ประเสริฐแฮปปี้ไขก๊อกส.ส.บัญชีรายชื่อ ลุยงานกระทรวงเต็มเต็มที่ เปิดทางคนรุ่นใหม่พรรคเข้ามาทำงานสภาแทน พร้อมวาง 3 นโยบาย ยกระดับประเทศด้วยดิจิทัล  สุทินขอคุยพรรคเพื่อไทยก่อนทิ้งเก้าอี้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ "ภูมิธรรม" บอกไม่กังวล ส.ว.จ้องเปิดซักฟอก ด้านสรรเพชญแนะรัฐบาลผุดดิจิทัลวอลเล็ตยึดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

     เมื่อวันที่ 9 ม.ค.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี เปิดเผยว่า หลังลาออกจากตำแหน่งส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคเพื่อไทย มีผล 15 ม.ค.นี้ จะช่วยให้ทำงานให้ตำแหน่งรมว.ดีอีได้แบบเชิงรุกมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อน ภารกิจสำคัญของกระทรวง ในการพัฒนาดิจิทัลด้านต่างๆ ให้กับประเทศ มีขีดความสามารถการ แข่งขันที่เพิ่มขึ้นในเวทีโลก โดยวาง 3 นโยบายหลัก ได้แก่ 1. เดินหน้ารัฐบาลดิจิทัลโดยสมบูรณ์ ให้ทุกหน่วยงานรัฐใช้ดิจิทัลในการทำงาน และให้บริการ ประชาชน 2.โครงการคลาวด์กลางภาครัฐ หรือ( จีดีซีซี) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการมาแล้วว่าทุกหน่วยงานรัฐ ที่จะมีการจัดซื้อจัดจ้างเรื่องคลาว์ดให้ชะลอเพื่อรับนโยบาย คลาว์ด เฟิร์ส ของรัฐบาลก่อน
      
 3.วันซิติเซ่น ไอดี เป็นการต่อยอดจากดิจิทัล ไอดี ที่มีให้บริการอยู่ 4 ไอดี คือ ไทยไอดี ของกรมการปกครอง ,หมอพร้อม ของกระทรวงสาธารณสุข , เป๋าตัง ของธนาคารกรุงไทย และ เอ็นดีไอดี ของสถาบันการเงิน โดยจะมีการประชุมร่วมกันในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเลือกใช้เหลือเพียงไอดี เดียว ที่จะใช้เป็นดิจิทัล ไอดี อย่างเป็นทางการของประชาชน จากปัจจุบันที่แยกกันใช้ และยังไม่มีการเชื่อมต่อหรือรวมระบบกัน ซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนาไปสู่ ซูเปอร์แอปฯ เพื่อร่วมบริการภาครัฐต่างๆ กว่า 300 บริการไว้ในแอปฯเดียว เช่น การจ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น
     
นายประเสริฐ กล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงดีอีทั้ง 3 นโยบาย เป็นการให้ความสำคัญการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยให้สามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี และเป็นการเดินหน้าวางรากฐานรัฐบาลดิจิทัลที่มั่นคงและต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว จะช่วยให้ทำหน้าที่ได้อย่าเต็มที่ ไม่ต้องห่วงงานของสภาฯ และพี่น้องประชาชน จะเห็นการเปลี่ยนแปลงภายใต้การบริหารงานจากดีอี
     
สำหรับกระแสข่าวว่าการลาออกจากตำแหน่งส.ส. จะเป็นเงื่อนไขทำให้ได้อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไปอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะเรื่องนี้ตนเองได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และเป็นความต้องการที่จะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ของพรรคขึ้นมาเป็นส.ส.ได้ทำงานในสภาฯ โดยเชื่อมั่นว่า ความสามารถและศักยภาพของคนรุ่นใหม่ของพรรคจะสามารถผลักดันภารกิจด้านนิติบัญญัติเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างเต็มที่
    
 นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงการตัดใจลาออกจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เหมือนกับ 3 รัฐมนตรี ว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยขอไปพูดกันในพรรคก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อถามว่า หากลาออกจากการเป็นส.ส. สภาคงไร้สีสัน ทำให้ นายสุทิน ถึงกับหัวเราะ
  
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ล่าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า รัฐบาลพร้อมที่จะชี้แจงอยู่แล้ว เพราะเป็นการอภิปรายเสนอความเห็นของส.ว. แต่เข้าใจว่าตอนนี้ยังรวมชื่อไม่ถึงเกณฑ์ที่จะสามารถยื่นได้ ก็ไม่เป็นไร หากรวมชื่อและยื่นได้ก็พร้อมที่จะรับฟังและชี้แจง เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่มีส่วนไหนที่รัฐบาลต้องไปกังวลใจ
    
 เมื่อถามว่า มีส.ว.บางส่วนต้องการให้รัฐบาลกำหนดนิยามคำว่าวิกฤตเศรษฐกิจให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการออกร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท นายภูมิธรรม กล่าวว่า วิกฤตหรือไม่วิกฤตเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันตอบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างพรรคการเมือง ผมเห็นว่าต้องเอาความเป็นจริงมาพูด หากอยากรู้ว่าวิกฤตหรือไม่ให้ลงไปที่ตลาด และไปสอบถามจากชาวบ้าน ถ้าหากชาวบ้านบอกว่าไม่วิกฤตก็ให้มาบอกรัฐบาล นายภูมิธรรม กล่าว
    
 ด้าน นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งความเห็นกรณีการออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อจัดทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต กลับมายังกระทรวงการคลัง ว่า ตามที่ตนได้รับทราบข่าวกฤษฎีกาไม่ได้ฟันธงว่ารัฐบาลสามารถจัดทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ได้หรือไม่ แต่กฤษฎีกาทำหน้าที่ส่งความเห็นในเชิงกฎหมายเพียงเท่านั้น โดยตนเห็นว่ากฤษฎีกากำลังบอกรัฐบาลว่าหากจะจัดทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ต้องพิจารณาภายใต้กฎหมายใดเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ตนเห็นว่านโยบายรัฐบาล คือฉันทามติของสังคมที่ไม่สามารถหักล้างได้ ขณะเดียวกัน หากสุดท้ายมันผิดกฎหมายจริงๆ  รัฐบาลจำเป็นรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและการเมืองเป็นอย่างน้อย เพราะมันคือนโยบายหาเสียงที่จำเป็นตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ก่อนจะประกาศหาเสียงเลือกตั้ง
   
  นายสรรเพชญ ยังกล่าวถึงกรณีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ภายใต้ความฮือฮาก็มีข้อกังขาถึงความเป็นไปได้ของนโยบาย มาจนถึงวันนี้ ความชัดเจนของนโยบายก็ยังไม่คืบหน้า เพราะรัฐบาลไม่มีเงินที่จะมาทำนโยบาย อีกทั้งรัฐบาลเองก็มีความสับสนในช่วงแรกว่าจะกู้หรือไม่กู้ จะใช้เงินผ่าน Platform หรือ Application ซึ่งรัฐบาลเองก็ยังไม่มีความ โดยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นไว้กับ กกต. ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เรื่องของการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องให้จ่ายเงิน พบว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล วงเงิน 560,000 ล้านบาท ซึ่งที่น่าสังเกตคือที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการโดยจะมาจาก 4 แหล่ง คือ 1.รายได้ที่รัฐจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 260,000 ล้านบาท 2.ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 100,000 ล้านบาท 3.การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท 4.การบริหารงบประมาณที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท ซึ่งไม่มีเรื่องของการกู้ จึงหมายความว่า นโยบายนี้จะสามารถดำเนินการได้โดยใช้เงินที่มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องสร้างภาระให้กับประเทศเพิ่ม 
     
นายสรรเพชญ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า การทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หากรัฐบาลจะดึงดันให้สามารถดำเนินการภายในปี 2567 เท่ากับรัฐบาลนายเศรษฐาจะต้องกู้เงินถึง 1.1 ล้านล้านบาท เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งในรายละเอียดไม่ปรากฏนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 67 มีการกู้เงินเพื่อชดใช้เงินคงคลังกว่า 600,000 แสนล้านบาท และหากจะดำเนินการ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลจะต้องกู้อีก 560,000 ล้านบาท รวมแล้วรัฐบาลนายเศรษฐาจะสร้างหนี้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท  ทั้งนี้ การกู้เงินของรัฐบาลจะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ที่ระบุไว้ว่า คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว
    
 ทั้งนี้หากพิจารณาเรื่องของหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือน พฤศจิกายน 2566 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท ซึ่งหากต้องกู้เพื่อทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ตนไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว การกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวมันมีอยู่หลากหลายแนวทาง หลายแนวทางมันนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ การฝึกทักษะใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นต้น
    
 นายสรรเพชญ กล่าวว่า ความท้าทายของรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทยคือมาตรฐานนโยบายการเมืองกับความถูกต้องทางกฎหมาย และจำเป็นต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของนโยบายที่ให้ไว้เป็นสัญญาประชาคมว่า ดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นนโยบายที่ไม่ต้องกู้เงิน ซึ่งรัฐบาลจะต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง