อิสราเอลตกอยู่ใต้ความกดดันจากกลุ่มพันธมิตรมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าจำเป็นต้องมีแผนการสำหรับอนาคตของกาซา หลังจากสงครามกับฮามาสจบลง

ตอนนี้ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอิสราเอล โยอาฟ กัลแลนต์ ได้ร่างแผนการสำหรับการปกครองในพื้นที่ดังกล่าวออกมาแล้ว โดยมีชื่อเรียกว่าแผนการ "หลังสิ้นสงคราม"

แต่มันมีอะไรอยู่ในแผนการดังกล่าว ? ปฏิกิริยาจากโลกอาหรับและภายในอิสราเอลเป็นอย่างไร ? อะไรคือความท้าทายที่ต้องเผชิญในการนำแผนการนี้ไปปฏิบัติ ?

อิสราเอลได้นำเสนอแผนการ "สี่มุม" สำหรับกาซาหลังจากสงครามสิ้นสุดลง

ฮามาสจะไม่ได้ปกครองกาซาอีกต่อไป อิสราเอลจะเข้าไปควบคุมความปลอดภัยโดยรวมแทน รวมถึงตรวจสอบการนำสิ่งของต่าง ๆ เข้าและออกจากภายในพื้นที่ โดยที่จะไม่มีพลเรือนอิสราเอลอาศัยอยู่ในพื้นที่กาซา

จะมีกองกำลังร่วมหลายชาติที่นำโดยสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เข้าไปสร้างและบูรณะฉนวนกาซาขึ้นมาใหม่

เพื่อนบ้านอย่างอียิปต์ ซึ่งมีจุดผ่านแดนเข้าออกฉนวนกาซาแห่งเดียวที่ยังคงเปิดอยู่ จะมีบทบาทภายใต้แผนการนี้ แต่ว่ายังไม่มีรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงว่าจะเป็นอย่างไร

การปกครองโดยชาวปาเลสไตน์เองจะเป็นไปอย่างจำกัด "ด้วยเงื่อนไขว่าจะไม่มีการกระทำที่เป็นอันตรายหรือเป็นภัยคุกคามต่อรัฐอิสราเอล"

ลีซ ดูเซท หัวหน้าผู้สื่อข่าวต่างประเทศของบีบีซี วิเคราะห์แผนการหลังสงครามของอิสราเอลว่า แผนการนี้ "ดูไม่เหมือนว่าองค์การบริหารปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) ที่ตั้งอยู่ในเมืองรามัลเลาะห์ [ในเวสต์แบงก์] จะมีบทบาทใด ๆ เลย" และแน่นอนว่าฮามาสก็จะไม่มีบทบาทเช่นกัน

แผนการของอิสราเอลยังได้ระบุถึง แนวทางที่กองทัพอิสราเอลจะดำเนินการในฉากต่อไปของสงครามในกาซาด้วย

รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอิสราเอล กล่าวว่า กองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) จะใช้แนวทางที่เจาะจงเป้าหมายมากขึ้นในพื้นที่ตอนเหนือของฉนวนกาซา โดยปฏิบัติการจะรวมถึงการจู่โจม การทำลายอุโมงค์ต่าง ๆ รวมถึงการโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดิน ขณะที่ปฏิบัติการในพื้นที่ทางตอนใต้นั้น กองทัพอิสราเอลจะยังคงพยายามตามหาตัวเหล่าผู้นำฮามาส และช่วยเหลือตัวประกันชาวอิสราเอลต่อไป

แผนการจากนายกัลแลนต์ ยังไม่ใช่นโยบายอย่างเป็นทางการของอิสราเอล และยังไม่ได้นำเสนอต่อรัฐมนตรีคนอื่น ๆ

นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ยังไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนการนี้ต่อสาธารณะ เขาเคยระบุว่า สิ่งที่กองทัพอิสราเอลต้องทำเป็นลำดับแรกก่อนจะเริ่มแผนการสำหรับช่วงเวลาหลังสงคราม คือ "กำจัดฮามาสให้สิ้นซาก"

แผนการนี้ไม่ได้ถูกหารืออย่างละเอียดในการประชุมคณะรัฐมนตรีอิสราเอล แต่มีรายงานว่า การพูดคุยได้ล่มลงไปท่ามกลางความคิดเห็นที่รุนแรง โดยรัฐมนตรีบางคนคัดค้านอย่างโกรธแค้นต่อการนำเสนอรายชื่อบุคคลที่จะถูกตรวจสอบจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค.

สมาชิกกลุ่มขวาจัดบางคนภายในรัฐบาลของนายเนทันยาฮู เคยกล่าวว่า พลเมืองชาวปาไลสไตน์ควรถูกผลักดันให้ออกจากฉนวนกาซา เพื่อสถาปนาการตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวยิวในดินแดนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงพันธมิตรของอิสราเอลเองด้วย โดยมองว่ามัน "สุดโต่ง" และ "ใช้ไม่ได้จริง"

นายกรัฐมนตรีขององค์การบริหารปาเลสไตน์ โมฮัมหมัด ชเตห์เยห์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดอะไฟแนนเชียลไทม์ว่า ข้อตกลงปลายทางจะต้องรวม "ทางออกทางการเมืองสำหรับชาวปาเลสไตน์ทุกคน" เข้าไปด้วย ไม่ใช่เพียงทางออกสำหรับกาซา

"ในทางการเมือง อิสราเอลต้องการที่จะแยกกาซาออกจากเวสต์แบงก์" ชเตห์เยห์ กล่าว

"ผมไม่คิดว่าอิสราเอลจะออกไปจากกาซาในเร็ววัน อิสราเอลจะสร้างหน่วยงานปกครองของพลเรือนของอิสราเอลเองขึ้นมาบริหารกาซา ซึ่งจะทำงานภายใต้กองทัพอิสราเอลที่เข้าไปยึดครองพื้นที่ เมื่อเป็นเช่นนั้น ประเด็นเรื่องของ "วันหลังสิ้นสงคราม" จึงยังไม่ชัดเจนมากนัก"

อียิปต์ที่ถูกอ้างอิงถึงในแผนการนี้ยังไม่มีความเห็นออกมาอย่างเป็นทางการ

ส่วนที่จอร์แดนนั้น ผู้ประท้วงหลายพันคนได้ลงถนนในเมืองหลวงอย่างกรุงอัมมาน เพื่อแสดงออกถึงการยืนหยัดเคียงข้างชาวกาซา

เซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำฝ่ายค้านของสหราชอาณาจักรและหัวหน้าพรรคแรงงาน ได้กล่าวว่า อิสราเอลไม่ควรเป็นฝ่ายเดียวที่มีส่วนในการกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้นในกาซา พร้อมกันนี้ เขายังได้เรียกร้องว่าทางออกควรเป็นแนวทางแบบสองรัฐ

เขาบอกกับ แอลบีซีว่า "พวกเราไม่สามารถให้อิสราเอลเข้ายึดครองพื้นที่ได้ และไม่สามารถให้ผู้คนต้องพลัดถิ่นโดยไม่สามารถกลับไปยังที่ที่พวกเขาจากมาได้ เพราะว่ามีคนสองล้านคนที่ต้องพลัดถิ่นในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมานี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้" เขากล่าวด้วยว่า "จริง ๆ แล้ว ผมไม่คิดว่าอิสราเอลควรเป็นผู้กำหนดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกาซา มันต้องมีข้อตกลงร่วมกันในระดับนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้น ทุกสิ่งที่ทำไปก็จะไม่มีทางได้ผล"

เขาเสนอว่า ผู้นำในจอร์แดน กาตาร์ และชาติอื่น ๆ ในอาหรับควรจะเข้ามาร่วมในการหาทางออกสู่สันติภาพ และร่วมกันหารือเกี่ยวกับแผนการ "หลังสิ้นสงคราม"

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ผลักดันให้เกิดทางออกแบบสองรัฐ และเสนอว่ากาซาควรถูกปกครองโดยองค์การบริหารปาเลสไตน์ที่ถูกฟื้นฟูให้กลับมาเข้มแข็งขึ้นอีกครั้งและมีฐานที่มั่นอยู่ในเขตยึดครองเวสต์แบงก์ แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในแผนล่าสุดของอิสราเอล

ต่อจากนี้ สายตาจะจับจ้องไปยังการตอบสนองของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ เดินทางไปเยือนอิสราเอล ซึ่งเป็นไปได้ว่าประเด็นเกี่ยวกับอนาคตของกาซาหลังสงครามจะเป็นหนึ่งในหัวข้อของการหารือ

ส่วนชาติอาหรับก็แทบไม่มีแนวโน้มจะเห็นด้วยเลยกับแผนการของอิสราเอล

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายฮัสซาน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำชาวเลบานอนของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ออกโรงเตือนว่า "ถ้าอิสราเอลโค่นกาซาได้ สมรภูมิต่อไปจะเป็นที่ภาคใต้ของเลบานอน"

ทั้งนี้ กระทั่งการทำให้รัฐบาลอิสราเอลเอง รวมถึงพันธมิตรที่สำคัญที่สุดอย่างสหรัฐฯ เห็นด้วยกับแผนการดังกล่าว ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

โยลันด์ คเนลล์ ผู้สื่อข่าวประจำตะวันออกกลางของบีบีซี กล่าวว่า การไม่มีพลเรือนอิสราเอลในฉนวนกาซาถือเป็น "จุดสำคัญ" ที่กลายเป็นข้อโต้เถียงภายในรัฐบาลของอิสราเอล "เนื่องจากรัฐมนตรีกลุ่มขวาจัดบางคนในอิสราเอล เรียกร้องให้ชาวยิวได้กลับไปตั้งถิ่นฐานในกาซา"

คเนลล์ ยังระบุด้วยว่า ความท้าทายอีกประการคือจุดยืนของสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของอิสราเอล เนื่องจาก "วอชิงตันต้องการให้องค์การบริหารปาเลสไตน์ซึ่งถูกรื้อฟื้นขึ้นมา เข้ามาปกครอง [กาซา]"

ทว่า ก่อนที่แผนการใด ๆ เกี่ยวกับช่วงเวลาหลังสงครามจะเกิดขึ้น สงครามที่พรากชีวิตชาวปาเลสไตน์ในกาซาไปแล้วมากกว่า 22,000 ราย หลังจากกลุ่มฮามาสได้ฆ่าชาวอิสราเอลไป 1,100 ราย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ต้องยุติลงเสียก่อน