"นภินทร" ยกทัพเอกชนไทยบุกอินเดีย ร่วมงาน Vibrant Gujarat Global Summit เสริมแกร่งเครือข่ายการค้าที่เมืองคุชราต ศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของอินเดีย

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์รับคำเชิญเข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat Global Summit ครั้งที่ 10 ที่รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย โดยงานนี้เป็นงานระดับรัฐที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนในรัฐคุชราต ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การสัมมนาแลกเปลี่ยนมุมมองการดำเนินนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ 2) งานแสดงสินค้าและความก้าวหน้าทางธุรกิจ 3) กิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และ 4) การลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างรัฐกับรัฐเอกชนกับเอกชน และรัฐกับเอกชน 

โดยภายในงาน นายนเรนทรา โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ขึ้นกล่าวเปิดงานบนเวทีพร้อมเชิญชวนนักลงทุนที่เป็นประเทศสมาชิกภาคีมาลงทุนที่อินเดียเนื่องจากมีความพร้อมทางด้านโลจิสติกส์ยกตัวอย่างเช่น สนามบิน ที่อินเดียมีสนามบิน จำนวน 149 แห่ง และยังมีไฮเวย์กับรถไฟเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายเท่าในช่วงที่ผ่านมา โดยนาย โมที ได้กล่าวว่า จะพาอินเดียให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในอีก 25 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันเป็นปีที่ 75 หลังจากที่อินเดียได้ประกาศเอกราช ซึ่งตนจะเร่งพัฒนาให้อินเดียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งประเทศภายในปี 2047 (วาระครบรอบ 100 ปีการประกาศเอกราช)

ขณะที่ประเทศไทย นำโดย นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ ได้เชิญเอกชนเข้าร่วมงานและจัด Thai Pavilion ภายในงานจำนวน 4 ธุรกิจ ได้แก่ 1 ) บริษัท Sri Thai Superware (บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์) หนึ่งในผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เมลามีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เข้ามา ตั้งโรงงานในรัฐคุชราตตั้งแต่ปี 2014 สร้างงานกว่า 400 ตำแหน่ง และยังมีเป้าหมายจะขยายโรงงานทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ของอินเดีย 2) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า และพลังงานอัจฉริยะของกลุ่ม ปตท. ได้ร่วมลงทุนกับกลุ่ม Avaada Group ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในประเทศอินเดีย ในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 61 พันล้านรูปีอินเดีย หรือเท่ากับ 27,000 ล้านบาท ด้วยเป้าหมายกำลังการผลิตเติบโตสู่ 11 กิกะวัตต์ในปี 2569 ซึ่งสอดคล้องกับโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐประเทศอินเดีย 3) บริษัท Siam Cement Group ได้ร่วมทุนกับบริษัท BigBloc Construction ของอินเดีย จัดตั้งโรงงานผลิตอิฐบล็อคและอิฐมวลเบาในรัฐคุชราต ซึ่งคาดว่าจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินเดียตะวันตกสร้างเม็ดเงินมากกว่า 125 ล้านรูปีอินเดีย และ 4 )P-Dictor เป็นบริษัทในเครือ PTT ซึ่งให้บริการระบบซ่อมบำรุงเชิงพยากรณ์(Predictive Maintenance)โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และบริการเฝ้าติดตามสุขภาพของเครื่องจักรทางไกล(Machine remote monitoring service) ซึ่งมีแผนขยายธุรกิจการให้บริการในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีคอลในประเทศอินเดีย 

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงงานนี้ว่า ในนามของรัฐบาลไทย ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเดินทางมาร่วมงานไวแบรนท์ คุชราต โกลบอล ซัมมิท (Vibrant Gujarat Global Summit) และผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไทยได้ร่วมเป็นประเทศภาคีต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 โดยตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ ไทยเห็นถึงความสำเร็จของการจัดงานไวแบรนท์ คุชราต (Vibrant Gujarat) ที่ส่งเสริมการลงทุนและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของรัฐคุชราตที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

โดยในโอกาสนี้ ไทยพร้อมร่วมผลักดันและยกระดับความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับรัฐคุชราตให้เป็นรูปธรรมเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งกว่าหลายศตวรรษที่ผ่านมา อินเดียและไทยได้สานสัมพันธ์ในหลายมิติทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ประชาชน โดยเฉพาะในด้านการค้าเมื่อปี 2022 ไทยและอินเดียมีสถิติมูลค่าการค้าสูงสุดที่ 17,703 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวกว่าร้อยละ 18 ด้วยปัจจัยสำคัญ คือ ความสอดคล้องด้านนโยบายระหว่างไทยกับอินเดีย โดยเฉพาะนโยบายแอค อีสต์ (Act East) ของอินเดีย กับนโยบายลุค เวสต์ (Look West) ของไทย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสในการเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เหนียวแน่นทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะแสวงหาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

"ในโอกาสที่ได้ร่วมงานในวันนี้ ผมขอชื่นชมวิสัยทัศน์และแนวคิดริเริ่มของท่านนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่พัฒนาให้รัฐคุชราตเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุน ด้วยพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจของรัฐคุชราตที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทันสมัย และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที จนกลายเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินเดียในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อมอินเดียสู่เศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยเห็นว่า รัฐคุชราตมีศักยภาพในการเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลและอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ด้วยเป็นหนึ่งในแหล่งเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งยังมีนโยบายที่สามารถรองรับการลงทุนแห่งอนาคต อาทิ พลังงานหมุนเวียน และการก่อสร้าง ซี่งถือเป็นโอกาสอันดีของนักลงทุนไทยระดับโลกที่จะปักหมุดการลงทุนในคุชราต

สำหรับประเทศไทย เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกและกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของโลก อาทิ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิตอล และการแพทย์ครบวงจร โดย EEC จะนำเสนอบริการเชิงกลยุทธ์และฐานการผลิตสำหรับผู้ลงทุนจากทั่วโลก รวมทั้งยังตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ของอาเซียน เชื่อมโยงภูมิภาคผ่านระบบขนส่งที่ทันสมัย อาทิ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ท่าอากาศยานนานาชาติ และความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลด้วยระบบเครือข่ายโทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยศักยภาพด้านที่ตั้งยุทธศาสตร์และสิทธิพิเศษด้านการลงทุน EEC จะเป็นคำตอบสำหรับบริษัทและนักลงทุนที่ต้องการขยายฐานการผลิตและศูนย์กลางการขนส่งจากอินเดียไปสู่โลก โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีนวัตกรรม และเคมีชีวภาพ ซึ่งอินเดียมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับระดับโลก ด้วยคำนึงถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไทยจึงได้จัดตั้ง Digital Park และสถาบัน IoT ในเขต EEC ซึ่งนักลงทุนอินเดียจะได้รับสิทธิพิเศษจากระบบนิเวศด้านนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเชิญชวนคู่ค้าชาวอินเดียร่วมลงทุนในโครงการ EEC ของรัฐบาลไทย นอกจากนี้ ไทยเล็งเห็นถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของรัฐคุชราตด้วยความร่ำรวยด้านศิลปะวัฒนธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดและเก็บรักษามามากกว่า 1,000 ปี อย่างบ่อน้ำ ริ นิ คิ วาฟ (Rani Ki Vav) ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนแม่น้ำสารัสวะตี และรูปปั้นรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างท่านมหาตะมะคานธี 

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ไทยได้ยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวอินเดียแล้ว จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นักท่องเที่ยวอินเดียจะสามารถพำนักนานกว่า 30 วัน และยังมีเที่ยวบินตรงของสายการบินไทยระหว่างกรุงเทพฯ กับรัฐคุชราตแล้ว รัฐบาลไทยมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยกับอินเดียอย่างใกล้ชิดเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อันเป็นประโยชน์กับไทยและอินเดียในการขยายช่องทางการค้าอย่างยั่งยืนต่อไป

 

#พาณิชย์ #อินเดีย #การค้า #EEC