วันที่ 11 ม.ค.2567 เวลา 14.00น. ในการประชุมสภาฯ ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.อีก 3 ฉบับที่ถูกจัดอยู่ในระเบียบวาระได้แก่ ร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ตามที่น.ส.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ตัวแทนภาคประชาชนเสนอ ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยเสนอ และร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังเสนอ รวมถึงร่างพ.ร.บ.อีก 3ฉบับที่ไม่ถูกจัดอยู่ในระเบียบวาระประชุม ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาด ตามที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ และร่างพ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ เข้ามาพิจารณาพร้อมกันทั้ง 7ฉบับ เพราะมีเนื้อหาหลักการในทำนองเดียวกัน ซึ่งที่ประชุมก็อนุญาต โดยสาระสำคัญของทั้ง 7ฉบับ มุ่งแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นPM2.5ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น มีแนวโน้มสูงในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี จึงต้องกำหนดกลไกบริหารจัดการมลพิษทางอากาศทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ เพื่อป้องกันการปล่อยฝุ่น ควันมลพิษเข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ
ทั้งนี้พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในนามคณะรัฐมนตรี เสนอหลักการและเหตุผลว่า ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศกำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี จึงต้องมีการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ ทั้งในระดับชาติและในระดับพื้นที่ พร้อมกำหนดให้มีการพัฒนาและบูรณาการการบริหารจัดการปัญหาของทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ กำหนดให้มีระบบการวางแผนการดำเนินงาน และกำกับดูแล เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“เพื่อลดสาเหตุการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด รวมทั้งป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน และกลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบการเฝ้าระวัง ระบบ การเตือนภัย และระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤตจากภาวะมลพิษทางอากาศ ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดอากาศสะอาด เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัยต่อสุขภาพอันเป็นปัจจัยพื้นฐาน ในการดำรงชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
จากนั้นที่ประชุมเปิดโอกาสให้อภิปรายแสดงความเห็น สส.ทุกคนอภิปรายอย่างกว้างขวางสอดคล้องไปทางเดียวกัน แสดงความเป็นห่วงปัญหาฝุ่นPm 2.5ที่มีความรุนแรงขึ้นทุกปี จำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ มีมาตรการทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ การลดการเผาพืชผลการเกษตร ลดควันไอเสียรถยนต์ และทุกหน่วยงานราชการต้องบูรณาการให้ความร่วมมือกัน บังคับใช้กฎหมายให้เกิดอากาศบริสุทธิ์