องคมนตรีเชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 10 มกราคม 2567 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสุทัศน์ ตั้งพิพัฒน์พงศ์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพื้นที่ 3 สำนักงาน กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการช่วยเหลือราษฎรบ้านทุ่งต้นงิ้วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวมอบให้แก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 192 ตัว ถุงพระราชทานมอบให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ รวม 139 ถุง สร้างความปลื้มปีติให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยพสกนิกรเสมอมา จากนั้น องคมนตรีและคณะพบปะเยี่ยมเยียนราษฎร เยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการฯ และรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ
โครงการช่วยเหลือราษฎรบ้านทุ่งต้นงิ้วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2544 ให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของราษฎร เนื่องจากราษฎรประสบปัญหาความยากจนและขาดแคลนสาธารณูปโภคที่จำเป็นตลอดจนบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ความว่า “ให้รักษาป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลายและขอให้อธิบดีกรมป่าไม้ช่วยดูแลราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรกลุ่มบ้านทุ่งต้นงิ้วซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน” สำนักงาน กปร. ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริโดยการสนับสนุนงบประมาณในปี 2564 – 2566 เพื่อช่วยเหลือราษฎรบ้านทุ่งต้นงิ้ว บ้านปรอโกร หมู่ที่ 11 ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านทุ่งต้นงิ้ว บ้านเลโคะ บ้านปรอโกร หมู่ที่ 7 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก รวม 237 ครัวเรือน ประชากร 952 คน ซึ่งอาศัยอยู่ปะปนกัน เป็นชาวไทยภูเขา เชื้อสายกระเหรี่ยง เผ่าสะกอ เกิดผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงาน ได้แก่ 1) ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ส่งเสริมให้ราษฎรปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนา จากเดิมทำนาในรูปแบบข้าวไร่ มาเป็นการทำนาดำแบบนาขั้นบันได โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์ข้าว และการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องข้าวจากศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ ได้แก่ ข้าวหลวงสันป่าตอง บือชะโพ บือแม้ว บือวาเจาะ และบือวาเบะ เป็นการเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวต่อหน่วยพื้นที่ และลดการขยายพื้นที่การปลูกข้าวไร่ลง จากการส่งเสริมของโครงการตั้งแต่ปี 2564 – 2566 รวมจำนวน 90 ไร่ จากเดิมผลผลิตข้าวไร่ 20-25 ถัง/ไร่ เมื่อเปลี่ยนมาทำนาขั้นบันไดได้ผลผลิต 35-40 ถัง/ไร่ ทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถส่งบุตรหลานเรียนจบปริญญาตรี 2) ด้านการส่งเสริมอาชีพนอกภาคการเกษตร จัดตั้งกลุ่มผ้าทอบ้านทุ่งต้นงิ้ว ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 43 คน และกลุ่มทำไม้กวาดดอกหญ้า มีสมาชิก 25 คน 3) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธาร ทำให้สภาพป่าต้นน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำไหลสม่ำเสมอตลอดทั้งปี เป็นแหล่งน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค และใช้ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ รวมถึงส่งเสริมให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ช่วงบ่ายคณะฯ เดินทางไปยังสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ดอยแบแล บ้านขุนอมแฮด อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวมอบให้แก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 22 ตัว ถุงพระราชทานมอบให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ รวม 144 ถุง จากนั้น องคมนตรีและคณะพบปะเยี่ยมเยียนราษฎร เยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการฯ และรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ
สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2545 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ป่าไม้อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ทรงพบว่าพื้นที่ป่าบริเวณดอยแบแลถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นบริเวณกว้างจำนวนนับพันไร่ และมีแนวโน้มว่าจะมีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้ แหล่งต้นน้ำบริเวณห้วยอมแฮด, ห้วยแบแล, ห้วยพะอัน, ห้วยกองซาง, ห้วยไคล้นุ่น จะประสบกับภาวะแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่ราษฎรในพื้นที่อำเภออมก๋อยในอนาคต จึงมีพระราชดำริให้มีการจัดตั้งสถานีทดลองเกษตรในพื้นที่สูงโดยนำพื้นที่ที่ถูกแผ้วถางแล้วมาจัดทำเป็นแปลงปลูกพืชเมืองหนาว และให้ราษฎรที่บุกรุกดังกล่าวเข้ามามีส่วนร่วมในการทำการเกษตรอย่างถูกหลักวิชาการเกษตร เพื่อเป็นการหยุดยั้งมิให้บุกรุกแผ้วถางป่าเพิ่มขึ้นอีกต่อไป โดยมีพื้นที่ดำเนินการ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขุนอมแฮดใน บ้านขุนอมแฮดนอก และบ้านพะอัน รวม 251 ครัวเรือน ประชากร 964 คน จากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริทำให้ราษฎรในโครงการฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากเดิมก่อนเริ่มโครงการมีรายได้ 3,500 บาทต่อปีต่อครัวเรือน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 43,000 บาทต่อปีต่อครัวเรือน ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร มีรายได้จากการทำงานในโครงการฯ เฉลี่ย 30,000 บาทต่อปี รายได้จากการทอผ้า เฉลี่ย 3,000 – 5,000 บาทต่อปี รายได้จากการรับจ้างทั่วไป เฉลี่ย 20,000 – 50,000 บาทต่อปี และรายได้จากการขายกาแฟ เฉลี่ย 3,000 – 30,000 บาทต่อปี ทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถส่งบุตรหลานเรียนจบปริญญาตรี และได้รับการดูแลทางด้านสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ธนาคารข้าวพระราชทาน ถนน ประปาภูเขา ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ ยังปลูกจิตสำนึกให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ช่วยป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ทำให้สภาพป่าต้นน้ำลำธาร ได้รับการฟื้นฟูให้กลับฟื้นคืนความสมบูรณ์ดังเดิม
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร