และหมวด 2 ที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพนับถือ และจะต้องหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นทุกครั้ง ซึ่งคนที่ทำให้เป็นประเด็นไม่ใช่คนส่วนใหญ่ แต่เป็นพรรคก้าวไกล ที่กังวลใจมากเกินไป จึงขอให้ใช้สติและคิดอีกครั้ง ไม่ต้องสนใจเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 และมาทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และแก้ปัญหาให้กับประชาชนจะดีกว่าหรือไม่