กลุ่มข้าวโภชนาการสูง คือ ข้าวที่มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วน เมื่อบริโภคสู่ร่างกาย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเจริญเติบโต และการซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 

กรมการข้าว ได้มีการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวโภชนาการสูงให้ได้มาตรฐานอย่างเป็นระบบและครบวงจร จากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยต้นน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิตข้าวให้ได้มาตรฐานไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับข้าว (GAP) มาตรฐานข้าวอินทรีย์ และข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทั้งมาตรฐานไทยและมาตรฐานต่างประเทศ ระบบควบคุมภายใน (internal Control System: ICS) เพื่อการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบและเป็นไปตามข้อกำหนดในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าว การตรวจรับรองตามมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ GAP และ GI ส่วนกลางน้ำ จะสนับสนุนการแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ เครื่องมือแปรรูป เครื่องซีลสูญญากาศ และวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการข้าว และสุดท้ายปลายน้ำ จัดระบบฐานข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ พร้อมสร้างตราสินค้า ตลอดจนการส่งเสริมการตลาดทั้งระบบ online และ offline การเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้ประกอบการ และผู้บริโภค

นางสาวสมใจ แก้วสร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า สำหรับข้าวโภชนาการสูง กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว ได้ส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้ ความสามารถในการผลิตข้าวโภชนาการสูง ให้ได้มาตรฐาน GAP มาตรฐาน Organic Thailand และ GI รวมทั้งมาตรฐาน GMP ซึ่งข้าวประเภทโภชนาการสูงนั้นเป็นที่สนใจของผู้บริโภคในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ทำให้ข้าวโภชนาการสูงเป็นที่ต้องการของตลาด และมีราคาสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ กรมการข้าวเล็งเห็นถึงการเพิ่มมูลค่าของข้าวโภชนาการสูงให้มีคุณภาพและมีความโดดเด่นเฉพาะตัว เพื่อเพิ่มมูลค่าของข้าวให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น อาทิ การนำไปแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอางค์ และอาหารเสริม เป็นต้น

นายทฤษฎี เพชรมะลิ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงนาสะอาด ตำบลหนองไม้กอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงนาสะอาดเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่รวมกลุ่มกันผลิตข้าวโภชนาการสูง ซึ่งเป็นข้าวตลาดเฉพาะที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยกลุ่มจะมีการวางแผนพัฒนาการผลิตข้าวเพื่อแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพจากข้าวของเกษตรกรในกลุ่ม โดยเน้นการผลิตจากข้าวทับทิมชุมแพ และมะลินิลสุรินทร์ ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มได้รับการส่งเสริมความรู้และงบสนับสนุนจากกรมการข้าวและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีการเรียนรู้และพัฒนากลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง เพิ่มศักยภาพและขีดจำกัดของชุมชนอย่างเป็นระบบ สมาชิกมีการพยายามเรียนรู้ด้วยตนเองและจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น การประชุมแลกเปลี่ยนความรู้จากกรมการข้าวและหน่วยงานภาคีที่เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของนาแปลงใหญ่

นายทองพูน อุ่นจิตต์ ประธานวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มุ่งเน้นการผลิตข้าวโภชนาการสูงอย่างพันธุ์ข้าวทับทิมชุมแพ และมะลินิลสุรินทร์ ซึ่งเป็นข้าวที่อุดมไปด้วยประโยชน์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ การพัฒนาสินค้าของกลุ่มฯ มุ่งเน้นสร้างเกษตรที่ปลอดภัย นำนวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่า ทำการค้าเชื่อมโยงกับผู้บริโภค โดยคำนึงถึงความสุขและความยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้นำแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่น่าสนใจและน่าจดจำ โดยดึงจุดเด่นของชุมชนบ้านสวายสอ ที่มีนกกระเรียนพันธุ์ไทย สัตว์ป่าหายาก ซึ่งพบได้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นตัวชี้วัดของความอุดมสมบูรณ์อยู่ในชุมชนอีกด้วย 

ทั้งนี้ กรมการข้าวเดินหน้ายกระดับการผลิต การแปรรูป และจำหน่าย เพื่อผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของไทยสามารถเป็น Smart Farmer ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อข้าวไทยคุณภาพดีสามารถส่งออกได้ ย่อมทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น อันจะส่งผลให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น เกษตรกรมีประสิทธิภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้ นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆขึ้นมาในอนาคตอีกด้วย