องคมนตรีติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในรัชกาลที่ 9 จังหวัดเพชรบุรี
วันที่ 10 มกราคม 2567 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายวิกรม คัยนันทน์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังศาลาหมู่บ้าน หมู่ที่ 13 บ้านเขาอ่างแก้ว ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยรับฟังสรุปผลการดำเนินงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย ผู้แทนกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และสรุปผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสามเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่ายาง ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน รายงานสรุปผลการดำเนินงานของโครงการจัดการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หนองพลับ-กลัดหลวง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี และผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ รายงานสรุปผลการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรกลัดหลวง จำกัด ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
จากนั้น คณะเดินทางไปเยี่ยมสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกร ณ สหกรณ์การเกษตรกลัดหลวง จำกัด ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งในปี 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดสรรพื้นที่ในเขตจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ราษฎรที่มีฐานะยากจนและขาดที่ดินทำกินได้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน จำนวน 226 ราย ภายใต้ชื่อ “โครงการตามพระราชประสงค์หนองพลับ” มีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หนองพลับ - กลัดหลวง เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยมีภารกิจหลักในการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกโครงการ นอกจากนี้ได้มีการรวมตัวกันจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ จำนวน 2 แห่ง คือ สหกรณ์การเกษตรหนองพลับ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรกลัดหลวง จำกัด
ต่อมา คณะเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสามเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็น 1 ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่โครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หนองพลับ - กลัดหลวง มีขนาดความจุ 3.4 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 3,200 ไร่ จากนั้น คณะเดินทางไปยังศูนย์ประสานงานโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ป่าเด็ง หุบกะพง ดอนขุนห้วย กลัดหลวง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเยี่ยมชมนิทรรศการ ผลผลิตทางการเกษตรและรับฟังรายงานผลการดำเนินงานโครงการจากผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรและชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่ไม่มีที่ดินทำกินและทำไร่เลื่อนลอย ประกอบกับราษฎรได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานที่ดินทำกิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานราชการจัดหาพื้นที่ว่างเปล่าในเขตจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้ราษฎรทำกินในรูปแบบสหกรณ์ โดยให้สิทธิครอบครองชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ และมอบหมายให้หน่วยงานราชการเข้าไปช่วยเหลือ แนะนำ รวมถึงวางแผนการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ให้แก่สมาชิกที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จากนั้นในปี 2563 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้บริหารจัดการโครงการหมู่บ้านสหกรณ์แบ่งตามพื้นที่สองจังหวัด โดยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ป่าเด็ง หุบกะพง ดอนขุนห้วย กลัดหลวง จังหวัดเพชรบุรี รับผิดชอบในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี
ในช่วงบ่าย คณะเดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี รับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการและการพัฒนาแหล่งน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเยี่ยมสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ โอกาสนี้มอบพันธุ์กล้วยให้แก่สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ จำนวน 10 ราย
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดงฯ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดหาน้ำสนับสนุนโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ (ป่าเด็ง - ป่าละอู) ในระยะแรก ซึ่งเป็นงานเร่งด่วนควรสร้างเป็นฝายทดน้ำ และขยายเป็นอ่างเก็บน้ำในโอกาสต่อไป ต่อมาในปี 2530 สำนักราชเลขาธิการ ในขณะนั้น ได้มีหนังสือขอให้กรมชลประทานดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูกได้ตลอดปี โดยได้รับงบประมาณจาก กปร. เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดงฯ แล้วเสร็จในปี 2533 ปัจจุบันเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตร 1,200 ไร่ และสามารถช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ จำนวนประมาณ 200 ครัวเรือน มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร เช่น การปลูกทุเรียน และเลี้ยงโคนม เป็นต้น
จากนั้น คณะเดินทางไปเยี่ยมชมแปลงเกษตรของนายสมปอง พุ่มพวง เกษตรกรชาวสวนทุเรียน หมู่ที่ 2 บ้านร่วมใจพัฒนา ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หลังจากเกษียณอายุราชการ ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนทุเรียน จำนวน 12 ไร่ สวนยาง จำนวน 20 ไร่ บนที่ดินของภรรยาซึ่งเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าเด็ง - ป่าละอู จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี รุ่นที่ 4 มีฐานะพออยู่พอกินไม่มีหนี้สิน นอกจากนี้ยังปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครฝนหลวง รายงานสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษากลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อดูแลรักษาอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดงฯ และบริหารจัดการน้ำให้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.